กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--ชมรม ICT for All
ปลุกกระแส OpenOffice.orgช่วยชาติประหยัดค่าซอฟต์แวร์ด้วย OpenSource
จากเวทีวิชาการ ICT for All-Symposium 2011 “Success Factors of Migration to OpenOffice.org in Organizations” เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา 12.30-17.00 น.ณ ห้องประชุม หน่วยประสานงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เลขที่ 979/42-46 ชั้น19 อาคารเอส เอ็ม ทาวเวอร์ ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร จัดโดย ชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อความเท่าเทียมกัน (ICT for All Club—www.ictforall.org) เพื่อระดมความคิดเห็นในการค้นหาปัจจัยแห่งความสำเร็จจากนักวิชาการ ผู้แทนองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงานโอเพนออฟฟิศดอทอ็อก (OpenOffice.org)
ซึ่งเป็นโอเพนซอร์สและฟรีซอฟต์แวร์ ทำให้ลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ และลดค่าใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์ขององค์กรลงได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อภาพลักษณ์อันดี และการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในเวทีระหว่างประเทศนายสันติ สุรรัตน์ รองผู้อำนวยการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า “ยุทธศาสตร์โอเพนซอร์สในประเทศไทย ได้แก่ การมุ่งลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ซึ่งเมื่อ พ.ศ. 2552 ประเทศไทยยังมีอัตราละเมิดลิขสิทธิ์สูงถึง ร้อยละ 75 การมุ่งลดการนำเข้าซอฟต์แวร์จากต่างประเทศซึ่งจะทำให้ประเทศไทยลดการขาดดุลการค้า และช่วยให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สในประเทศไทยสามารถเติบโตได้ เช่นเดียวกับต่างประเทศ”
จากรายงานการสำรวจเมื่อ ค.ศ. 2010 พบว่า ซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงานที่ครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในโลก คือ ชุดโปรแกรมสำนักงานไมโครซอฟท์ (Microsoft Office) ร้อยละ 72 รองลงมาคือ โอเพนออฟฟิศดอทอ็อก (OpenOffice.org) ร้อยละ 21.5 และอื่นๆ ร้อยละ 6.5 (Webmasterpro, 2010) ซึ่งส่วนแบ่งตลาดของชุดโปรแกรมสำนักงานไมโครซอฟท์ ลดลงประมาณร้อยละ 23 จากที่เคยครองส่วนแบ่งการตลาด ร้อยละ 95 เมื่อปี ค.ศ. 2006 (Hamm, 2006) แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้คอมพิวเตอร์มีแนวโน้มที่จะใช้ชุดโปรแกรมสำนักงานโอเพนออฟฟิศดอทอ็อก เพิ่มมากขึ้น แต่ยังอยู่ในอัตราที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับชุดโปรแกรมสำนักงานไมโครซอฟท์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งานในเชิงธุรกิจ จากรายงานการสำรวจของบริษัทซันไมโครซิสเต็มส์ (Sun Microsystems) เมื่อ ค.ศ. 2007 พบว่า มีผู้ใช้ชุดโปรแกรมสำนักงาน
โอเพนออฟฟิศดอทอ็อกในเชิงธุรกิจ หรือการปฏิบัติงานประจำวันเพียงร้อยละ 20 ในขณะที่การใช้งานที่บ้าน หรือใช้งานส่วนตัว มีถึงร้อยละ 80 (Tenhumberg, 2007: 7)
ที่ประชุมจึงมีความเห็นร่วมกันว่าหากจะพัฒนาโอเพนซอร์สซอฟต์แวร์ในประเทศไทยให้มีความแข็งแกร่งเช่นเดียวกับต่างประเทศ ภาครัฐจะต้องเอาจริงเอาจังในการเปลี่ยนมาใช้โอเพนซอร์สซอฟต์แวร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเริ่มต้นจากซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงาน อย่าง OpenOffice.org หรือ LibreOffice ซึ่งมีผู้ใช้ตั้งแต่ระดับบุคคลถึงระดับองค์กร การส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนได้เรียนรู้ซอฟต์แวร์เหล่านี้ตั้งแต่เด็ก เพื่อให้เด็กเติบโตมาในบริบทของโอเพนซอร์ส เช่นเดียวกับมาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ฯลฯ อันจะทำให้การยอมรับโอเพนซอร์สซอฟต์แวร์มีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
ในส่วนขององค์กรนั้น การที่องค์กรจะเปลี่ยนมาใช้ OpenOffice.org จำเป็นที่จะต้องมีแผนการเปลี่ยนแปลง (Migration plan) และการบริหารการเปลี่ยนแปลงที่ดี ต้องมองให้เป็นการเปลี่ยนแปลงระดับองค์กร (Organization Change) ไม่ใช่ภารกิจของฝ่ายไอทีเท่านั้น เพราะมันมีผลกระทบต่อผู้ใช้ทุกคนในองค์กร สิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดก็คือกระบวนการสื่อสารและการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในองค์กร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จในการเปลี่ยนมาใช้ OpenOffice.org
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในการพัฒนาโอเพนซอร์สซอฟต์แวร์ของประเทศไทย ดังนี้
- การปรับปรุง Font มาตรฐานแห่งชาติ ให้สามารถทำงานร่วมกับ OpenOffice.org หรือ LibreOffice ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และควรเปิดให้เป็น Font เสรี ที่สามารถนำไปปรับปรุง หรือพัฒนาต่อได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ (SIPA และกรมทรัพย์สินทางปัญญา)
- การพัฒนาครู/ผู้สอนการใช้ OpenOffice.org หรือ LibreOffice ให้มีทักษะในการสอนให้ผู้ใช้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และทักษะอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแตกต่างจากการสอนการใช้งาน MS Office ปกติ เนื่องจากผู้ใช้งานส่วนใหญ่ผ่านการใช้ MS Office มาแล้ว
- การรวมตัวกันของบริษัทผู้ใช้ซอฟต์แวร์บริหารจัดการทรัพยากรขององค์กร (ERP) เพื่อต่อรองกับผู้ขายในการปลดล็อคซอฟต์แวร์ ERP ให้สามารถนำเข้าข้อมูลจากไฟล์ของ OpenOffice.org หรือ LibreOffice ได้ด้วย เนื่องจากปัญหาสำคัญที่พบในปัจจุบัน คือ ซอฟต์แวร์ ERP ที่มีลิขสิทธิ์ถูกล็อคไม่ให้สามารถเชื่อมโยงกับ OpenOffice.org หรือ LibreOffice ได้ (ยกเว้นใน ERP เวอร์ชั่นที่สูงกว่า) ทั้งนี้ เพื่อให้องค์กรสามารถใช้งาน OpenOffice.org หรือ LibreOffice ได้ 100%
- การผลักดันมาตรฐานเอกสารแบบเปิด หรือ OpenDocument Format และการนำ OpenOffice.org หรือ LibreOffice มาใช้ในหน่วยงานภาครัฐ แบบ 100% เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์ภาครัฐซึ่งต้องจ่ายไปปีละหลายล้านบาท
- ประเทศไทยควรหันไปส่งเสริม LibreOffice ซึ่งพัฒนาต่อยอดมาจาก OpenOffice.org (โดย Document Foundation) ภายหลังจากที่ บริษัท Oracle ได้ประกาศยุติการสนับสนุนการพัฒนา OpenOffice.org
ความสำเร็จของการเปลี่ยนมาใช้ OpenOffice.org หรือ LibreOffice สำคัญที่สุด คือ การเริ่มต้นที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทุกคน จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ จะนำไปสู่ความสำเร็จในภาพรวมของประเทศ...ดาวน์โหลดได้ฟรีที่ www.openoffice.org หรือwww.libreoffice.org
รายชื่อผู้เข้าร่วมประชุม ICT for All Symposium 2011
ลำดับที่ ชื่อ-สกุล ตำแหน่ง หน่วยงาน/ที่อยู่
1 นายสันติ สุรรัตน์ รองผู้อำนวยการ วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการฯ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน)
2 นายวิรัตน์ พึ่งสาระ ผู้จัดการฝ่ายโอเพนซอร์ส สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน)
3 นายภาคภูมิ เอี่ยมจิตกุศล เจ้าหน้าที่ฝ่ายโอเพนซอร์ส สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน)
4 นายสัมพันธ์ ระรื่นรมย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอเพนซอร์สดิเวลอปเมนต์ จำกัด
5 นายดนุพล สยามวาลา ผู้อำนวยการอาวุโสด้านบริหารเทคโนโลยี บริษัท ดีเอชเอ สยามวาลา จำกัด
6 ม.ล.ลือศักดิ์ จักรพันธุ์ Deputy Vice President - IT Center S&P Syndicate Public Company Limited
Deputy Vice President - Business Development
7 ดร.อรนุช สูงสว่าง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
8 นางสาวกาญจนา รักษ์ศรีทอง หัวหน้าแผนกวิชาการซอฟต์แวร์มาตรฐานรหัสเปิด กองวางแผนและวิชาการเทคโนโลยีสารสนเทศ
ฝ่ายวางแผนเทคโนโลยีสารสนเทศ
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
9 นางสาวสุนิดา เชาวน์เกษม วิศวกรระดับ7 กองวางแผนและวิชาการเทคโนโลยีสารสนเทศ ฝ่ายวางแผนเทคโนโลยีสารสนเทศ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
10 นายบุญเลิศ อรุณพิบูลย์ รักษาการหัวหน้างานพัฒนาและบริการสื่อสาระดิจิทัล ศูนย์บริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STKS) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTDA)
ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
11 นายเอกสิทธิ์ สมสงวน การเคหะแห่งชาติ
12 นายประวัติ มากซุง การเคหะแห่งชาติ
13 นายภาณุภณ พสุชัยสกุล บรรณาธิการ นิตยสารOpenSource2day
14 นางสาวสุวิมล เชื้อชาญวงศ์ นักวิชาการอิสระ ชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อความเท่าเทียมกัน
15 นางสาวพรรณราย ขันธกิจ อดีตเลขาธิการ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
16 นางสาวสุภาภรณ์ ขาวสำอาง นักวิชาการอิสระ อดีตหัวหน้า ห้องสมุดศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
17 นายทศพนธ์ นรทัศน์ ผู้ประสานงาน ชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อความเท่าเทียมกัน
18 นางสาวอทิตา พสุชัยสกุล บรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณา นิตยสารOpenSource 2Day
19 นายทาทัต ธนกนก เจ้าหน้าที่ บริษัท โอเพนซอร์สดิเวลอปเมนต์ จำกัด
20 นางสาวจิระวดี หาญฤทธา นักวิชาการอิสระ