ถกด่วนหาแนวทางแก้ปัญหาป้ายล้ม

ข่าวทั่วไป Monday July 2, 2007 11:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--กทม.
เรียกประชุมด่วนผู้เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหากรณีป้ายขนาดใหญ่ล้ม จากเหตุพายุฝนฟ้าคะนอง เร่งปรับปรุงระเบียบการก่อสร้างป้ายกำหนดมาตรฐานความแข็งแรงมากขึ้น รวมทั้งประกันภัยบุคคลที่ 3 จากอุบัติภัยป้ายขนาดใหญ่
(29 มิ.ย.50) นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยดร.วัลลภ สุวรรณดี รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการโยธา สำนักป้องกันและบรรเทาสาธรณภัย และผู้เกี่ยวข้อง ประชุมหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหากรณีเหตุการณ์พายุฝนถล่มกรุง จนทำให้ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ล้มทับประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ในช่วงเย็นวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา
นายอภิรักษ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า กทม.ได้ดำเนินการตรวจสอบป้ายโฆษณาทั่วกรุงเทพฯ อย่างจริงจังในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยได้สำรวจพบว่ามีป้ายโฆษณาพื้นที่กรุงเทพฯ รวม 1410 ป้าย แบ่งเป็นป้ายบนดิน 887 ป้าย และป้ายบนอาคาร 523 ป้าย ทั้งนี้ป้ายดังกล่าว ประกอบด้วยกัน 4 กลุ่ม คือ 1.ป้ายที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างอย่างถูกต้อง 1028 ป้าย 2.ป้ายที่ก่อสร้างไม่ตรงตามแบบที่ยื่นขออนุญาต 212 ป้าย 3.ป้ายที่ก่อสร้างโดยไม่ได้ยื่นขออนุญาต 382 ป้าย ซึ่งป้ายในประเภทที่ 2 และ 3 เป็นป้ายที่ทางสำนักงานเขตในพื้นที่ได้ออกคำสั่งดำเนินคดีตามกฎหมายรวมทั้งให้ออกคำสั่งรื้อถอนแล้ว และ 4.ป้ายที่ไม่ยื่นขออนุญาตก่อสร้างและมีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรง 28 ป้าย ซึ่งตั้งอยู่พื้นที่เขตคันนายาว 1 ป้าย บึงกุ่ม 3 ป้าย คลองเตย 1 ป้าย บางรัก 9 ป้าย พระโขนง 2 ป้าย และตลิ่งชัน 12 ป้าย ขณะนี้อยู่ในกระบวนการฟ้องร้อง ซึ่งกทม.จะประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เพื่อเร่งดำเนินการเอาผิดและรื้อถอนป้ายดังกล่าวโดยด่วน
สำหรับเหตุการณ์เมื่อวันนี้(28 มิ.ย. 50) ได้เกิดพายุฝนซึ่งมีกำลังลมสูงถึง 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งถือว่ารุนแรงกว่าปกติ ทำให้เกิดเหตุการณ์ป้ายล้มดังกล่าว ดังนั้นเมื่อช่วงคืนที่ผ่านมา กทม.จึงได้ออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การปฏิบัติตนเพื่อความปลอดภัยจากพายุฝนฟ้าคะนอง เพื่อให้ประชาชนรับทราบและตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการเกิดอุบัติภัยได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ปรับปรุงระเบียบการก่อสร้างป้ายโดยกำหนดมาตรฐานความแข็งแรงมากขึ้น โดยป้ายที่มีความสูงไม่เกิน 10 เมตร ต้องสามารถรองรับแรงลมได้ 150 กิโลกรัม/ตารางเมตร ส่วนป้ายที่สูงเกิน 10 เมตร ต้องรองรับแรงลมได้ 180 กิโลกรัม/ตารางเมตร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการร่วม ซึ่งกทม.จะเร่งผลักดันให้มีการบังคับใช้ให้เร็วที่สุด
นายอภิรักษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการระยะยาวนั้น กทม.ได้ออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครปี 49 เรื่องกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลงอาคารประเภทป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายในพื้นที่บางส่วนของพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะช่วยควบคุมจำนวนป้ายที่จะเกิดขึ้นใหม่ได้ และการตรวจสภาพความมั่นคงแข็งแรงโดยวิศวกรที่ได้รับใบอนุญาต นอกจากนี้ยังมีระเบียบว่าด้วยเรื่องของการประกันภัยบุคคลที่ 3 จะบังคับใช้ในวันที่ 29 ธ.ค.50 ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมดูแลความมั่นคงของป้ายด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ