สวทช. - มทร. ติดปีก SMEs ภาคอุตสาหกรรม ถ่ายทอดเทคนิค “งานบำรุงรักษาเครื่องจักร” ช่วยลดต้นทุน ยืดอายุการใช้งาน

ข่าวเทคโนโลยี Monday August 20, 2007 15:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--สวทช.
สวทช. ประสานมือทีมผู้เชี่ยวชาญด้านระบบซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักรจาก มทร. ร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีและเทคนิคที่ถูกต้องแก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ชี้ต้องเร่งแก้ปัญหาพื้นฐาน เสริมสร้างความรู้ ทักษะ ความชำนาญ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มิใช่ซ่อมแบบตามมีตามเกิดเช่นในปัจจุบัน มั่นใจหากทำได้จะช่วยลดต้นทุนและยืดอายุการใช้งานของเครื่องจักรได้อย่างแน่นอน
ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยยังต้องเผชิญกับปัญหานานัปการที่ส่งผลให้บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมมีต้นทุนการผลิตสูง ซึ่งปัญหาพื้นฐานที่มักถูกมองข้ามไปคือ “งานบำรุงรักษาเครื่องจักร” โดยมีสาเหตุมาจากการไม่มีบุคลากรที่มีความรู้ด้านเทคนิคที่ถูกต้อง ไม่มีแผนกซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักร หากกรณีระบบที่มีอยู่ไม่เหมาะสม รวมถึงพนักงานไม่มีโอกาสได้รับการพัฒนาความรู้และเทคนิค ขาดที่ปรึกษาให้คำแนะนำอย่างเหมาะสม
ดังนั้น โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้กำกับของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช. จึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จัดโครงการ “การส่งเสริมและสนับสนุนงานซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักรอย่างเป็นระบบของอุตสาหกรรมไทย” ขึ้น โดยจะช่วยในเรื่องของกลไก การวิเคราะห์ แนะนำ เสริมสร้างบุคลากรและระบบการทำงานทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติผ่านการอบรม รวมถึงการซ่อมอุปกรณ์และเครื่องจักรตัวอย่าง เพื่อให้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากทีมผู้เชี่ยวชาญด้านระบบซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักร จนสามารถเริ่ม นำเสนอ และดำเนินโครงการในบริษัทเองได้
นางสาวสนธวรรณ สุภัทรประทีป ผู้อำนวยการโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ในปีนี้โครงการ iTAP ได้รับงบประมาณจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นจำนวนเงิน 100 ล้านบาทเพื่อทำกิจกรรมให้กับภาคเอกชนโดยเฉพาะ ซึ่งโครงการนี้ก็เป็นหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุน
“ในการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมนั้น โครงการ iTAP จะช่วยนำพาไต่บันไดเทคโนโลยีขึ้นมาเริ่มตั้งแต่ก้าวแรกคือการใช้แรงงานเข้มข้นไปสู่การใช้ทักษะเข้มข้น และไปสู่การใช้เทคโนโลยีเข้มข้น จนถึงขั้นสูงสุดคือการทำวิจัยและพัฒนา โดยเรามุ่งหวังที่จะให้บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมไต่บันไดเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อให้เกิดและได้รับมูลค่าเพิ่มสูงสุด”
ผอ.กล่าวต่ออีกว่า โครงการ iTAP มุ่งหวังที่จะสนับสนุนเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนในระดับชาติเพื่อเพิ่มคุณค่าของเทคโนโลยีไปสู่โรงงานให้สามารถนำไปใช้ปรับปรุงสินค้าและกระบวนการผลิต ให้บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมมีความเข้มแข็งไม่ว่าจะเฉพาะรายหรือกลุ่มบริษัท และที่สำคัญคือการสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดระหว่างบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมมาสู่ภาคการทำวิจัย จากความต้องการในโรงงานมาสู่ห้องทดลอง จากห้องทดลองไปสู่โรงงาน โดยเราสามารถดูแลได้ทั้งด้านการเงิน การตลาด การจัดการ และด้านเทคโนโลยี ปัจจุบันเรามีพื้นที่บริการครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายของโครงการ iTAP มี 7 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมไม้ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมซอฟแวร์ และอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ
ด้าน อาจารย์พงษ์ศักดิ์ จตุรนาคากุล หนึ่งในคณะผู้เชี่ยวชาญด้านระบบซ่อมบำรุงเครื่องจักรจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.) เปิดเผยว่า ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการในบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมมักจะมีปัญหาในเรื่องของการขาดเทคโนโลยี มักจะซ่อมหรือดูแลเครื่องจักรแบบตามมีตามเกิด ไม่อ่านคู่มือการใช้ส่งผลให้ใช้แบบผิดวิธีในที่สุดก็เกิดผลเสียตามมาภายหลัง ซึ่งในส่วนของอุตสาหกรรมก็คล้ายๆ กัน แต่ในอุตสาหกรรมเครื่องจักรจะสลับซับซ้อนกว่า การดูแลรักษายากกว่า จำเป็นต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญมากมาย ฉะนั้นความเข้าใจในเรื่องของเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่ต้องให้ความสำคัญ
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวอีกว่า ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดในทุกอุตสาหกรรมคือ เรื่องของคน เครื่องจักร วิธีการ วัสดุ แต่เรื่องของคนจำเป็นที่สุดที่จะต้องเร่งแก้ไขก่อน ตั้งแต่ผู้บริหาร เรื่อยลงมาจนถึงระดับล่างสุด แม้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องก็ต้องเข้ามารับรู้ มีส่วนรับผิดชอบ แก้ไขด้วย
“เราต้องการสร้างความตระหนักให้กับผู้ประกอบการได้รับทราบถึงความสำคัญของงานซ่อมบำรุงรักษา ต้องเห็นความสำคัญและนำกลับไปใช้ โดยคณะผู้เชี่ยวชาญจะฉายภาพรวมให้รู้จักตัวตนของการซ่อมบำรุงรักษาจริงๆ ระบบที่ใช้กันจริง สิ่งที่จะต้องไปทำจริง ผู้ประกอบการต้องนับหนึ่งให้เป็น คือต้องมีพื้นฐานที่ดี เริ่มต้นที่ดี รู้แจ้งเห็นจริง ถึงจะประสบผลสำเร็จ”
ส่วนเป้าหมายหลักของการบำรุงรักษานั้นจะต้องสามารถกำจัดการขัดข้องของเครื่องจักรได้ ช่วยลดเวลาปรับตั้งเครื่องจักร ลดเวลาการลองเดินเครื่อง กำจัดการเดินเครื่องตัวเปล่าของเครื่องจักร การรักษาสมรรถนะของเครื่องจักร การกำจัดผลิตภัณฑ์ของเสีย ช่วยลดเวลาในการซ่อมและบำรุงรักษา รวมถึงงานซ่อมต้องได้คุณภาพ
ซึ่งระบบการบำรุงรักษาที่มีประสิทธิภาพคือ “การบำรุงรักษาแบบทวีผล” (Productive Maintenance) เป็นการนำการบำรุงรักษา 4 วิธี ประกอบด้วย การป้องกันการซ่อมบำรุง การซ่อมบำรุงเชิงป้องกัน การซ่อมบำรุงเมื่อขัดข้อง และการซ่อมบำรุงเชิงแก้ไขปรับปรุง มาใช้ร่วมกันเกิดการทวีผลให้เครื่องจักรมีความพร้อมใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ
“ล่าสุดผู้เชี่ยวชาญได้มีแนวคิดเพิ่มเติมที่ต้องการให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในงานซ่อมบำรุง จึงได้พัฒนา PM (Productive Maintenance) สู่ TPM (Total Productive Maintenance) โดยยึดแนวทางการบำรุงรักษา 4 วิธีเป็นหลัก และใช้หลักของการให้ทุกคนมีส่วนร่วม “ช่วยกันคิด ร่วมกันปฏิบัติ” โดยใช้กิจกรรมกลุ่มในการแก้ปัญหาปรับปรุงงาน การบำรุงรักษาด้วยตนเอง ฯลฯ เป็นกุญแจสำคัญนำไปสู่ความสำเร็จ”
อาจารย์พงษ์ศักดิ์ กล่าวเสริมว่า จากที่ได้ร่วมมือกับโครงการ iTAP มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 จนถึงปัจจุบันนั้นมีโครงการที่ดำเนินการไปแล้ว 4 บริษัท จำนวน 9 โครงการ ประกอบด้วย โครงการผลิตภัณฑ์แปรง โครงการผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติก โครงการงานพิมพ์ และโครงการผลิตภัณฑ์ดินน้ำมัน ซึ่งขณะนี้เราพยายามที่จะขยายเครือข่ายออกไปให้มากที่สุดเพื่อสามารถรองรับผู้ประกอบการได้อย่างทั่วถึงทุกภูมิภาค ล่าสุดเราได้รับความสนับสนุนและร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา โดยการร่วมมือการจัดตั้งเครือข่ายครั้งนี้จะยังประโยชน์และเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้แข่งขันกับนานาประเทศได้อีกด้วย
ขณะที่ นายปฐมพงศ์ ศรีวาลีรัตน์ ผู้จัดการทั่วไป หจก.ศรีสุพรรณ 1993 จำกัด ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมการสัมมนาเปิดเผยว่า หจก.ศรีสุพรรณ 1993 จำกัด ประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ไม้ ทั้งผลิตประตู หน้าต่าง วงกบ ไม้คิ้ว ไม้บัว และงานตามสั่งเกี่ยวกับไม้ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่โครงการ iTAP จัดอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากประโยชน์ที่ได้สามารถนำกลับมาใช้ปรับปรุงแก้ไขภายในบริษัทเป็นอย่างดี
สำหรับครั้งนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับงานซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักร ซึ่งบริษัทยังมีจุดอ่อนในเรื่องของมอเตอร์ การอัดจารบี เรื่องน้ำมันเครื่อง ที่สำคัญระบบการซ่อมบำรุงเครื่องจักรของบริษัทยังไม่มีคุณภาพและประสิทธิภาพที่เพียงพอ บุคลากรยังขาดความรู้ ความชำนาญในการดูแลรักษาเครื่องจักร ซึ่งหลังจากที่รับฟังผู้เชี่ยวชาญแล้วจะได้นำกลับไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป
“การดูแลรักษาเครื่องจักรเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรม ฉะนั้นต้องมีการพัฒนา ฝึกฝนบุคลากรให้มีความรู้ ความชำนาญ เปิดกว้างรับเทคโนโลยีและสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา”
ที่ผ่านมาทางบริษัทมีความมั่นใจในกระบวนการทำงานของโครงการ iTAP ซึ่งหลังจากนี้จะได้เข้าร่วมรับการสนับสนุนกับโครงการอย่างแน่นอน ที่สำคัญคือเราต้องการมีผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์และความชำนาญจริงๆ เข้ามาคอยดูแลให้คำปรึกษาแนะนำอย่างถูกวิธีเพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการช่วยลดต้นทุนและยืดอายุการใช้งานของเครื่องจักรให้ยาวนานที่สุด.
ติดต่อได้ที่…..ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการITAP (สวทช.)
โทร.0-2270-1350-54 ต่อ 114 ,115
คุณนก มือถือ. 0-81421-8133
คุณเกด มือถือ. 0-81575-6477
คุณเอ็ม มือถือ. 0-86612-0912
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ