กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกัน (UTT07DA, UTT083A) ของ บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด (UTT หรือ ผู้ออกตราสาร) ในระดับ “AAA” พร้อมแนวโน้ม “Stale” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวได้รับการค้ำประกันเต็มจำนวนจากบริษัทแม่คือ Unilever N.V. (ผู้ค้ำประกัน) ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับ “A+” จากสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) และ “A1” จากมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (มูดี้ส์) อันดับเครดิตตราสารหนี้ของ UTT ยังคงสะท้อนความน่าเชื่อถือของผู้ค้ำประกัน ทั้งนี้ แม้ว่าผู้ค้ำประกันจะไม่มีข้อผูกพันในการชำระหนี้แทนผู้ออกตราสารในกรณีที่ผู้ออกตราสารไม่สามารถชำระเงินตามข้อผูกพันได้อันเนื่องมาจากการแทรกแซงของหน่วยงานใดใดของรัฐบาลไทย หรือถูกยึด อายัด หรือเวนคืนทรัพย์สินของผู้ออกตราสาร แต่ทริสเรทติ้งเห็นว่าความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวมีค่อนข้างต่ำ
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ของหุ้นกู้มีการค้ำประกันของ UTT เป็นผลมาจากคุณภาพเครดิตของ Unilever N.V. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันและได้รับอันดับเครดิตระดับ “A+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” จากเอสแอนด์พี และระดับ “A1” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” จากมูดี้ส์ ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตของผู้ค้ำประกันสะท้อนความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่า Unilever จะคงความแข็งแกร่งทั้งในด้านฐานะทางการเงิน ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด และสถานะทางการตลาดได้ต่อไป ทั้งนี้ การที่จะมีกระแสเงินสดที่สูงขึ้นสามารถกระทำได้ด้วยการบริหารตัวสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ การตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และการเพิ่มรายได้จากตลาดนอกภูมิภาคยุโรป
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ภายใต้ข้อตกลงค้ำประกัน บริษัทแม่ผู้ค้ำประกันจะต้องให้การค้ำประกันแก่หุ้นกู้ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตดังกล่าวอย่างไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถเพิกถอนได้โดยจะต้องรับผิดชอบในการชำระหนี้ตามกำหนดเวลาและเต็มจำนวนแทนผู้ออกตราสาร ทั้งนี้ เงื่อนไขแห่งการค้ำประกันดังกล่าวจะยังคงมีผลจนกว่าภาระหนี้ที่เกี่ยวกับหุ้นกู้จะได้รับการชำระคืนจนหมด โดยสัญญาการค้ำประกันหุ้นกู้ดังกล่าวอยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศอังกฤษ ทั้ง Unilever N.V. และ Unilever PLC ซึ่งเรียกรวมกันว่า Unilever Group หรือ Unilever เป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในประเทศเนเธอร์แลนด์และอังกฤษตามลำดับ โดยบริษัททั้งสองดำเนินงานเสมือนเป็นบริษัทเดียวกันเนื่องจากมีกรรมการร่วมกันและเชื่อมโยงกันด้วยข้อสัญญาต่างๆ ดังนั้น ทั้ง 2 บริษัทจึงได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับที่เท่ากันจากเอสแอนด์พีและมูดีส์ ซึ่งสะท้อนถึงความหลากหลายของผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคและบริโภคซึ่งเป็นตราสินค้าชั้นนำ และการกระจายตัวของสินค้าที่กว้างขวางไปทั่วโลก นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงช่องทางการกระจายสินค้าที่แข็งแกร่งในตลาดประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีอัตราการขยายตัวสูง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากฐานะทางการเงินของ Unilever ที่ค่อนข้างอ่อนแอเมื่อเทียบกับระดับของอันดับเครดิตที่ได้รับและจากอัตราส่วนกำไรที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่ง นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดจากการชะลอตัวของการขยายตัวของตลาดในยุโรปและการชะลอตัวของสินค้าหลักอันได้แก่กลุ่มอาหารของ Unilever ด้วย
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า อันดับเครดิตของ Unilever ซึ่งจัดโดยเอสแอนด์พีที่ “AAA” และโดยมูดี้ส์ที่ “Aaa” คงอยู่ในระดับดังกล่าวเป็นเวลานานก่อนที่จะถูกลดอันดับลงมาที่ “A+” และ “A1” ในปี 2543 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ Unilever มีระดับอัตราส่วนเงินกู้และความพอเพียงของกระแสเงินสดที่อ่อนแอลงจากผลของการซื้อกิจการต่างๆ ในปีดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อกิจการของ Bestfoods อย่างไรก็ตาม อัตรา
ส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของ Unilever ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยอยู่ที่ 42.4% ณ สิ้นปี 2549 จาก 58.6% ณ สิ้นปี 2548 เนื่องจากใน
ไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 Unilever ได้ขายกิจการอาหารแช่แข็งในยุโรป โดยมีกำไรจากการขายที่ 1.2 พันล้านยูโร และได้นำเงินจำนวนหนึ่งไปใช้ชำระหนี้ ทั้งนี้ หาก Unilever ไม่มีแผนในการซื้อกิจการเพิ่มเติมและยังคงดำเนินนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังต่อไปก็คาดว่าอันดับเครดิตของกลุ่ม Unilever จะยังไม่เปลี่ยนแปลง
ทริสเรทติ้งยังกล่าวด้วยว่า ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2548 UTT ได้ควบรวมกิจการกับ บริษัท ยูนิลีเวอร์ เบสท์ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด (UBF) โดยทั้ง 2 บริษัทเป็นบริษัทลูกของกลุ่ม Unilever ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ทั้งนี้ ภาระหนี้และสถานะการค้ำประกันได้ถูกโอนไปยังบริษัทที่ถูกควบรวมกิจการภายใต้ความยินยอมของผู้ค้ำประกันเรียบร้อยแล้ว และเป็นที่ตกลงร่วมกันว่าเงื่อนไขการค้ำประกันยังคงมีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย