สวทน. — EMIRAcle ลงนามความร่วมมือด้านการออกแบบเชิงวิศวกรรมเพื่อการผลิตชั้นสูง (Design for Manufacturing and Innovation)

ข่าวทั่วไป Thursday May 12, 2011 14:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--สวทน. สวทน. เร่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการผลิตขั้นสูงให้กับภาคอุตสาหกรรม ล่าสุดจับมือ The European Manufacturing and Innovation Research Association (EMIRAcle) แห่งกลุ่มสหภาพยุโรป ร่วมสร้างบุคลากรด้านการออกแบบเชิงวิศวกรรมเพื่อการผลิตชั้นสูง (Design for Manufacturing and Innovation) เพื่อเพิ่มศักยภาพความสามารถการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจการรับจ้างผลิตในภาคอุตสาหกรรม ให้สามารถสร้างแบรนด์ให้กับผลิตภัณฑ์ตนเอง โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนนักออกแบบเชิงวิศวกรรมเพื่อการผลิตอย่างน้อย 20,000 คนภายใน 5 ปีหลังเสร็จสิ้นโครงการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ร่วมกับ The European Manufacturing and Innovation Research Association (EMIRAcle) แห่งกลุ่มสหภาพยุโรป จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมขีดความสามารถทางการออกแบบเพื่อการผลิตและนวัตกรรมขึ้นโดยมีขอบเขตความร่วมมือเพื่อยกระดับองค์ความรู้ด้านการออกแบบวิศวกรรมและเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานสนับสนุนที่เกี่ยวข้องในภาคการศึกษา และภาคสถาบันวิจัย ผ่านกิจกรรมการพัฒนาบุคลากร การวิจัยและพัฒนาและการถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีระยะเวลาโครงการ 5 ปี ผ่านการดำเนินงานในรูปแบบเครือข่ายความเชี่ยวชาญ ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนบุคลากรออกแบบเชิงวิศวกรรมให้ได้จำนวนอย่างน้อย 20,000 คน เพื่อเป็นฐานการพัฒนาและส่งเสริมภาคการผลิตไปสู่การสร้างขีดความสามารถในการสร้างนวัตกรรมในการออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นของตนเอง (ODM : Original Design Manufacturing และการมีตราสัญลักษณ์เป็นของตนเอง (OBM : Original Brand Manufacturing) ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เลขาธิการ สวทน. เปิดเผยว่า “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นปัจจัยสำคัญพื้นฐานในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ใหม่อันเป็นนวัตกรรมสำหรับ สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตในประเทศ ซึ่งมีจำเป็นต้องอาศัยการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดนวัตกรรมสำหรับภาคอุตสาหกรรม เพราะประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการลดการพึ่งพาหรือการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และสามารถก้าวไปสู่การเป็นประเทศผู้ส่งออกเทคโนโลยีไปยังต่างประเทศในอนาคต” อย่างไรก็ดีการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทยยังคงมีปัญหาและอุปสรรคบางประการทำให้ไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเท่าเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้วและเรายังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะเทคโนโลยีชั้นสูง “ที่ผ่านมาภาคการผลิตของประเทศไทย จะดำเนินธุรกิจเป็นลักษณะผู้รับจ้างผลิต หรือ OEM (Original Equipment Manufacturer) หรืออยู่ในขั้นกลางน้ำ ซึ่งผู้ประกอบการโดยส่วนใหญ่มองว่าการดำเนินธุรกิจในลักษณะนี้เป็นการดำเนินธุรกิจที่มีความเสี่ยงน้อย เพราะไม่ต้องลงทุนทางด้านการวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยี และไม่ต้องคำนึงถึงปัจจัยการแข่งขันทางการตลาด แต่ในระยะยาวแล้ว การแข่งขันทางธุรกิจจะเพิ่มสูงขึ้น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเข้ามามีบทบาทอย่างสูงในการสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและบริการ เพราะนอกจากจะทำให้เกิดการรังสรรค์มูลค่า (Value Creation) ให้กับผลิตภัณฑ์แล้วยังทำให้ผู้ประกอบการมีความสามารถในการพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย” เลขาธิการ สวทน. กล่าว ความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่าง สวทน.และ EMIRAcle ครั้งนี้ จะเป็นการเสริมฐานความมั่นคงให้กับภาคอุตสาหกรรม สนับสนุนกิจกรรมที่สร้างให้เกิดจำนวนประชากรนักออกแบบ โดยเฉพาะการออกแบบบนพื้นฐานความรู้เชิงวิศวกรรม ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย ร่วมมือให้เกิดกลไกในการนำองค์ความรู้ด้านวิศกรรมการออกแบบมาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ เน้นสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรม และการสร้างแบรนด์เป็นของตนเองในที่สุด โดยในกิจกรรมความร่วมมือประกอบไปด้วย การแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านวิศวกรรมออกแบบระหว่างประเทศไทยและกลุ่มประเทศในเครือสหภาพยุโรป การสนับสนุนด้านทุนการศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอก การจัดฝึกอบรมในหัวข้อที่จำเป็นต่อการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรม ตลอดจนการสร้างเครือข่ายเชี่ยวชาญด้านทางการออกแบบเพื่อการผลิตและนวัตกรรม Prof. Serge Titchkiewitch ประธานเครือข่าย EMIRAcle กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบทางการผลิตในหลายประการด้วยกัน อาทิ ความได้เปรียบด้าน Logistic เพราะเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบได้เองภายในประเทศ ความได้เปรียบทางด้านกายภาพเพราะเป็นแหล่งที่ตั้งยุทธศาสตร์ในใจกลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแรงงานกลุ่มใหญ่ที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล อีกทั้งยังมีต้นทุนทางวัฒนธรรมอันโดดเด่น ซึ่งทั้งหมดเป็นปัจจัยทำให้ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปพิจารณาประเทศไทยเป็นอันดับต้น ๆ ในการขยายฐานการลงทุนข้ามภูมิภาค ซึ่งการทำความร่วมมือกับ สวทน.ในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสอันดีในการร่วมกันพัฒนาความพร้อม และขีดความสามารถของบุคลากรด้านการออกแบบเพื่อนวัตกรรมอุตสาหกรรม ให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันอย่างเป็นเครือข่ายระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคการผลิต เพื่อยกระดับความสามารถของอุตสาหกรรมไทยซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ากับประเทศฝรั่งเศสมาเป็นเวลายาวนาน” ? สอบถามข้อมูล : สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง (THAIST) โทรศัพท์ 02 160 5432 ต่อ 503 (กมลีพร) โทรสาร 02 160 5438

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ