กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--สวทช.
ทีมเยาวชนจากโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (JSTP) รวมตัวทำกิจกรรม “JSTP สัญจร” ลงพื้นที่พบเกษตรกรจังหวัดน่าน ใช้ความรู้พัฒนา “เครื่องบดอาหารสัตว์ขนาดเล็กต้นแบบ” เพื่อช่วยเกษตรกรลดต้นทุน ทำอาหารสัตว์ใช้เองได้ภายในครัวเรือน เผยแผนต่อไปเตรียมพัฒนา “เครื่องตัดมัน” หวังเพิ่มมูลค่าการขาย
นายวีระพล แซ่หว่าง นักศึกษาปริญญาตรีปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และเยาวชนโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (Junior Science Talent Project : JSTP) สวทช. กล่าวว่า เครื่องบดอาหารสัตว์ขนาดเล็ก เกิดขึ้นจากการรวมตัวของเยาวชนโครงการ JSTP ในกิจกรรม “JSTP สัญจร: เรียนรู้ร่วมกัน สร้างสรรค์เทคโนโลยีเพื่อสังคม” ซึ่งมีเป้าหมายให้เด็กและเยาวชนผู้มีความสามารถพิเศษได้มีโอกาสลงพื้นที่เรียนรู้ปัญหาของเกษตรกรในจังหวัดต่างๆ เพื่อฝึกทักษะกระบวนการคิด การพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีที่นำมาใช้แก้ไขปัญหาของชุมชนได้จริง
“ในครั้งแรกพวกเราได้มีโอกาสลงพื้นที่ศึกษาศูนย์เรียนรู้ชุมชนสวนแสงประทีป อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน และจากการพบปะพูดคุยกับอาจารย์ประทีป อินแสงและเกษตรกร ทำให้ทราบว่า อาชีพหลักของเกษตรกรที่นี่ คือ การปลูกข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ คือ หมู และไก่ โดยปัญหาของเกษตรกรส่วนหนึ่ง คือ แม้ในพื้นที่จะมีข้าวโพด วัตถุดิบที่นำมาใช้ทำอาหารสัตว์ได้อยู่แล้ว แต่เกษตรกรยังต้องส่งเมล็ดข้าวโพดไปยังโรงงานรับบดวัตถุดิบที่อยู่ไกลจากชุมชนเพื่อผลิตเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางรวมทั้งค่าจ้างบดวัตถุดิบในราคาสูง ขณะเดียวกันเกษตรกรบางกลุ่มก็เลือกใช้วิธีซื้ออาหารสัตว์สำเร็จรูปมาใช้ แต่อาหารสัตว์ก็มีราคาแพงและผันผวนมาก จึงทำให้ควบคุมต้นทุนได้ยาก
นายวีระพล กล่าวว่า ทั้งนี้จากการหารือถึงแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกับเกษตรกร ก็ได้เกิดแนวความคิดในการประดิษฐ์ “เครื่องบดอาหารสัตว์ขนาดเล็ก” ซึ่งเป้าหมายหลัก คือ ต้องมีขนาดกะทัดรัด ใช้งานง่าย ราคาถูก และที่สำคัญชาวบ้านต้องประดิษฐ์ใช้เองได้ง่ายในแต่ละครัวเรือน
“ในการทำงาน ทีมเยาวชนโครงการJSTP ได้ร่วมกับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นำความรู้ด้าน Machine Design มาใช้ในการออกแบบเครื่องจักรกล จนได้เครื่องบดอาหารสัตว์ขนาดเล็กเป็นผลสำเร็จ โดยหลักการทำงาน คือ เมื่อใส่ข้าวโพดหรือวัตถุดิบที่ต้องการบดลงไปในเครื่อง มอเตอร์ไฟฟ้าจะหมุนเพลาและใบมีดให้หมุนไปตีวัตถุดิบให้แตกละเอียดลงไปเรื่อยๆ ส่วนจะให้วัตถุดิบมีความละเอียดมากน้อยแค่ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้ขนาดของตะแกรงกรองวัตถุด้านล่าง ซึ่งปรับขนาดได้ตามต้องการ เช่น หากเป็นอาหารไก่ อาจจะไม่ต้องละเอียดมาก แต่ถ้าเป็นอาหารหมู ต้องมีความละเอียดมากเพราะหมูไม่สามารถย่อยเมล็ดข้าวโพดที่มีขนาดใหญ่ได้
อย่างไรก็ตาม เครื่องบดอาหารสัตว์ขนาดเล็กชิ้นนี้ ยังเป็นเครื่องต้นแบบซึ่งอยู่ในระหว่างนำไปทดลองติดตั้งใช้งานที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนสวนแสงประทีป เพื่อให้เกษตรได้ทดลองใช้งาน พร้อมทั้งแนะนำ ติชมว่ายังคงมีปัญหาติดขัดหรือต้องการให้แก้ไขเพิ่มเติมในส่วนใดหรือไม่ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะถูกรวบรวมนำกลับมาใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาเครื่องบดอาหารสัตว์ขนาดเล็กให้มีประสิทธิภาพดีตรงตามวัตถุประสงค์การใช้งานจริงของเกษตรกรอีกครั้ง ก่อนจะนำไปส่งมอบสำหรับใช้เป็นเครื่องต้นแบบในการอบรมและสาธิตให้เกษตรกรได้เรียนรู้ นำไปผลิตใช้เองในแต่ละครัวเรือนต่อไป”
สำหรับแผนการดำเนินการต่อจากนี้ นาย บรรชร ชัยอภิวัฒน์ นักศึกษาปริญญาตรีปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และเยาวชนโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (Junior Science Talent Project : JSTP) สวทช. กล่าวว่า นอกจากการพัฒนาเครื่องบดอาหารสัตว์ให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องแล้ว จากการลงพื้นที่ครั้งที่สอง ทำให้พวกเราได้โจทย์ใหม่ คือการพัฒนา “เครื่องตัดมัน”
“ตอนนี้เกษตรกรเริ่มปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งปกติจะชั่งกิโลขายเป็นหัว แต่ถ้าเกษตรกรสามารถนำมาหั่นแล้วตากแดด จะทำให้ขายได้ในราคาสูงขึ้น แต่โดยกระบวนการผลิตยังมีปัญหา เนื่องจากเวลาที่ชาวบ้านหั่นมันสำปะหลัง จะไม่สามารถควบคุมให้เป็นแผ่นบางขนาดเท่ากันได้ ดังนั้น เวลาตากแดด แผ่นมันสำปะหลังจึงแห้งไม่พร้อมกัน โดยแผ่นมันสำปะหลังชิ้นที่บางจะแห้งเร็วกว่า ส่วนแผ่นมันสำปะหลังชิ้นที่หนาจะยังคงมีความชื้น เมื่อนำไปเก็บใส่กระสอบไว้รวมกันจะทำให้เกิดเชื้อราและลุกลามจนอาจทำให้ผลผลิตเสียหายได้ทั้งหมด นับเป็นโจทย์ใหม่ที่ท้าทายให้พวกเราเยาวชน JSTP ต้องช่วยกันคิดและพัฒนาเครื่องตัดมันสำปะหลังให้เป็นแผ่นที่มีขนาดเท่ากัน เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้เกษตรกรต่อไป”
นายบรรชร กล่าวว่า สำหรับความรู้สึกได้มีโอกาสลงพื้นที่และพัฒนาเครื่องมือสำหรับช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกรนั้น พวกเราเยาวชน JSTP ทุกคนต่างรู้สึกดีใจและภาคภูมิใจอย่างมาก ที่สามารถนำความรู้ที่เรียนมาไปใช้แก้ปัญหาให้กับชาวบ้านได้จริงๆ ขณะเดียวกัน การได้ลงไปสัมผัสชีวิตของเกษตรกร ก็ทำให้เราได้ประสบการณ์ที่แปลกใหม่ มีความรู้ที่กว้างขึ้น ที่สำคัญยังช่วยเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติของผมไปจากเดิม เช่น จากที่เคยคิดว่าเกษตรกรคงปลูกพืชผลไปวันๆ แต่ความจริงแล้วพวกเขามีการรวมตัวกัน แลกเปลี่ยนความรู้ มีการทดลอง และมีความพยายามในการหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาพัฒนาผลผลิตอยู่เสมอ ซึ่งการได้เห็นพลังและความเข้มแข็งชุมชนเช่นนี้ ยิ่งเป็นแรงบันดาลใจและผลักดันให้พวกเราต้องออกไปค้นหาความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อกลับมาสร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรมากขึ้น