สัญญาณเศรษฐกิจเครดิตบูโร ไตรมาส 1ประจำปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 18, 2011 17:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร แถลงข่าว “สัญญาณเศรษฐกิจเครดิตบูโร ไตรมาส 1ประจำปี 2554” โดย นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า “ในช่วงไตรมาสแรกปี 2554 นี้ เครดิตบูโรจะยังให้ความสำคัญในแนวทางการดำเนินงานหลักที่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ที่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงในหลายด้าน ดังนี้ นโยบายหลักของเครดิตบูโรในปี 2554 - สื่อสาร ประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจให้ถูกต้องในบทบาทหน้าที่ของเครดิตบูโร โดยเฉพาะกับเจ้าของข้อมูลเพื่อลดความเข้าใจผิด ลดข้อโต้แย้ง-ข้อพิพาท ก่อให้เกิดวินัยทางการเงิน - เพิ่มช่องทางที่สะดวก ง่าย รวดเร็ว มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงข้อมูลเครดิตหรือ “การตรวจเครดิตบูโร” เช่น ผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร ผ่านตู้ ATM โทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต เพื่อนำไปสู่วัฒนธรรม “เช็คก่อนกู้” - สนับสนุนแผนแม่บททางการเงินฉบับที่ 2 โดยการพัฒนาเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงที่เป็นมาตรฐานสากล เช่น Credit scoring Early warning signal system เป็นต้น ด้านผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกปี 2554 ของเครดิตบูโร มีการเติบโตในทุกด้านโดยมีตัวเลขที่สำคัญ ดังนี้ - ฐานข้อมูล มีจำนวนลูกหนี้ประมาณ 20 ล้านราย คิดเป็นจำนวนบัญชีสินเชื่อทั้งสิ้น 62.5 ล้านบัญชี - สถาบันการเงินเข้ามาเช็คข้อมูลเครดิตของลูกค้าใหม่และลูกค้าเดิม เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 4.4 ล้านรายการ คิดเป็นเฉลี่ย 1.46 ล้านรายการต่อเดือนสูงกว่าไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ที่อยู่ในระดับ 1 ล้านรายการต่อเดือน - ประชาชน บริษัท และ SME ที่เป็นเจ้าของข้อมูลให้ความสนใจมาตรวจเครดิตบูโรของตนเองเป็นจำนวน เฉลี่ย 25,000 รายการต่อเดือนจากการมีช่องทางการให้บริการเพิ่มขึ้นโดยเจ้าของข้อมูลสามารถมายื่นคำขอตรวจเครดิตบูโรของตนเองได้ ผ่านหลายช่องทางไม่ว่าจะเป็น เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารนครหลวงไทย ผ่านตู้ ATM ของธนาคารกรุงไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ ภายใน 7 วันรับรายงานทางไปรษณีย์ หรือจะมาที่ศูนย์บริการตรวจเครดิตบูโรของเครดิตบูโรเอง ซึ่งตั้งอยู่ที่ BTS ศาลาแดง และที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ชั้น 2 อาคาร 2 รอรับรายงานได้เลยภายใน 15 นาที ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ปัจจุบันสถาบันการเงินของรัฐได้เข้ามามีบทบาทกระตุ้นการแข่งขัน ส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครดิต ของกลุ่มเป้าหมายที่มีลักษณะการใช้สินเชื่ออย่างมีวินัย (ใช้ครบ-ใช้ตรง) โดยเสนอบริการที่น่าสนใจมาก เป็นนวัตกรรมทางความคิดที่แปลกใหม่ โดยไม่ได้ละทิ้งหรือผ่อนปรนมาตรฐานการบริหารความเสี่ยงแต่อย่างใด ระยะต่อไป แนวทางการคิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยง — Risk Based Pricing ที่เป็นแนวโน้มสากลร่วมกับการให้กู้อย่างมีความรับผิดชอบ — Responsible Lending จะเข้าไปเป็นกลยุทธ์การแข่งขันในระบบสถาบันการเงินไทย ภายใต้แผนแม่บททางการเงินฉบับที่ 2 อย่างแน่นอน” ท้ายสุดนายสุรพล ได้กล่าวถึงมุมมองของเครดิตบูโรที่มีต่อโครงการบ้านหลังแรก 0% 2 ปีแรกและโครงการ Re-Finance Credit card ดังนี้ มุมมองต่อโครงการ สินเชื่อบ้านหลังแรก 0% 2 ปีแรก - กลไกตลาดในการแข่งขัน ถูกกระตุ้นโดยนโยบายผ่านการทำงานของสถาบันการเงินของรัฐ ทำให้สถาบันการเงินที่เหลือต้องนำเสนอสินเชื่อที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ - ผลประโยชน์ตกกับผู้ขอกู้ที่มีวินัยทางการเงินซึ่งเป็นลูกค้าที่ดีแต่ยังไม่มีบ้าน และกลุ่มนี้ยังมีความต้องการบ้านอยู่อีกมาก - การกำหนดคุณสมบัติบ้านหลังแรก นับเป็นนวัตกรรมทางความคิดที่ตอบโจทย์ Mission ในความเป็นธนาคารรัฐที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และตอบโจทย์ของตลาดการแข่งขัน — Win Win Solution - มาตรการส่งเสริมการมีวินัยทางการเงินของสถาบันการเงินต้องดำเนินการควบคู่ไปเพื่อให้มั่นใจว่า วินัยทางการเงิน (ใช้ครบ ใช้ตรง) ยังเป็นเรื่องสำคัญในการรักษาประวัติ - ไม่มีการรับลูกค้า Re-Finance ซึ่งจะไม่ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายบัญชีระหว่างสถาบันการเงินและไม่ทำลายการแข่งขัน - ยังคงยึดหลักการวิเคราะห์สินเชื่อที่เป็นมาตรฐาน เมื่อผู้ยื่นคำขอมีคุณสมบัติตามโครงการ ไม่ได้มีลักษณะผ่อนผัน ผ่อนปรน หรือลดมาตรฐานการบริหารความเสี่ยงแต่อย่างใด มุมมองต่อโครงการ Re-Finance Credit Card - กลไกตลาดในการแข่งขัน ถูกกระตุ้นโดยนโยบายผ่านการทำงานของสถาบันการเงินของรัฐ แม้ว่าจะมีสัดส่วนประมาณ 6.75% ของยอดหนี้คงค้างสินเชื่อ ~152,110 ล้านบาท - ผลประโยชน์ตกกับผู้ถือบัตรที่มีวินัยทางการเงิน — ผู้ที่ไม่มีการค้างชำระ ที่มีภาระน้อยลง - แนวทางการให้สินเชื่อโดยคิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของผู้กู้ — Risk Based Pricing ที่เป็นกระแสสากลจะเข้ามามีบทบาทและมีความเข้มข้นมากขึ้นในอนาคต โดยบางสถาบันการเงินได้เริ่มส่งสัญญาณที่จะนำเอาแนวทางนี้มาเป็นกลยุทธ์การแข่งขันในอนาคต - การแยกแยะลูกค้าที่มีประวัติการชำระเงินที่ดี หากสถาบันการเงินทำได้ดี ค่าใช้จ่ายและต้นทุนจะน้อยลง หากทำไม่ได้ตามเป้าหมายก็จะเป็นต้นทุนทางธุรกิจ - มาตราการส่งเสริมการมีวินัยทางการเงินของสถาบันการเงินต้องดำเนินการควบคู่ไปด้วยกันเพื่อกระตุ้นให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างมีเหตุผลและเป็นไปตามความจำเป็นในอนาคต ไม่ควรเป็นการกระตุ้นให้บริโภคมากเกินไป - สถาบันการเงินที่ถูก Re-Finance คงมีมาตรการทางการตลาดที่จะรักษาบัญชีเหล่านี้ของตนอย่างแน่นอน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ