แนวทางการส่งเสริมผู้ลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศ

ข่าวทั่วไป Monday July 23, 2007 12:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. ได้ประชุมร่วมกับผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม เพื่อร่วมหารือแนวทางส่งเสริมการลงทุนของผู้ลงทุนไทยไปต่างประเทศ ผู้ร่วมประชุมเห็นว่า ปัจจุบันทางการเปิดให้ผู้ลงทุนหลักทรัพย์ในต่างประเทศ สามารถส่งเงินออกไปลงทุนได้หลายช่องทางอยู่แล้ว อาทิ การลงทุนผ่านผู้ลงทุนประเภทสถาบันที่สามารถลงทุนได้ในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์ สรอ. และหากประสงค์จะลงทุนมากกว่านี้ก็สามารถยื่นขออนุญาตต่อ ธปท. หรือ ก.ล.ต. ได้ โดยปัจจุบัน ก.ล.ต. ได้รับวงเงินจาก ธปท. จำนวน 6,800 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพื่อจัดสรรให้ผู้ลงทุนที่อยู่ในการกำกับดูแลของ ก.ล.ต
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าระเบียบต่าง ๆ สามารถปรับให้ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ผู้สนใจไปลงทุนหลักทรัพย์ในต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1. ก.ล.ต. จะพิจารณาจัดสรรวงเงินที่ได้รับจาก ธปท. ให้ผู้ลงทุนในขอบเขตที่กว้างขึ้น โดยให้ครอบคลุมถึงผู้ลงทุนประเภทกองทุนส่วนบุคคลและมูลนิธิต่าง ๆ ที่สนใจจะลงทุนในต่างประเทศ
2. ก.ล.ต. จะขอให้ ธปท. เพิ่มวงเงินลงทุนจากเดิม 6,800 ล้านดอลลาร์ สรอ. เป็น 10,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการที่จะเกิดขึ้น และขอให้ ก.ล.ต. มีความยืดหยุ่นในการใช้วงเงิน เพื่อให้มีการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศอย่างจริงจัง โดยวงเงินดังกล่าวจะใช้เพื่อสนับสนุนการนำตราสารทางการเงินใหม่ ๆ ที่อ้างอิงหลักทรัพย์ต่างประเทศมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย เช่น ใบรับฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศที่เปลี่ยนมือได้ (Transferable Custody Receipt : TCR) และ ETF ต่างประเทศ (Exchange Traded Fund) ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะพิจารณาความเหมาะสมและเสนอที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งภายใน 2 สัปดาห์
3. สำหรับการอนุญาตให้ต่างประเทศออกตราสารหนี้สกุลเงินบาท (Baht Bond) ในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันทำได้พอสมควรอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ที่ประชุมเห็นว่าควรเสนอสำนักบริหารหนี้สาธารณะพิจารณาแนวทางที่อาจจะปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตให้มีความคล่องตัวมากขึ้นต่อไป
4. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างการพิจารณานำตราสารประเภท ETF ที่อ้างอิง SET 50 ซื้อขายในตลาด โดยมีเป้าหมายที่จะนำตราสารดังกล่าวไปจดทะเบียนในตลาดต่างประเทศ (Cross listing) และจะนำเรื่องนี้มาหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดปัญหาและอุปสรรคที่มีอยู่ โดยมีเป้าหมายที่จะนำตราสารประเภทนี้ออกซื้อขายในตลาดภายในปี 2550

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ