กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--อุทยานการเรียนรู้ TK park
เพราะ “การอ่าน” เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนากระบวนการคิด และภูมิปัญญา นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพสังคม และประเทศ แต่คนไทยยังไม่ค่อยรักการอ่าน ซึ่งผลสำรวจพฤติกรรมการอ่านหนังสือของคนไทย พบว่ามีการอ่านหนังสือเฉลี่ยเพียงปีละ 2 เล่มต่อคน นับว่าต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ที่มีสถิติการอ่านหนังสือปีละ 40-50 เล่มต่อคน แม้แต่เวียดนามที่มีการอ่านหนังสือถึงปีละ 60 เล่มต่อคน
ดังนั้น เพื่อให้รู้เขา รู้เรา ในโอกาสที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียน (ASEAN) ในอีก 4 ปีข้างหน้า หรือ พ.ศ.2558 ทางสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) สังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) จึงได้จัดการประชุมทางวิชาการประจำปี 2554 หรือ TK Forum ในหัวข้อเรื่อง “อ่านเพื่อนบ้าน กับประสบการณ์ส่งเสริมการอ่าน” ขึ้นในวันพุธที่ 11 พฤษภาคม 2554 โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการส่งเสริมการอ่านจาก 4 ประเทศในภูมิภาค ได้แก่ สิงคโปร์ , เวียดนาม , ลาว และไทย มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อเป็นเวทีนำร่องไปสู่ “Thailand Conference on Reading หรือ TCR 2011” ที่จะจัดขึ้นอีกครั้งในปลายเดือนสิงหาคมนี้
ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.)และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) TK park กล่าวถึงวัตถุประสงค์ว่า ในฐานะแหล่งเรียนรู้ที่เน้นกิจกรรมส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีใจรักการอ่านภายใต้พันธกิจหลักในการร่วมสร้างสรรค์สังคมการเรียนรู้ ผ่านกระบวนการส่งเสริมให้เกิดการรักการอ่าน การแสวงหาความรู้ และการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์
การจัดประชุมทางวิชาการประจำปี 2554 หรือ TK Forum ครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากโครงการส่งเสริมการอ่าน , นโยบายส่งเสริมการอ่าน , การส่งเสริมและการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านของคนไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของการยกระดับการจัดงานสัมมนาวิชาการ และยังเป็นการสานต่อการผลักดันเชิงนโยบายการอ่านของประเทศ ภายใต้แนวคิดที่ต้องการให้เป็นการประชุมนำร่องก่อนนำไปสู่ความรู้ด้านการส่งเสริมการอ่านระหว่างประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน เพื่อให้รู้เขา รู้เรา และเตรียมความพร้อมให้กับคนไทยไปสู่การเป็นพลเมืองอาเซียนในอีก 4 ปีข้างหน้า
“ การอ่านนั้น เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะนำไปสู่ความรู้และความเข้าใจประเทศเพื่อนบ้าน ที่สำคัญการอ่าน นับเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ทางด้านสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งเป็น 1 ใน 3 เสาหลักที่จะเชื่อมโยงสมาชิกทั้ง 10 ประเทศเข้าด้วยกัน นอกเหนือจากด้านความมั่นคง และด้านเศรษฐกิจ ”
จึงเป็นที่มาของแนวคิดในการนำหัวข้อเรื่องการอ่าน มาเป็นเนื้อหาในการจัดประชุมวิชาการครั้งนี้ และเชื่อมั่นว่า การรู้จักเพื่อนบ้าน โดยผ่านประสบการณ์ส่งเสริมการอ่านด้วยโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ จะเป็นวิธีการหนึ่งที่จะปูทางไปสู่ความเข้าใจกันอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น จนนำมาสู่สันติภาพอย่างเป็นรูปธรรม ก่อนที่จะรวมเข้าเป็นประชาคมอาเซียนในปีพ.ศ.2558
สำหรับ 4 ประเทศสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การส่งเสริมการอ่านในครั้งนี้ ประกอบด้วย ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจะกล่าวถึง "โครงการ Read Singapore" โดย Mrs. Kiang — Koh Lai ผู้อำนวยการโครงการ “Reading Initiatives” , Public Library Services , NLB "โครงการ Read Singapore" เป็นโครงการส่งเสริมการอ่านระดับชาติ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากโครงการ “One Book,One City” ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในสหรัฐอเมริกา และแผ่ขยายไปยังประเทศในยุโรป ออสเตรเลีย รวมถึงเกาหลีใต้ เป็นโครงการที่กระตุ้นให้คนในเมืองๆ หนึ่งอ่านหนังสือเรื่องเดียวกัน และเปิดให้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับหนังสือเรื่องนั้นในแง่มุมต่างๆอย่างเข้มข้น
สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มานำเสนอเรื่อง "โครงการ Room to Read: ประสบการณ์จากเวียดนาม" โดย Mr.Le tien Phong Country Director, Room to Read Vietnam "โครงการ Room to Read” เป็นโครงการที่ริเริ่มขึ้นโดยอดีตผู้บริหารระดับสูงของไมโครซอฟท์ Mr.John Wood เมื่อปีพ.ศ.2541 ที่ดำเนินการในประเทศเนปาลเป็นแห่งแรก เพื่อรับบริจาคหนังสือให้แก่โรงเรียนและห้องสมุด ต่อมาได้ขยายไปสู่ประเทศแถบแอฟริกา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ขาดแคลนหนังสือ โดยเวียดนามเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือน พ.ย. 2544 โดยการประสานความความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและองค์กรท้องถิ่น เช่น กรมการศึกษา เป็นต้น
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นำเสนอบทความ "ฮักอ่าน กับโครงการส่งเสริมการอ่านในประเทศลาว" โดย Mrs.Chanthason Inthavong Founder and President Action with Lao Children “ฮักอ่าน” เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ร่วมมือกับรัฐบาลผ่านทางหอสมุดแห่งชาติลาว จัดทำโครงการห้องสมุดเคลื่อนที่ และรณรงค์เรื่องการรู้หนังสือ การนำหนังสือสู่โรงเรียนและการจัดตั้งห้องสมุด “ฮักอ่าน” ในโรงเรียนต่าง ๆ
สำหรับประเทศไทยนั้น เป็นการนำเสนอบทความ " อุทยานการเรียนรู้ กับบทบาทในการส่งเสริมการอ่านและการสนับสนุนนโยบายการอ่าน " โดย นายวัฒนชัย วินิจจะกูล หัวหน้าฝ่ายวิชาการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park ซึ่งจะเน้นให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่มีต่อแวดวงการอ่านและการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ของไทย อย่างไรก็ตาม คาดว่า สิ่งที่จะได้รับจากการสัมมนาในเวทีนำร่อง คือ การขยายขอบเขตความรับรู้เกี่ยวกับประสบการณ์และกิจกรรมการส่งเสริมการอ่านของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำหรับการสร้างองค์ความรู้ในเรื่องการอ่านของประเทศเพื่อนบ้านในระดับภูมิภาคอาเซียนต่อไป
สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park นอกจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้กับเด็กและเยาวชนมาอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีการจัดงานสัมมนาทางวิชาการประจำปี หรือ TK Forum ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้เกิดสังคมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ โดยได้มีการจัดกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี 2548 เรื่อง “เติมชีวิตให้ห้องสมุด” , ปี 2549 เรื่อง “ชวนเด็กไทยให้เป็นนักอ่าน” , ปี 2550 เรื่อง “เปิดโลกห้องสมุดเด็ก” , ปี 2551 เรื่อง “เปิดโลกการอ่านด้วยนิทานเล่าเรื่อง”
ปี 2552 TK park เริ่มมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในระดับนโยบาย โดยจัด TK Forum ในรูปแบบเวทีสาธารณะเพื่อส่งเสริมผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการอ่าน และปี 2553 ที่ผ่านมา การจัด TK Forum ได้มุ่งไปที่การติดตามการดำเนินงานตามนโยบายภายหลังที่รัฐบาลประกาศให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ สำหรับในปี 2554 นี้ เพื่อให้เป็นการสอดรับกับการที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียน (ASEAN) ภายในปี ค.ศ. 2015 หรือ พ.ศ. 2558 สอร.จึงได้จัด TK Forum ในหัวข้อ “อ่านเพื่อนบ้าน กับประสบการณ์ส่งเสริมการอ่าน” ดังกล่าวขึ้นเป็นการนำร่อง
พร้อมเตรียมจัดงาน “Thailand Conference on Reading หรือ TCR 2011” ขึ้นในวันที่ 24-25 สิงหาคม 2554 ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท ถนนเพชรบุรี โดยผู้สนใจเข้าร่วมงาน TCR 2011 สามารถเข้าดูรายละเอียดเพิ่มเติม และลงทะเบียนออนไลน์เพื่อสำรองที่นั่งได้ที่ www.tcr2011.com