รู้ไว้...ป้องกัน ระวังเหล็กก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน บ้านพัง หลังคาทรุด ปัญหาที่รู้ไว้ใช่ว่า .... ต้องแก้ปัญหา ก่อนสายเกินไป

ข่าวทั่วไป Wednesday May 18, 2011 11:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--สมอ. จากปัญหาของการซื้ออาคาร บ้าน และสิ่งก่อสร้างที่ผ่านมา ปัญหาหลักๆ ที่เราพบเจอกันมากกว่า 70 % คือ ปัญหาการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน ทั้งปัญหาบ้านทรุด บ้านร้าว ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานสำหรับวงการการก่อสร้างของไทย สาเหตุหลักที่ก่อให้ปัญหานี้เกิดขึ้นซ้ำแล้ว ซ้ำอีกคือ การนำวัสดุก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานมาใช้งาน ในการก่อสร้าง โดยเฉพาะเหล็กที่เป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ขึ้นโครงต่าง ๆ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้ตลอดมา นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2552 เป็นต้นมา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้กำหนดนโยบายในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่แสดงเครื่องหมายมาตรฐานที่วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์เหล็กที่ใช้ในการก่อสร้าง โดยมีประชาชนร้องเรียนเรื่องคุณภาพเข้ามาจำนวนมาก ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย หรือเพื่อป้องกันความเสียหายอันจะเกิดแก่ประชาชน หรือเศรษฐกิจรวมของประเทศและเพื่อให้มีการกำกับดูแลปัญหานี้อย่างใกล้ชิด สมอ. จึงได้ตั้งทีมงานเฉพาะกิจตรวจสอบและควบคุมผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา คณะทำงานเฉพาะกิจฯ ได้ทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างทั้งในส่วนของผู้ทำและผู้จำหน่าย นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2552 อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด และมีสถิติการตรวจจับ ยืดและอายัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานฯเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี ดังนี้ ปีงบประมาณ ผู้ประกอบการ (ราย) พบการฝ่าฝืน (ราย) การยึดอายัด จำนวน (เส้น) น้ำหนัก (ตัน) ก.พ.2552 ถึง ก.ย. 2552 84 28 77,536 703.343 ต.ค.2552 ถึง ก.ย. 2553 73 16 341,093 3,343.729 ต.ค.2553 ถึง เม.ย. 2554 34 15 868,266 5,401.102 191 59 1,286,895 9,448.174 ตารางสถิติการตรวจควบคุมผู้ทำ ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กก่อสร้าง ( กุมภาพันธ์ 2552 ถึง มีนาคม 2554) จากสถิติที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า พบผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานเป็นจำนวนมาก และจากการตรวจจับผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน พบปัญหามากมายเช่นกัน ทั้งปัญหาการวินิจฉัยผลิตภัณฑ์เหล็กก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางด้านเทคนิคที่ผู้ลักลอบทำโดยไม่ได้รับอนุญาตมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา รวมถึงปัญหาที่เกิดจากความไม่เข้าใจในตัวบทกฎหมายของร้านจำหน่ายเอง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องจึงอยากจะอธิบายเพิ่มเติมดังนี้ 1. ความผิดของผู้ทำและผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ผู้ทำและผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานฯ ตามมีความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรฐานฯด้วยกันทั้งสิ้น กล่าวคือ ผู้ทำ หากทำโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก สมอ. มีความผิดตามมาตรา 20 และหากได้รับอนุญาตแต่ทำผลิตภัณฑ์เหล็กก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานฯ มีความผิดตามมาตรา 29 สำหรับผู้จำหน่าย หากจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานฯ จะมีความผิดตามมาตรา 36 ในส่วนของผู้ทำผลิตภัณฑ์เหล็กก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน อยากจะอธิบายว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) มีแผนการตรวจติดตามประจำปี รวมทั้งมีการตรวจสอบตามเบาะแสซึ่งได้รับแจ้งจากผู้บริโภค ซึ่งได้ทำการตรวจจับไปแล้วหลายโรงงานและปัจจุบันอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีตามกฎหมาย และอยากจะถือโอกาสนี้เรียนให้ทราบว่า คณะทำงานเฉพาะกิจฯ ได้จัดทำฐานข้อมูลและแผนตรวจควบคุมผู้ทำ ตามหลักฐานและข้อมูลที่ชี้ชัดว่า เป็นผู้ทำที่มีการลักลอบทำผลิตภัณฑ์เหล็กก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานฯ ขึ้นมาใช้แล้ว 2. วิธีการตรวจสอบ ผลิตภัณฑ์เหล็กก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีวิธีการทำงานง่ายๆ ไม่สลับซับซ้อนบนพื้นฐานของความเข้าใจปัญหา การให้ความเคารพซึ่งกันและกัน และยึดหลักของเหตุและผล ซึ่งสรุปได้ง่ายๆ ดังนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ สมอ. จะแนะนำตัวเอง พร้อมแสดงบัตรพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการเข้าตรวจตามมาตรา 45 และขอให้ผู้ประกอบการจัดผู้นำทางการตรวจพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้นำทางการตรวจทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เหล็กก่อสร้าง ซึ่งหากไม่พบผลิตภัณฑ์เหล็กก่อสร้างที่ผิดกฎหมาย จะจัดทำบันทึกการตรวจสอบและขอให้ผู้ประกอบการหรือผู้แทนลงนามไว้เป็นหลักฐาน แต่หากพบผลิตภัณฑ์เหล็กก่อสร้างที่ที่ผิดกฎหมาย จะอธิบายถึงเหตุที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานฯ พร้อมทั้งทำการยึดและอายัดไว้ และจัดทำบันทึกการยึดอายัดแล้วขอให้ผู้ประกอบการหรือผู้แทนลงนามไว้เป็นหลักฐาน ในขั้นตอนการยึดอายัดตามข้อ (ข) เพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบการเอง ควรให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนี้ (1) กำหนดสถานที่กองเก็บและเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์เหล็กก่อสร้างไปกองเก็บไว้ในที่เดียวกัน เพื่อความสะดวกในการทำธุรกิจต่อไป (2) ผู้นำทางการตรวจ ควรตรวจนับผลิตภัณฑ์เหล็กก่อสร้างที่ยึดอายัดร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่ และยืนยันจำนวนให้ตรงกัน (3) ภายหลังที่พนักงานเจ้าหน้าที่ผูกมัดกองผลิตภัณฑ์เหล็กก่อสร้าง และติดแผ่นป้ายยึดอายัดไว้แล้ว เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการต้องดูแลรักษา หากทำลายหรือทำให้แผ่นป้ายยึดอายัดเสียหาย จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 141 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากทำการเคลื่อนย้าย ทำลาย หรือทำให้ผลิตภัณฑ์เหล็กก่อสร้างที่ยึดอายัดไว้สูญหาย จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 142 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3) หลังการยึดอายัดแล้ว สมอ. ดำเนินการต่อไปอย่างไร? ภายหลังการยึดอายัดพนักงานเจ้าหน้าที่จะสรุปรายงานให้เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมทราบก่อนเป็นลำดับแรก แล้วจัดทำรายงานการยึดอายัดเสนอเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อสั่งการให้สำนักกฎหมายดำเนินคดีต่อไป ซึ่งอาจเรียกผู้ประกอบการมาปรับที่ สมอ. หรือส่งฟ้องศาล แล้วแต่กรณีของความผิด และเมื่อดำเนินคดีแล้วเสร็จจะสรุปเสนอคณะกรรมการมาตรฐาน เพื่อพิจารณาสั่งการให้ดำเนินการกับผลิตภัณฑ์ที่ยึดอายัดไว้ต่อไป เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่รับทราบคำสั่งจากคณะกรรมการมาตรฐานแล้ว จะมีการดำเนินการ ดังนี้ - ทำการนัดหมายวันเวลากับผู้ประกอบการ และขออนุมัติถอนอายัดเพื่อทำลายผลิตภัณฑ์ให้สิ้นสภาพ - พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการถอนอายัด เพื่อทำลายผลิตภัณฑ์ให้สิ้นสภาพเมื่อถึงวันนัดหมาย โดย - ตรวจนับและตรวจพิสูจน์ผลิตภัณฑ์ที่ยึดอายัดไว้เทียบเคียงกับหลักฐานในวันที่ทำการยึดอายัด - หากพบว่า ผลตรวจนับและตรวจพิสูจน์ผลิตภัณฑ์ที่ยึดอายัดไว้ไม่ตรงกับรายงานและหลักฐานที่มีอยู่จะทำสรุปรายงานเสนอต่อเสนอต่อเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อสั่งการให้มีการดำเนินต่อไป และหากพบว่า ตรงกันจะดำเนินการทำลายผลิตภัณฑ์ โดยเหล็กเส้นที่ใช้ในการก่อสร้างจะตัดให้เหลือความยาวไม่เกิน 3.40 เมตร และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณฯ จะตัดให้เหลือความยาวไม่เกิน 1.50 เมตร - ตามกฏหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการมีหน้าที่ในการทำลายผลิตภัณฑ์ภายใต้การควบคุมของพนักงานเจ้าหน้าที่ - เมื่อทำลายผลิตภัณฑ์แล้วเสร็จ พนักงานเจ้าหน้าที่จะทำสรุปรายงานเสนอต่อคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์เพื่อทราบ 4) ข้อแนะนำแก่ร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในการรับซื้อผลิตภัณฑ์เหล็กก่อสร้างที่เป็นไปตามมาตรฐานฯมีข้อแนะนำ ดังนี้ - การสั่งซื้อ ควรกำหนดให้ผู้ขายส่งมอบพร้อมใบอนุญาตทำที่ออกให้โดย สมอ. - เมื่อมีการส่งมอบ ต้องตรวจสอบขนาด ชั้นคุณภาพ ชื่อผู้ทำที่แสดงบนแผ่นป้ายที่ติดกับมัดเหล็กก่อสร้าง และเลขอักษรหรือตัวนูนที่แสดงตรงผลิตภัณฑ์ (ในกรณีเหล็กโครงสร้างรูปพรรณขึ้นรูปเย็น(เหล็กตัวซี) จะใช้สีพ่นหรือ scan กรณีเหล็กเส้นก่อสร้างและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน จะแสดงเป็นตัวนูน) เทียบกับใบอนุญาต ซึ่งต้องมีรายละเอียดตรงกัน ในกรณีนี้มักจะมีปัญหาอยู่บ่อยครั้งที่ผลิตภัณฑ์ที่ส่งมอบมีรายละเอียดไม่ตรงกับใบอนุญาตทำ รวมทั้งมีการแสดงตัวนูนไม่ตรงกับตัวนูนที่ได้แจ้งไว้ต่อ สมอ. เมื่อเกิดปัญหาในลักษณะนี้ ผู้จำหน่ายจะต้องปฎิเสธการรับเข้า หรือเมื่อไม่แน่ใจควรตรวจสอบกับ สมอ. ก่อนการรับเข้าร้านจำหน่าย - ผู้จำหน่ายควรมีอุปกรณ์ตรวจสอบอย่างง่าย เช่น เวอร์เนียร์คาลิปเปอร์ ไมโครมิเตอร์ เพื่อวัดขนาดและความหนา รวมทั้งเครื่องชั่งที่มีความละเอียดพอ เพื่อตรวจสอบค่าน้ำหนักต่อเส้น เทียบเคียงกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง (มอก.) ซึ่งเอกสารดังกล่าวผู้จำหน่ายสามารถเข้าถึงได้ทาง www.tisi.go.th หรือหากมีปัญหาไม่เข้าใจ อาจขอคำแนะนำเพิ่มเติมจาก สมอ. ก่อนก็ได้ เพื่อให้ปัญหาของการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานลดลง จึงอยากจะขอเตือนถึงร้านค้าผู้จำหน่ายวัสดุก่อ สร้าง อีกทั้งผู้ประกอบการโครงการสิ่งก่อสร้างต่างๆ รวมไปถึงผู้บริโภคเองในการตัดสินใจซื้อบ้านแต่ละครั้ง ควรพิจารณาถึงวัสดุก่อสร้าง และผลิตภัณฑ์เหล็กก่อสร้างที่ได้มาตรฐาน ซึ่งถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ