ปภ.แนะหลักความปลอดภัยการทำงานในสถานประกอบการ

ข่าวทั่วไป Monday April 30, 2007 11:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--ปภ.
วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันแรงงานแห่งชาติ ปัญหาที่มักเกิดบ่อยครั้งกับผู้ใช้แรงงาน คือ อันตรายที่เกิดขึ้นจากการทำงาน ดังจะเห็นได้ว่าสถิติผู้ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี โดยมากกว่าร้อยละ 85 เกิดจากพฤติกรรมของผู้ใช้แรงงานเอง ทั้งจากความประมาท ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การขาดความเอาใจใส่ในเรื่องความปลอดภัย มีเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่เกิดจากสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เล็งเห็นถึงความสำคัญและห่วงใยในความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงานทุกคน จึงขอนำเสนอหลักความปลอดภัยให้ผู้ปฏิบัติงานได้ยึดถือปฏิบัติ ดังนี้
1.ปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยตามที่สถานประกอบการแต่ละแห่งกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด และควรให้ความร่วมมือกับมาตรการรักษาความปลอดภัยในโรงงาน
2.ปฏิบัติตามขั้นตอนในการทำงานในแต่ละอย่าง โดยเฉพาะการทำงานในโรงงานถ้าไม่รู้ควรถามผู้รู้ให้เข้าใจ หากไม่แน่ใจไม่ควรใช้เครื่องมือนั้นอย่างเด็ดขาด
3.เลือกใช้เครื่องมือให้ถูกวิธี ถูกขนาดและถูกกับงานที่ต้องรับผิดชอบ เพราะหากใช้เครื่องมือที่ผิดวิธีจะทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้ได้ และไม่ควรใช้เครื่องมือ เครื่องจักรที่ตนเองไม่มีความรู้และไม่เคยใช้มาก่อนอย่างเด็ดขาด
4.ควรแต่งกายให้เรียบร้อย รัดกุม และใช้เครื่องป้องกันอันตรายทุกครั้งในขณะปฏิบัติงาน
5. หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ หรือเครื่องจักรที่ชำรุด สึกหรอ หรืออยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะสมต่อการใช้งานและต้องตรวจดูให้แน่ใจก่อนที่จะใช้ทุกครั้งว่ามีสภาพที่พร้อมใช้และปลอดภัยหรือไม่
ในปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่นิยมใช้เครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีทันสมัย เพื่อประหยัดเวลาและแรงงาน แต่ก็ก่อให้เกิดอันตรายได้หากผู้ปฏิบัติงานไม่มีความชำนาญ เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล ควรปฏิบัติ ดังนี้
ควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการใช้เครื่องจักรในแต่ละชนิดอย่างละเอียด ทั้งจากคู่มือการทำงานและจากผู้เชี่ยวชาญ ห้ามทดลองใช้เครื่องจักร หรือเล่นหยอกล้อกันในบริเวณที่เครื่องจักรกำลังทำงานเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายได้ ก่อนใช้เครื่องทุกครั้งควรตรวจเช็คสภาพเครื่องจักรให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน โดยเฉพาะเครื่องจักรที่มีส่วนประกอบเป็นเฟืองและใบมีด เมื่อต้องการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ของเครื่องจักร เช่น สายพาน เฟือง ใบมีดจะต้องหยุดเครื่องและตัดสวิตซ์ก่อนทุกครั้ง และควรมีฝาครอบหรือเครื่องปิดป้องกันบริเวณจุดเสี่ยงดังกล่าว ถ้าจะทำความสะอาดเครื่องจักรต้องหยุดเครื่องเสียก่อน ห้ามใช้นิ้วมือหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายในการหยุดเครื่องหรือส่วนที่เครื่องทำงานอยู่ เพราะอาจทำให้ได้รับอันตรายได้ ไม่ควรใช้เครื่องจักรเกินกำลังและควรปิดทันทีเมื่อทำงานเสร็จแล้ว หากพบว่ามีจุดใดชำรุดควรรีบแจ้งช่างที่ชำนาญมาทำการแก้ไขทันที
อันตรายจากการทำงานอีกรูปแบบหนึ่ง ได้แก่ สารเคมีรั่วไหล หากต้องปฏิบัติงานเกี่ยวกับสารเคมีควรปฏิบัติ ดังนี้
- สวมเครื่องแบบและอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยตามมาตรฐานที่โรงงานกำหนด และปฏิบัติตามกฎระเบียบของโรงงาน เช่น อัตราส่วนการใช้หรือการควบคุมสารเคมีที่เป็นอันตรายอย่างเคร่งครัด
- หากพบว่า มีสารเคมีรั่วไหลภายในบริเวณที่ทำงาน และมีกลิ่นฉุน ควรหาผ้าปิดจมูกไว้ และหลีกเลี่ยงการสูดดม ถ้าไม่สามารถควบคุมการรั่วไหลได้ให้พยายามอยู่เหนือลมหรืออยู่ในที่สูง และรีบออกห่างจุดที่สารเคมีรั่วไหล และแจ้งผู้รับผิดชอบทราบทันที
- หากสัมผัสกับสารเคมี ให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที โดยการปล่อยให้น้ำไหลผ่านประมาณ 15 นาที ในกรณีที่กลืนกินสารเคมี พยายามอย่าอาเจียน ให้รีบนำส่งแพทย์ทันที
- ทุกคนในสถานที่ทำงาน สามารถร่วมกันป้องกันสารเคมีรั่วไหล ด้วยการจัดเก็บในที่ปลอดภัยและเหมาะสมกับลักษณะของสารเคมี และไม่ควรเก็บสารเคมีไว้ในบ้าน โรงอาหารหรือสถานที่พักผ่อนของพนักงาน ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมหรือเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับการป้องกันอันตรายจากสารเคมี และฝึกซ้อมการอพยพในกรณีการเกิดรั่วไหลของสารเคมีเป็นประจำ รวมทั้งหมั่นตรวจสอบจุดเสี่ยงที่พบการรั่วไหลของสารเคมีบ่อยครั้ง
ผู้ประกอบการ
การจัดการความปลอดภัยในการทำงานอย่างถูกต้องและเหมาะสม นอกจากจะทำให้พนักงานมีความมั่นใจในการทำงาน สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นแล้ว ยังช่วยลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุในขณะทำงานได้อีกด้วย โดยเฉพาะการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของผู้ปฏิบัติงาน ดังนั้น ผู้ประกอบการควรดำเนินการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปฏิบัติงานและสร้างความปลอดภัยในการทำงาน ด้วยการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและปลอดภัยจัดหาเครื่องจักรเครื่องมือที่ทันสมัย ติดตั้งเครื่องป้องกันอันตรายที่เครื่องจักร เครื่องมือ จัดให้มีอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลและดำเนินการให้ลูกจ้างสวมใส่ เช่น แว่นตาลดแสง รองเท้านิรภัย หมวกนิรภัย อุปกรณ์ครอบหูลดเสียง เป็นต้น จัดฝึกอบรมชี้แจงวิธีการปฏิบัติงาน วิธีป้องกันอันตรายให้ผู้ปฏิบัติงานเข้าใจและสามารถปฏิบัติตามได้โดยง่ายและควบคุมให้ผู้ปฏิบัติงานใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตราย รวมทั้ง ปฏิบัติตามระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยโดยเคร่งครัด เป็นต้น
หากผู้ปฏิบัติงานมีความระมัดระวัง และหมั่นศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับวิธีการทำงานที่ถูกต้องและเหมาะสม รวมทั้งรู้จักหาวิธีการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตนเองจากการใช้เครื่องจักร หรืออุปกรณ์ในการทำงาน โดยเฉพาะการยึดหลักความปลอดภัยในที่ทำงานอย่างเคร่งครัด ก็จะทำให้ปลอดภัยจากการเกิดอุบัติเหตุในขณะทำงานได้เป็นอย่างดี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ