ปภ.แนะเตรียมรับมือภัยที่มากับฤดูฝน

ข่าวทั่วไป Thursday May 12, 2011 13:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฤดูฝนเป็นช่วงที่มีสภาพอากาศแปรปรวนทั้งพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าผ่า ลมกระโชกแรง ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยในหลายรูปแบบ เช่น น้ำท่วมฉับพลัน ฟ้าผ่า ลมกระโชกแรง และอุบัติภัยจากไฟฟ้า เป็นต้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอแนะวิธีรับมืออุบัติภัยที่มักเกิดในช่วงฤดูฝน ดังนี้ น้ำท่วม ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้งที่ลาดเชิงเขา ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ราบลุ่ม ให้เตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน โดยติดตามพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด จัดวางกระสอบทรายเป็นแนวคันกั้นน้ำ ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงให้พ้นระดับน้ำท่วมถึง หากน้ำท่วมให้ตัดกระแสไฟในทันที หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำหรือจับสัตว์น้ำในบริเวณที่กระแสน้ำไหลเชี่ยวกราก และใกล้แนวเสาไฟฟ้าแรงสูง เพราะหากมีกระแสไฟฟ้ารั่วไหลอาจถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิตได้ รวมถึงเตรียมน้ำดื่ม ยารักษาโรค ไฟฉาย เทียนไข อาหารแห้ง และของใช้อื่นที่จำเป็น ฟ้าผ่า ให้หาที่หลบพายุฝนในอาคารที่สายล่อฟ้า แต่หากไม่สามารถหาที่หลบได้ ให้นั่งยองๆ เก็บมือทั้งสองข้างแนบติดกับเข่า ซุกศีรษะเข้าไประหว่างขาให้ร่างกายมีลักษณะกลม และเขย่งปลายเท้า เพื่อให้ร่างกายสัมผัสกับพื้นดินน้อยที่สุด ห้ามหมอบหรือนอนราบไปกับพื้น เพราะหากเกิดฟ้าผ่าในบริเวณใกล้เคียง น้ำบนพื้นจะเป็นตัวนำกระแสไฟฟ้าห้ามเข้าไปหลบพายุฝนใกล้วัตถุที่มีความสูงโดดเด่น เช่น ป้ายโฆษณา ต้นไม้สูง เป็นต้น ไม่สวมใส่เครื่องประดับประเภทเงิน ทองคำ นาก ทองแดง หรือสัมผัสกับวัตถุที่เป็นโลหะ ไม่ใช้ร่มที่มีด้ามด้านบนเป็นเหล็กแหลม เนื่องจากเป็นสื่อนำที่ทำให้เกิดฟ้าผ่าได้ ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือและโทรศัพท์สาธารณะ แม้โทรศัพท์จะไม่ใช่สื่อล่อฟ้า แต่ฟ้าผ่าจะเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าเข้ามาในมือถือ ทำให้แบตเตอรี่ลัดวงจรและระเบิด ส่งผลให้ผู้ถูกฟ้าผ่าได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้น ที่สำคัญ ให้หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะในจุดเสี่ยงต่างๆ เช่น ทุ่งนา สนามกีฬา สระน้ำ ชายหาด เป็นต้น เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า ลมกระโชกแรง ตรวจสอบบ้านเรือนโดยเฉพาะประตู หน้าต่าง หลังคาบ้านให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง โดยตอกตะปู หรือเสริมตัวยึดให้มากขึ้น พร้อมตัดแต่งกิ่งไม้ที่เสี่ยงต่อการหักโค่นบริเวณบ้านให้เรียบร้อย กรณีพบเห็นกิ่งไม้พาดสายไฟป้ายโฆษณาหรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆอยู่ในสภาพไม่ปลอดภัย ให้แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไข สำหรับเกษตรกรให้จัดทำไม้ค้ำยันผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงตัดแต่งกิ่งไม้ที่ไม่แข็งแรงออกเพื่อป้องกันแรงลมพัดพืชผลทางการเกษตรเสียหาย อุบัติภัยจากไฟฟ้า ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าที่อยู่นอกบ้านและบริเวณที่มีความเสี่ยงต่อการถูกฝนสาด เช่น ปั๊มน้ำ หลอดไฟเป็นต้น ให้อยู่ในสภาพใช้งานได้อย่างปลดภัย โดยเฉพาะกริ่งไฟฟ้า ให้เลือกใช้ชนิดที่มีฝาครอบกันน้ำ หากมือเปียกชื้นหรือยืนอยู่บนพื้นที่ชื้นแฉะ ห้ามสัมผัสหรือใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างเด็ดขาด ไม่นำเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ชำรุดหรือเปียกน้ำมาใช้งานเพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วไหลจนถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิตได้ การรู้จักสังเกตสัญญาณเตือนภัยจากธรรมชาติ รวมถึงการเรียนรู้ปฏิบัติตนอย่างถูกวิธี จะช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติภัยที่มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนได้ ? สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2243-2200 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ