กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--กันตนา กรุ้ป
โรงเรียนหนองหลวงศึกษา จ.สกลนคร รักษาแชมป์สุดยอดเด็กไทยหัวใจเกษตรเป็นปีที่ 2ครองถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพ ฯในโครงการ My Little Farm # 2
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ร่วมกับ สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ , คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มูลนิธิส่งเสริมยุวเกษตรกรไทย ในพระราชูปถัมภ์ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี , บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และบริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มาหชน) โดย บริษัท ฟาร์ม แชนเนล(ประเทศไทย)จำกัด
จัดโครงการ เด็กไทยหัวใจเกษตร ปี 2 : My Little Farm# 2 นำเด็กมัธยมจากทั่วประเทศ ทีมละ 5 คน 10 ทีมจาก 10 จังหวัด มาร่วมแข่งขันทำการเกษตรบนพื้นที่จริงบนแปลง 1 ไร่ พร้อมเรียนรู้อบรมการทำการเกษตรกรรมอย่างครบวงจร สามารถลงมือปฏิบัติจริง รวมทั้งได้รับความรู้ทางด้านการทำบัญชีรายรับ รายจ่าย การลงทุน การบริหารงานเกษตรกรรมเบื้องต้น และ อบรมบุคลิกภาพ เรียนการแสดง จากโรงเรียนกันตนา เทรนนิ่งเซ็นเตอร์ ณ กันตนา มูฟวี่ทาวน์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เป็นระยะเวลา 9 สัปดาห์
ทีมที่คว้ารางวัลชนะเลิศสุดยอดเด็กไทยหัวใจเกษตร ปี 2 ได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษา 100,000 บาท เครื่องยนต์ดีเซลคูโบต้า พร้อมรถไถเดินตามสยามคูโบต้า รวมมูลค่ากว่า 75,000 บาท จำนวน 1 คัน ได้แก่
ทีม LF 4 จากโรงเรียนหนองหลวงศึกษา จ.สกลนคร ซึ่งครองตำแหน่งแชมป์เป็นปี ที่ 2 แล้ว ประกอบด้วย นพ-นายนพคุณ กุลาศาสตร์ , แบงค์ - นายพีรัชชัย มงคลนำ , บอม - นายกิตติศักดิ์ สังข์ทอง ,แหวน-เด็กหญิงเพ็ญผกา สังขพันธุ์ และ แต๋ว-นางสาวสายฝน ศรีสุธา ตัวแทนทีมกล่าวว่า “โครงการของเราชื่อ หนองหลวงชีวะฟาร์ม ใช้พืชผักในแปลงที่เขาเกื้อกูลกัน โดยจะไม่ใช้สารเคมีก็พืชก็จะแบ่งเป็นสองส่วน ก็คือไม้เถาและพืชกินใบ ไม้เถาก็จะมีพวกบวบเหลี่ยม บวบหอม แตงกวา พืชกินใบจะมีผักบุ้งจีน กระเพรา โหระพา แมงลัก กวางตุ้ง และคะน้า พืชผักของเราจะมีการเกื้อกูลกันและกัน ก็คือใช้กระเพรา โหระพา แมงลักนะคะในการเกื้อกูลไล่แมลงให้กับผักกวางตุ้ง คะน้า แตงกวา และเราจะทำแปลงคล้ายสวนหย่อมเพื่อให้ผู้พบเห็นเกิดสุนทรียะภาพด้วย การที่ได้ร่วมโครงการนี้นอกจากจะได้รับประสบการณ์ครวามรู้เกี่ยวกับการทำการเกษตรแล้ว เรายังได้มิตรภาพของเพื่อนที่มาจากแต่ละจังหวัด ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นกัน เมื่อจบจากโครงการนี้แล้ว พวกเราจะนำความรู้ที่ได้จากโครงการไปพัฒนาต่อในชมรมการเกษตรพอเพียงที่โรงเรียนของเรา ให้น้องๆในรุ่นต่อไปได้รับความรู้ที่เราได้รับมาจากโครงการนี้”
ส่วนรางวัลรองชนะเลิศมี 2 ทีมคือ ทีม LF5 โรงเรียนบ้านตลาดควาย จังหวัดบุรีรัมย์ และ ทีม LF 7 โรงเรียนหนองจอกพิทยานุสสรณ์ จังหวัดกรุงเทพ ได้รับทุนการศึกษา ทีมละ 25,000 บาท นอกจากนี้น้องๆ ทั้ง 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบมา ยังได้รับประกาศนียบัตรจากโครงการและสิทธิ์โควต้าสอบตรงจากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอุปกรณ์เพื่อการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้สารนิเทศ