กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--คอร์แอนด์ พีค
มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย เผยคนไทยเป็นโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้น เผยสถิติจากรายงานปี 2553 คนไทยป่วยเป็นมะเร็ง 241,051 ราย หรือ 80,350 ราย/ปี ประมาณ 120 (หญิง) และ140 (ชาย) รายต่อประชากร 1 แสนคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 23 เปอร์เซ็นต์ และเพื่อเป็นการรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก (World No Tobacco Day) ในวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เพื่อลดภาวะเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งปอด มะเร็งวิทยาสมาคมฯ เผยเคล็ดลับในการเลิกบุหรี่ 6 ประการให้หายขาด
นพ.ฉัตรชัย คูวัธนไพศาล กรรมการกลางมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าจากสถิติตัวเลขด้านโรคมะเร็งของกระทรวงสาธารณสุขปี 2552 พบว่า คนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น 23% (เปรียบเทียบ สถิติปี 2544-2546 กับสถิติปี 2541-2543) โดยมะเร็งเต้านมเริ่มเป็นมากขึ้นและแซงหน้ามะเร็งปากมดลูกมาเป็นมะเร็งที่พบบ่อยสุดในผู้หญิงไทย (เปรียบเทียบ สถิติปี 2544-2546 กับ สถิติปี 2541-2543) และเป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 จากโรคมะเร็ง (สถิติ พ.ศ. 2551) และสาเหตุการตายของมะเร็งที่สำคัญ (สถิติ พ.ศ. 2551) อันดับ 1 ขณะนี้คือ มะเร็งตับและทางเดิน น้ำดี ตามด้วยมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และปากมดลูก
สถิติการป่วยเป็นโรคมะเร็งทั่วประเทศ สถิติล่าสุดทั้งประเทศ 2544-2546 รายงานปี 2553 พบว่าคนไทยป่วยเป็นมะเร็ง 241,051 ราย หรือ 80,350 ราย/ปี ประมาณ 120(หญิง) —140 (ชาย) รายต่อประชากร 1 แสนคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 23 เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบกับสถิติปี 2541-2543 (สถิติปี 2541-2543 ซึ่งคนไทยป่วยเป็นมะเร็ง 195,780 ราย หรือ 65,260 ราย/ปี)
ชนิดของมะเร็งที่ เป็นปัญหาที่พบบ่อย ในเพศชาย อันดับ 1 มะเร็งตับและทางเดินน้ำดี 2. มะเร็งปอด 3.มะเร็งลำไส้ใหญ่ 4. มะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากลำดับ 9 มาลำดับ 4 และ 4. มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ในส่วนของเพศหญิง อันดับ 1 มะเร็งเต้านม ซึ่งขยับจากอันดับ 2 มาเป็นอันดับ 1 2. มะเร็งปากมดลูก 3. มะเร็งตับและทางเดินน้ำดี 4. มะเร็งปอด และ 5. มะเร็งลำไส้ใหญ่
นพ.ฉัตรชัย กล่าวว่า สถิติการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ในปีพ.ศ. 2552 คนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งจำนวน 56,058 ราย หรือ 88.34 รายต่อประชากร 1 แสนคน คิดเป็น 4,671 ราย/เดือน เฉลี่ย156 ราย/วัน เพิ่มขึ้นประมาณ 10.7% เปรียบเทียบกับสถิติ พ.ศ. 2548 โดยมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ตามด้วย 2.อุบัติเหตุและการเป็นพิษ 3. โรคหัวใจ 4.โรคความดันโลหิตสูงและเส้นเลือดสมอง และ 5. โรคปอด
ส่วนสาเหตุการตายของมะเร็งที่สำคัญ (สถิติ พ.ศ. 2551) อันดับ 1 ขณะนี้คือมะเร็งตับและทางเดินน้ำดี ตามด้วยมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และปากมดลูก
ทั้งนี้การที่จะทำให้สถิติโรคมะเร็งลดลงได้ ขึ้นอยู่กับ 1 ความตระหนักของอาการโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะมะเร็งที่พบบ่อย 2. การป้องกันตนเอง เลิกสูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา ไม่ให้เป็นโรคอ้วน เลี่ยงอาหารปิ้งย่าง ลดเนื้อแดง เลี่ยงอาหารพลังงานสูงเช่น แฮมเบอเกอร์ เป็นวิธีที่มีประโยชน์สูงสุด และมีต้นทุนน้อยที่สุด 3. ป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และ ซี โดยการไม่ใช้ยาเสพติดฉีด เลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ปลอดภัยและการมีคู่นอนหลายคน เป็นต้น 4.ออกกำลังกาย ลดพุง รับประทานผัก ผลไม้ให้มาก และ 5. ตรวจหามะเร็งระยะแรก หรือการคัดกรองโรคมะเร็งได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก
นพ.ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการรณรงค์ในวันงดสูบบุหรี่โลก (World No Tobacco Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อ วันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1988 โดยองค์การอนามัยโลก เพื่อให้เห็นอันตรายของบุหรี่ต่อสุขภาพ ของผู้สูบบุหรี่และผู้ไม่สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่ การจัดงานวันงดสูบบุหรี่โลกก็เพื่อกระตุ้นให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบ และให้รัฐบาล ชุมชนและประชากรโลก ตระหนักถึงความสำคัญและเข้าร่วมกิจกรรม เนื่องจากการสูบบุหรี่และยาสูบอื่น ๆ เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตที่สามารถป้องกันได้ ทั้งนี้เคล็ดลับในการเลิกบุหรี่ 6 ประการ หากตัดสินใจที่จะเลิกสูบบุหรี่ให้ปฏิบัติ ดังนี้ 1.ทิ้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ให้หมด ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ ที่เขี่ยบุหรี่ และไฟแช็ค 2. ตั้งสติให้มั่น เข้มแข็งเมื่อมีอาการหงุดหงิด 3. ตัดความเคยชิน หรือกิจกรรมต่างๆ ที่มักจะทำร่วมกับการสูบบุหรี่ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 4. คุมอาหารด้วยการเลือกรับประทานอาหารจำพวกผักผลไม้ให้มากกว่าเดิม 5. จดจำเหตุผลที่ตัดสินใจเลิกบุหรี่ไว้ให้ขึ้นใจ เพื่อเป็นกำลังใจเวลาท้อ และ 6. ถ้ายังไม่ได้ผลให้ปรึกษาแพทย์
ข้อมูลประชาสัมพันธ์โรคมะเร็งปอด
มะเร็งปอด พบมากเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งทั้งหมดในประเทศไทย โดยในเพศชายพบมากเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งตับและมะเร็งทางเดินน้ำดี ส่วนเพศหญิงพบมากเป็นอันดับสาม รองจากมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก โดยพบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นประมาณ 15,000 รายต่อปี ส่วนใหญ่เกิดจากการสูบบุหรี่ โดยจะพบในพื้นที่ภาคเหนือมากกว่าภาคอื่น ๆ เนื่องมาจากคนในภาคเหนือนั้นนิยมสูบบุหรี่พื้นเมือง ขี้โยหรือยามวน ซึ่งมีสารก่อมะเร็งจำนวนมาก จึงอยากให้ประชาชนได้ตระหนักและงดสูบบุหรี่ไม่เฉพาะช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี หรือวันงดสูบบุหรี่โลก วันที่ 31 พฤษภาคมเท่านั้น
มะเร็งปอด เป็นเนื้องอกชนิดหนึ่งของหลอดลมและปอด แต่เป็นชนิดที่ร้ายแรง เริ่มแรกมะเร็งปอดจะเป็นก้อนขนาดเล็ก หากปล่อยไว้ก้อนจะโตขึ้นลุกลามเข้าแทนที่เนื้อปอดปกติ และกระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ เช่น เช่น ต่อมน้ำเหลือง เยื่อหุ้มหัวใจ กระดูก สมอง ตับ และผิวหนัง เป็นต้น สาเหตุสำคัญของการเกิดกิดจาก 4 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย 1. การสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดของการเกิดโรคมะเร็งปอด โดยผู้สูบบุหรี่มีโอกาสป่วยเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบถึง 10 เท่า และผู้ที่สูดดมควันบุหรี่ของผู้อื่น ก็มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดด้วยเช่นกัน เนื่องจากควันบุหรี่มีสารประกอบที่เป็นสารก่อมะเร็ง มากกว่า 4,000 ชนิด 2. การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีแร่แอสเบสตอส หรือแร่ใยหิน เช่น ในโรงงานอลูมิเนียม ผ้าเบรก คลัช โรงงานทอผ้า และเหมืองแร่ 3. เรดอน เป็นก๊าซกัมมันตรังสี ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส เกิดจากการสลายตัวของแร่ยูเรเนียมในใยหิน ซึ่งกระจายอยู่ในอากาศและน้ำใต้ดินในที่ๆอากาศไม่ถ่ายเท เช่น ในเหมืองใต้ดิน อาจมีปริมาณมากทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดได้ และ 4. มลภาวะในอากาศ ได้แก่ ไอควันพิษจากรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม และควันธูป เป็นต้น
ในระยะแรกของโรคตรวจพบได้ยากมักจะพบในระยะที่ลุกลามแล้ว อาการที่อาจจะพบ ได้แก่ ไอแห้งๆ หรือไอแบบมีเสมหะนานกว่าปกติ ในบางครั้งพบว่ามีเลือดปนออกมาด้วย เจ็บหน้าอก น้ำหนักลด เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เสียงแหบ มีอาการบวมที่หน้า ลำคอ แขน และหน้าอกส่วนบน กลืนอาหารลำบาก ปวดกระดูกหรือเจ็บชายโครงปอดอยู่เกือบตลอดเวลา และอาจเป็นอัมพาตหากโรคกระจายไปถึงสมอง
สำหรับแนวทางการรักษาในปัจจุบัน แพทย์จะพิจารณาจากอายุ ภาวะความแข็งแรงของร่างกาย ระยะการดำเนินของโรค ชนิดของมะเร็งและการยอมรับของผู้ป่วย ซึ่งการรักษาจะประกอบด้วย 1. การผ่าตัด มักจะใช้รักษาผู้ป่วยที่มีการดำเนินของโรคมะเร็งปอดในระยะต้น 2. การฉายรังสี 3. การฉีดยาเคมีบำบัด 4. การรักษาด้วยา ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยที่เนื้อมะเร็งปอดมีตัวรับ EGFR Mutation แต่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงวิธีการป้องกันคือ งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการได้รับมลพิษในสิ่งแวดล้อม รับประทานผัก ผลไม้ให้มากขึ้น และอาหารที่มี
วิตามินซี วิตามินอี รวมทั้งเซเลเนียม เช่น ข้าวซ้อมมือ รำข้าว ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง การดื่มสุรา เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยยังสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ แต่ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักและผลไม้ หลีกเลื่ยงอาหารที่มีไขมันสูง งดสูบบุหรี่และดื่มสุรา ออกกำลังกายสม่ำเสมอแต่อย่าหักโหม พักผ่อนให้เพียงพอ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และหากมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์ทันที
ข้อมูลโดย มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย
นท.นพ.ฉัตรชัย คูวัธนไพศาล อายุรแพทย์โรคมะเร็ง
โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ
ถนนพหลโยธิน สายไหม กทม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
คุณธนศักย์ อุทิศชลานนท์ (โป้ง), คุณจิตต์แจ่ม อัศวแก้วมงคล
บริษัท คอร์แอนด์ พีค จำกัด โทร. 0-2439-4600 ต่อ 8202
Email: tanasaku@corepeak.com