กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--Penettrate Group
- เน็ต มาร์จิ้น เติบโต 36 % หลังเริ่มรับรู้งานก่อสร้างโรงไฟฟ้านวนคร
โตโย-ไทย (TTCL) เดินหน้าเติบโตต่อเนื่อง โชว์กำไรไตรมาส 1 พุ่งเป็น 108 ล้านบาท เพิ่มขึ้นแรง 33% แถมเน็ตมาร์จิ้น เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กว่า 36% คาดงานต่างประเทศสดใส
คุณสุวิทย์ มโนมัยยานนท์ กรรมการบริหารและรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสฝ่ายขาย บริษัท โตโย-ไทย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านรับเหมาก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมขนาด ใหญ่แบบครบวงจร ( Integrated EPC) รายเดียวของไทย เปิดเผยว่าบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 108 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 เพิ่มขึ้นจาก 81 ล้านบาทในไตรมาส 1 ปีที่แล้ว คิดเป็น อัตราเติบโต 33 % ในขณะที่ กำไรขั้นต้นไตรมาสนี้ เติบโต 27.3% เป็น 271 ล้านบาทจาก 212 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนรายได้รวมอยู่ที่ 1,776 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากรายได้ 1,821 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน
“โตโย-ไทยฯ ยังรักษาการเติบโตของกำไรให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากจะมีผลกำไรสุทธิเติบโต 33% และที่สำคัญสามารถเพิ่มอัตรากำไรสุทธิ (Net Margin) ได้เพิ่มขึ้นถึง 36% เป็น 6.06% จากอัตรากำไรสุทธิ 4.45% ในไตรมาส 1 ปีก่อนหน้านี้ เนื่องจากบริษัทฯสามารถควบคุมต้นทุนค่าก่อสร้างและบริการในไตรมาสที่ 1 ให้ลดลงได้ และมีการรับรู้งานในประเทศจากเวียดนาม นอกจากนี้ยังมีการรับงานบางโครงการในรูปแบบ EPCm ซึ่งมีอัตรากำไรสุทธิสูงเนื่องจากไม่รวมค่าเครื่องจักรและอุปกรณ์
สำหรับไตรมาสนี้ TTCL หรือ โตโย-ไทย สร้างผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) สูงถึง 27.68% (คิดเฉลี่ยทั้งปี) สูงที่สุดในกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างใหญ่ และมีอัตรากำไรต่อหุ้นในไตรมาสนี้ที่ 0.22 บาทต่อหุ้น สูงขึ้น 29.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปีที่แล้ว นอกจากนี้ TTCL มีสถานะเป็น Cash Company มาโดยตลอด คือ มีปริมาณเงินสดหรือเทียบเท่าสูงถึง 1,335 ล้านบาท โดยไม่มีภาระหนี้เงินกู้เลย และเพิ่งจ่ายเงินปันผลงวดครึ่งปีหลังในอัตรา 0.22 บาทต่อหุ้น เมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา ทำให้บริษัทฯจ่ายเงินปันผลทั้งปี 0.37 บาทต่อหุ้น” คุณสุวิทย์กล่าว
ณ สิ้นไตรมาส บริษัทฯ มีปริมาณงานคงค้าง (แบ็คล็อค) ที่ 7,400 ล้านบาท ซึ่งมีโครงการหลักหลายโครงการ อาทิ โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอลที่เวียดนาม โครงการสร้างโรงไฟฟ้านวนคร (NNE) มูลค่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้นอกจากบริษัทฯจะได้รับงานรับเหมาแบบครบวงจร EPC แล้วบริษัทฯยังได้เข้าลงทุนด้วยการเข้า ถือหุ้นบุริมสิทธิ์ประมาณ 71% ของทุนจดทะเบียน ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จ บริษัทฯจะมีรายได้จากเงินปันผลรับประมาณปีละ 115 ล้านบาท เป็นเวลา 25 ปี ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งจะทำให้ TTCL มีผลประกอบการที่มั่นคงสูงยิ่งขึ้น
“TTCL มุ่งมั่นใช้กลยุทธ์หมวก 2 ใบเพื่อขยายธุรกิจคือ นอกจากจะรับงานรับเหมาก่อสร้างแบบครบวงจร (EPC) แล้วบริษัทฯยังพร้อมจะร่วมเข้าลงทุนถือหุ้นในโครงการที่น่าสนใจอีกด้วย (ดังเช่นโครงการโรงไฟฟ้านวนคร) เนื่องจากบริษัทฯมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง มีปริมาณเงินสดในมือสูง และมีทีมผู้บริหารและวิศวกรที่พรั่งพร้อม อีกทั้งมีพันธมิตรหลักระดับโลกที่ร่วมถือหุ้นในบริษัท ถึง 3 บริษัทคือ โตโย เอ็นจิเนียริ่ง (TOYO Engineering) และ ชิโยดะ คอร์ปอเรชั่น (Chiyoda Corporation) ซึ่งเป็นผู้รับเหมาครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 3 และ 2 ในประเทศญี่ปุ่นและ บมจ. อิตาเลียนไทย เดเวล็อปเมนต์ (ITD) ผู้รับเหมาก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดของไทย โดยในขณะนี้ TTCL อยู่ระหว่างการเข้าประมูลงานหลากหลายโครงการทั้งในและต่างประเทศ มูลค่ารวมกว่า 64,000 ล้านบาท” คุณสุวิทย์กล่าวสรุป
บริษัท โตโย-ไทย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วรวม 480 ล้านบาท ก่อตั้งขึ้นในปี 2528 โดยการร่วมทุนระหว่างบริษัท โตโย เอนจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ผู้นำด้านรับเหมาวิศวกรรมโรงงานครบวงจรที่มีประสบการณ์กว่า 48 ปีจากประเทศญี่ปุ่น และ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับเหมาทั่วไปที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย และในปัจจุบัน บริษัท ชิโยดะคอร์ปอเรชั่น ผู้นำด้านรับเหมาวิศวกรรมโรงงานครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประเทศญี่ปุ่นได้เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 7% เช่นกัน
TTCL เป็น เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างแห่งเดียว ที่มีผลประกอบการที่เติบโตสูงและต่อเนื่องมาตลอดกว่า 26 ปี ปัจจุบัน TTCL มีจำนวนวิศวกรทุกสาขามากที่สุดในประเทศไทยคือ 795 คนจากพนักงานทั้งหมด 1,496 คน บริษัทฯมีประสบการณ์ในการรับเหมาสร้างโรงงานอุตสาหกรรมแบบครบวงจรทั้งในประเทศและต่างประเทศมาแล้วกว่า 160 โครงการ คิดเป็นมูลค่างานรวมกว่า 60,000 ล้านบาท มีฐานลูกค้าครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี ปิโตรเลียม ปุ๋ยเคมี โรงไฟฟ้า พลังงานทดแทน ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบริษัทมหาชนและบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ อาทิ กลุ่มปตท. กลุ่ม SCG หรือปูนซิเมนต์ไทย กลุ่มบมจ. วีนิไทย กลุ่มคาโอของญี่ปุ่น กลุ่มไบเออร์ของเยอรมัน เป็นต้น โดยกลุ่มตลาดหลักในต่างประเทศได้แก่ เวียดนาม ซึ่งบริษัทมีบริษัทย่อยดำเนินงานอยู่ จีน กลุ่มประเทศอาเซียน กลุ่มตะวันออกกลาง กลุ่มอาฟริกา และสหรัฐอเมริกา”