กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--ก.ไอซีที
นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังการนำเสนอผลการจัดทำกรอบหลักสูตรการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านภูมิสารสนเทศของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ว่า กระทรวงฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการพัฒนากำลังคนด้าน ICT และบุคคลทั่วไปให้มีความสามารถในการสร้างสรรค์ ผลิต และใช้สารสนเทศอย่างมีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน จึงได้มีการจัดทำโครงการศึกษาและกำหนดแนวทางในการพัฒนาระบบภูมิสารสนเทศขึ้น โดยได้ศึกษาความต้องการด้านการฝึกอบรม และจัดทำกรอบหลักสูตรการพัฒนาทรัพยากรบุคคลทางด้าน ภูมิสารสนเทศของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงฯ มีกรอบและแนวทางที่ชัดเจนในการพัฒนาบุคลากรด้านภูมิสารสนเทศให้สอดคล้องกับลักษณะงาน รวมทั้งให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องสามารถนำหลักสูตรการฝึกอบรมด้านภูมิสารสนเทศที่ได้จัดทำขึ้นนี้ไปใช้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากร และเตรียมความพร้อมให้กับกระทรวงฯ ในฐานะที่เป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย
“แนวคิดหลักในการจัดทำหลักสูตรการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านภูมิสารสนเทศนี้ ก็คือ การกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างความต้องการของหน่วยงานในการพัฒนาบุคลากรด้านภูมิสารสนเทศ กับเนื้อหาของภูมิสารสนเทศที่จะทำการฝึกอบรม โดยหลักสูตรการฝึกอบรมนั้น จะกำหนดขึ้นตามประเภทของเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ และระดับของผู้เข้ารับการฝึกอบรม” นางจีราวรรณ กล่าว
โดยการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมนั้นจะแบ่งตามประเภทของเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ คือ 1.เทคโนโลยีการกำหนดตำแหน่งและการนำหน (Positioning and Navigation) 2.เทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) 3.เทคโนโลยีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) และ 4.เทคโนโลยีการจัดทำแผนที่เชิงเลข (Digital Mapping) ซึ่งหลักสูตรในแต่ละเทคโนโลยีฯ ก็จะแบ่งย่อยออกเป็น 4 ระดับ คือ ระดับมโนทัศน์ (Conceptual Level) ที่มุ่งเน้นให้มีความเข้าใจในหลักการใหญ่ ประโยชน์ที่ได้รับ ข้อจำกัด และตัวอย่างการประยุกต์ใช้งานของเทคโนโลยีแต่ละด้าน ระดับพื้นฐาน (Fundamental Level) จะมุ่งอธิบายรายละเอียดในหลักการมากขึ้น และมีรายละเอียดในเชิงทฤษฎี รวมถึงเชิงเหตุผลที่เกี่ยวกับประโยชน์และข้อจำกัดของแต่ละเทคโนโลยี ระดับปฏิบัติงาน (Operational Level) แบ่งเนื้อหาเป็นหัวข้อหลักของแต่ละเทคโนโลยี โดยแต่ละหัวข้อจะมีขั้นตอนการดำเนินงานที่ชัดเจน และแบ่งเนื้อหาการอบรมเป็นการบรรยาย และการทดลองปฏิบัติจริง และระดับก้าวหน้า (Advanced Level) จะมีความคล้ายคลึงกับระดับปฏิบัติงาน แต่มีรายละเอียดมากขึ้น โดยมีการนำกรณีศึกษา (Case Studies) จากปัญหาที่เกิดขึ้นจริงมาเป็นตัวอย่างในการอบรมด้วย
นอกจากการจัดทำหลักสูตรตามประเภทของเทคโนโลยีฯ แล้ว ในการนำหลักสูตรมาฝึกอบรมยังจะต้องกำหนดให้มีความสอดคล้องตามลำดับชั้นของผู้เข้ารับการฝึกอบรม ซึ่งจะกำหนดจากลักษณะหน้าที่ความรับผิดชอบของบุคลากรในแต่ละระดับที่แตกต่างกัน โดยได้จำแนกกลุ่มผู้เข้ารับการฝึกอบรมตามระดับปฏิบัติงานเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ปฏิบัติงาน 2.ผู้กำกับ (Supervisor) หรือผู้ดูแลระบบ 3.ผู้บริหารขั้นต้น และ4.ผู้บริหารระดับสูง
“เมื่อพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ทั้งประเภทของเทคโนโลยีฯ ระดับความลึกของเนื้อหาทางวิชาการ และระดับปฏิบัติงานของผู้เข้ารับการฝึกอบรมแล้ว จะทำให้สามารถกำหนด/จัดทำหลักสูตร (Course Syllabus) ในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านภูมิสารสนเทศ รวม 16 หลักสูตร โดยแต่ละหลักสูตรประกอบด้วย วัตถุประสงค์ หัวข้อบรรยาย หัวข้อปฏิบัติการ จำนวนชั่วโมง และรายชื่อหนังสืออ้างอิง ซึ่งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ สามารถนำกรอบหลักสูตรที่จัดทำขึ้นนี้ ไปใช้เป็นแนวทางในการจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ เพื่อสนับสนุนภารกิจของหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันเป็นการสร้างความพร้อมให้กับกระทรวงฯ ในฐานะที่เป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ” นางจีราวรรณ กล่าว