กรุงเทพฯ--8 ก.พ.--แม็กซิม่า คอลซัลแตนท์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “อุทยานการเรียนรู้ ยะลา” โดยมี คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานกรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน), ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานกรรมการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้, พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรียะลา เฝ้าฯ รับเสด็จ ณ ศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
อุทยานการเรียนรู้ ยะลา นับเป็นอุทยานการเรียนรู้ภูมิภาคแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี อันเกิดจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หน่วยงานในสังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) และเทศบาลนครยะลา จากการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ ศิลปิน ปราชญ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นตลอดจนเยาวชน ด้วยหลักการที่ส่วนกลางสนับสนุน ส่งเสริม และท้องถิ่นเป็นเจ้าของ ทั้งนี้ เพื่อเป็นห้องสมุดมีชีวิตที่มีพื้นที่ส่งเสริมกิจกรรมการเรียนรู้และการฝึกอบรมหลากหลาย ถือเป็นของขวัญแก่เด็กเยาวชนและประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้นวัตกรรมที่ผสมผสานเอกลักษณ์ท้องถิ่นภาคใต้กับเทคโนโลยีสากลที่ทันสมัยในบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ที่มีชีวิต
ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทอดพระเนตรภายในอุทยานการเรียนรู้ ยะลา โดยมีรับสั่งกับคณะทำงานตอนหนึ่งใจความว่า อยากให้คณะทำงานเน้นการบริหารจัดการให้อุทยานการเรียนรู้ ยะลา อยู่อย่างยั่งยืน พร้อมทั้ง ทรงแนะเรื่องเกี่ยวกับปัญหาเด็กติดเกมในขณะนี้ ด้วยอารมณ์ขันว่า ควรมีแม่เสือไว้คอยป้องปรามไม่ให้เด็กเล่มเกมมากเกินไป
อุทยานการเรียนรู้ ยะลาก่อตั้งขึ้นเพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบทันสมัยผสานกลิ่นอายของท้องถิ่น โดยขณะนี้สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ได้ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อจัดตั้งอุทยานการเรียนรู้ ส่วนภูมิภาคภาคละ 1 แห่ง ได้แก่ ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดมหาสารคาม และภาคตะวันออก ที่จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นต้นแบบและแม่ข่ายทางปัญญาให้กับพื้นที่ใกล้เคียงต่อไป ทั้งนี้ อุทยานการเรียนรู้ ยะลาเป็นอุทยานการเรียนรู้ภูมิภาคที่เสร็จพร้อมเปิดบริการประชาชนเป็นแห่งแรก เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2549 ที่ผ่านมา ในการดำเนินการร่วม 2 ปีนั้น เทศบาลนครยะลารับผิดชอบงบประมาณและการดำเนินการด้านการก่อสร้างปรับปรุงอาคารและภูมิทัศน์ ตลอดจนบุคลากรและการบริหารจัดการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้รับผิดชอบการถ่ายทอดองค์ความรู้ ทั้งด้านสถาปัตยกรรมและการดำเนินงาน การวิจัยเพื่อบูรณาการองค์ความรู้และเทคโนโลยีเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น
ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าโครงสร้างและหลังคาของลานสานฝันได้สะท้อนลักษณะภูมิประเทศที่เป็นภูเขา และความหมายตามภาษาพื้นเมืองของคำว่า ยะลา ซึ่งแปลว่า แห นอกจากนั้น ยังมีการประยุกต์ศิลปะประจำถิ่น เช่น เสื่อกระจูด กริช อำเภอรามันห์ ไม้ตาล ไม้ยาง ในการทำเฟอร์นิเจอร์ และตกแต่งอาคาร ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งคือ การออกแบบที่เน้นการประหยัดพลังงานโดยใช้กลไกของพัดลม เครื่องปรับอากาศ กระแสลมและการหมุนเวียนของอากาศ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ถึงปีละไม่ต่ำกว่า 1,200,000 บาท
ในขณะที่ด้านเนื้อหาสาระ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ 3 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการคัดเลือกหนังสือ, คณะกรรมการคัดเลือกดนตรีและเพลง และคณะกรรมการออกแบบเนื้อหาและกิจกรรม เพื่อบริหารจัดการให้ห้องสมุดมีชีวิตที่นี่ประกอบด้วยเนื้อหาสาระที่เหมาะสมกับท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังได้เปิดโอกาสให้ชาวยะลารวมทั้งเยาวชนได้มีส่วนร่วมในการคัดเลือกเนื้อหาสาระของหนังสือ เพลง และกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่อีกด้วย ซึ่งขณะนี้ มีหนังสือร่วม 10,200 เล่มในฐานข้อมูล รวมการจัดทำหนังสือท้องถิ่นหายากเกือบ 200 เล่ม รวบรวมเพลงท้องถิ่น 12 ประเภท อาทิ เพลงบรรเลงรองเง็ง เพลงดิเกฮูลู เพลงอนาซิส จำนวนถึง 2,900 เพลง ตลอดยังได้จัดทำหนังสือนิทานพื้นบ้านภาษาไทยและภาษายาวี ถึง 12 เล่ม ซึ่งรวบรวมโดยนักวิชาการ และวาดภาพโดยศิลปินในพื้นที่ ในส่วนปฏิทินกิจกรรมจะมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนทุกเดือน
ด้าน นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรียะลา กล่าวว่า “เสียงตอบรับจากการเปิดทดลองระบบประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีผู้มาใช้บริการถึง 16,000 คน ในขณะที่วันเด็กมียอดผู้ใช้บริการสูงถึง 3,000 คน วันธรรมดา เฉลี่ย 300-400คน วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ 800 คน สะท้อนถึงสัญญาณการเริ่มต้นที่ดี ทางเทศบาลหวังใจว่าอุทยานการเรียนรู้ ยะลา จะช่วยสร้างโอกาสและขยายเครือข่ายการเรียนรู้ให้คนในท้องถิ่น โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และขยายขอบเขตทั่วภาคใต้ตอนล่าง ได้เรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องและตลอดชีวิต พร้อมคาดหวังว่าจะเป็นแหล่งเชื่อมโยงผสานความต่างให้เป็นหนึ่งเดียวภายใต้ความรักสามัคคีกลมเกลียวอย่างสมานฉันท์ ตลอดจนเป็นสถานที่ที่เยาวชนมาใช้บริการเพื่อการเรียนรู้ กล้าคิด กล้าแสดงออก และปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ ประดุจขุมทรัพย์ทางปัญญาที่ไม่มีวันหมดสิ้น”
ร่วมเปิดประตูสู่โลกกว้างแห่งการเรียนรู้พร้อมกัน กับอุทยานการเรียนรู้ ยะลา เปิดบริการวันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 9.00-19.00น. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ณ ศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา ถนนสุขยางค์ อ.เมือง จ.ยะลา
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
บริษัทแม็กซิม่า คอลซัลแตนท์ จำกัด
โทร 0-2434-8300 คุณสุจินดา, คุณแสงนภา, คุณปิติยา
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net