กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--
สำหรับในเมืองไทยนั้น นิทรรศการงานศิลปะงานภาพ หรืองานปั้นนั้นต้องใช้คำพูดว่า เกิดยาก เพราะจำนวนประชากรส่วนใหญ่ของบ้านเมืองเรานิยมหันไปเสพสื่อบันเทิงกันมากกว่างานศิลป์ และน้อยนักที่จะหันไปเดินเที่ยวนิทรรศการ ทว่าส่งผลให้แกลอรี่ต่างๆที่เกิดขึ้นในเมืองไทยจึงมีบรรยากาศแบบเหงาๆ ไร้คนมองเห็นคุณค่าทางความคิด และในที่สุดมันก็คงจะต้องปิดตัวลงไปอย่างเงียบๆ ขณะที่ลึกๆ ในใจของผู้สร้างสรรค์ผลงานตัวน้อยๆ ยังคงรอคอยการประชาสัมพันธ์ให้เกิดความสนใจ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลงานต่างๆของพวกเขาจะมีคนจดจำได้บ้าง เพื่อมีส่วนช่วยสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้น
และนี่คือ เสียงเล็กๆ จาก แกลอรี่เหงาๆที่ดูแล้วอาจเงียบงัน แต่ผลงานนั้นไม่เป็นรองใคร ของนักศึกษาชั้นปี 4 ภาควิชาทัศน์ศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (มกท) ที่มาพร้อมกับผลงานศิลปนิพนธ์ ในรูปแบบของนิทรรศการ “สะกิด Think " เป็นการนำเสนอแนวความคิดของตนเอง และมุมมองต่อสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในสังคม ด้วยเทคนิคที่แสดงถึงตัวตนของนักศึกษา อาทิเช่น Drawing,Painting,Video Art,Installation, perfomance ฯลฯ
"นิวัฒน์ มนัสปิย" นักศึกษาชั้นปี 4 ภาควิชาทัศน์ศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ตัวแทนกลุ่ม เปิดเผยว่า นิทรรศการ"สะกิด Think" เกิดจากการตกตะกอนความคิดของคนทำงานศิลปะ ก่อรูปเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่ง ที่มีความหมายและถูกนำเสนอในสถานที่หนึ่ง ซึ่งเป็นที่เชื่อมต่อกันระหว่าผู้คนกับงานศิลปะ ในสถานที่นี้ที่ตกตะกอนความคิดของพวกเรา ซึ่งได้แปรสภาพเป็นวัตถุทางศิลปะได้มีโอกาสปรากฏตัวและเชื่อมต่อกับแหล่งผู้ชมงาน"พวกเราเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีเรื่องราว มุมมอง และแนววิธีคิดต่อสิ่งต่างๆ หลากหลายรูปอยู่ในตัว ซึ่งบางสิ่งที่เราได้ระลึกถึงมัน แทบทุกขณะจิต หรืออาจจะอยู่ใกล้ตัวเกินกว่าที่จะทันนึกถึงพวกเราจึงมีความคาดหวังที่งานศิลปะจากพวกเรานั้นจะสามารถ สะกิด เปิดสวิชต์ ความคิดของผู้ชมได้และกระตุ้นให้ตระหนักถึงบางสิ่งที่มีความสำคัญที่มีอยู่ภายในตัว และสิ่งสำคัญบางอย่างที่อยู่รอบตัว หรือเปิดมุมมองความคิดใหม่ให้ผู้ชมได้รับรู้ผ่านงานศิลปะแต่ละชิ้น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน พวกเรามีหวังอย่างยิ่งที่งานศิลปะในนิทรรศการครั้งนี้จะสามารถสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ สำหรับผู้ชมและกลายเป็นความทรงจำหนึ่งที่หลอมรวมเป็นสิ่งหนึ่งในความทรงจำของผู้ชมต่อไป"
จากนั้น นิวัฒน์ ไม่รอช้า ขอนำเสนอของตนเองที่มีชื่อว่า "The4boys" ซึ่งเจ้าตัวได้นำเสนอแนวคิดที่มาจากการเดินทางของตนเอง ผ่านศิลปะหลากหลายรูปแบบ (เสียง, วิดีโอ, การวาดรูป, รูปถ่าย)"การเดินทางของผมเกิดขึ้นบนเส้นทางของความเป็นจริง เป็นการเดินทางที่มีความหมาย เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ถูกบันทึกด้วยรูปแบบศิลปะที่ต่างกัน พื้นที่และเวลาที่เป็นเป็นความจริงที่ถูกเก็บด้วยความประทับใจ ด้วยการหยิบบางสิ่งที่ออกมาที่เกิดจากการบันทึกมาจากรอยยิ้มที่ดูแล้วเกิดความประทับใจ ผมได้นำกลับมาเชื่อมโยงและเรียบเรียงให้เข้ากันบนกำแพงที่ขาว"
อีกหนึ่งผลงานที่ได้รับความสนใจไม่น้อย ของ "วีรพล เทพสถิตย์" กับผลงานที่มีชื่อว่า “ส่วนหนึ่งของสลัม” ที่มาของผลงานนนี้เกิดขึ้นจากคำว่า “สลัม” ที่หลายคนมักเข้าใจและสรุปความหมายของคำๆ นี้ว่าว่าปัญหาความแออัดและความยากจนหรืออันตราย น้อยคนที่จะเข้าใจ คุ้นเคย หรือสัมผัสกับชีวิตในชุมชนแออัดหรือรับรู้ถึงสภาพบางส่วนของสังคมสลัมจริง ในความเป็นจริงแล้ว สังคมสลัมมีอะไรหลายๆ อย่างที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เกริ่นมาแล้วข้างต้นโครงการ“ส่วนหนึ่งของสลัม” เกิดจากความเชื่อที่ว่า ความรู้สึก อารมณ์ ประสบการณ์ และความเข้าใจของคนแต่ละคนสามารถถ่ายทอดผ่านกายภาพของวัตถุให้ผู้คนรับรู้ได้ เหตุผลที่ผมเลือกใช้ “สื่อผสม” เพราะคุณสมบัติของมิติหลายด้านของสื่อชนิดนี้ ทั้งมิติของการผสมผสานและการเอื้อกันของวิธีการจัดการที่เสริมความพิเศษให้วัสดุสามารถเผยความหมายได้อย่างเหมาะสม จึงสามารถนำมาใช้นำเสนอความคิด ความรู้สึก และประสบการณ์ของผมที่มีต่อสลัมได้ดีที่สุด "
จากนั้นต่อด้วย ผลงานชุดแปลก " อะไรก็กิน" ของ "ดี" อภิวรรณ เลาหวิศิษฏ์ ซึ่งมีที่มาจากความสุขที่เธอได้รับประทานอาหารทุกครั้ง มาพร้อมกับเรื่องราวการนำเสนอผ่านวีดีโอ "เราจะมีความสุขทุกครั้ง ไม่ว่าจะรับประทานอะไร อาจจะเป็นเพราะว่าเรามีความคิดเห็นแตกต่างจาก ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่มักจะกลัวกับความอ้วน จึงพยายามงดหรือเลี่ยงอาหารที่มีไขมันมาก และตัวเราเองก็เเตกต่างจากผู้หญิงส่วนใหญ่ ที่ชอบความสวยความงาม การที่ฉันไม่สนใจ อาจจะเป็นเพราะว่าครอบครัวดีมีแต่ผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ มีดีเป็นลูกผู้หญิงคนเดียว จึงเกิดการซึมซับพฤติกรรมที่คล้ายผู้ชาย และไม่ห่วงอ้วน ไอเดียนี้ดีจึงอยากสื่อสารให้เห็นถึงสิ่งที่ดีสนใจออกมาในรูปแบบวิดีโอคลิป และอาจารย์ก็เปิดกว้างให้เราทำตามความคิด อะไรก็ได้ก็สามารถเป็นศิลปะได้ สื่อสารได้”
และถึงเเม้รูปแบบงานศิลปะในเรื่องราวของความสุขจากการกินที่นำเสนอนั้น อาจจะเป็นเหมือนดาบสองคม ที่นำพามาทั้งน้ำหนักที่มากขึ้นและสุขภาพที่เเย่ลงก็ตาม แต่อนาคตมันก็สามารถต่อยอดเป็นสื่อการสอนที่น่าสนใจได้ “ผลงานของเราก็เน้นให้ผู้ชมได้จินตนาการจากเสียงและรู้สึกอยากติดตามกับเรื่องราวความสุขของเรา โดยดูแล้วอาจจะไม่มีสาระอะไรนะค่ะ แต่หากนำการนำเสนอแบบนี้ไปพัฒนาต่อยอดการรณรงค์โรคอ้วนหรือการมีวินัยในการกินก็จะเกิดประโยชน์จากงานศิลปะของเราอย่างแน่นอน"