กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--กรีนพีช
กรีนพีชเรียกร้องให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติปฏิบัติตามการตัดสินใจของประเทศญี่ปุ่นที่ถอนแผนการก่อสร้างโรงฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ทั้งหมด เพื่อปูทางไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน การเรียกร้องนี้เกิดขึ้นหลังจากที่นายนาโอะโตะ คัง นายกรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศยกเลิกแผนการสร้างนิวเคลียร์ในประเทศทั้งหมด
“เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่า พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานที่ไม่ดี พลังงานนิวเคลียร์มีอันตราย ราคาแพงและหลอกลวง กรีนพีชยินดีกับการตัดสินใจของญี่ปุ่นที่ระงับแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยลงมือทำเช่นนั้นด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานควรถอนพลังงานนิวเคลียร์ออกจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยเสีย แล้วก้าวสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่อย่างมหาศาลแทน” จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว
ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ลงทุนอย่างมากไปกับพลังงานนิวเคลียร์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์นิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นในเมืองฟูกูชิมา ซึ่งเป็นวิกฤตนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดในโลกต่อจากหายนะภัยเชอร์โนบิล เมื่อปี พ.ศ. 2529 ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าถึงแม้จะมีการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า แต่พลังงงานนิวเคลียร์ยังคงเป็นอันตรายแก่มนุษย์
อย่างไรก็ตาม ผู้ผลักดันนิวเคลียร์ในประเทศไทยได้เพิกเฉยต่อสัญญาณเตือนภัยดังกล่าวและไม่สนใจต่อความเสี่ยงที่อาจเป็นหายนะภัย แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับล่าสุด (PDP2010) ซึ่งถูกเรียกว่า “แผนพัฒนาไฟฟ้าสีเขียว” ได้บรรจุกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์เข้าไปด้วย แผนนิวเคลียร์ของรัฐบาลซึ่งระบุพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใน 5 จังหวัด นำไปสู่การคัดค้านจากสาธารณชนเนื่องจากขาดความโปร่งใส
ประชาชนในจังหวัดชัยนาท นครสวรรค์ จังหวัดอุบลราชธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ จังหวัดตราด จันทบุรี รวมถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราชได้ออกมาต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ที่อันตรายนี้
ในวาระครบรอบ 25 ปี หายนะภัยเชอร์โนบิลเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา กรีนพีซร่วมกับนักวิชาการ สถาบันการศึกษา องค์กรภาคประชาสังคมและประชาชนที่คัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จาก 17 จังหวัด รวมตัวกันเปิดตัว “เครือข่ายพลเมืองไทยปฏิรูปพลังงาน” เพื่อส่งข้อความถึงรัฐบาลไทยว่าชาวไทยไม่ต้องการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศ
“แทนที่จะรอให้เกิดอุบัติภัยทางนิวเคลียร์ขึ้นอีกครั้ง รัฐบาลทั่วโลกควรจะตัดสินใจเช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำไปสู่การพัฒนานโยบายด้านพลังงานที่อยู่บนพื้นฐานของพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด การตัดสินใจของประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้เป็นประตูสำคัญสู่พลังงานหมุนเวียนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และนับเป็นห้วงเวลาที่สำคัญของประเทศต่างๆในการก้าวไปสู่อนาคตพลังงานที่ยั่งยืน และประเทศไทยก็จะต้องไม่ล้าหลังในเรื่องนี้” จริยากล่าวเสริม