กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--สวทช.
นักวิชาการเผยเหตุแมงกะพรุนโผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำนับล้านตัว บริเวณจังหวัดตรัง คาดสาเหตุอาจมาจากเข้าสู่ช่วงหน้าฝน อุณหภูมิน้ำเปลี่ยน แมงกะพรุนขึ้นมาผสมพันธุ์ อีกทั้งน้ำฝนได้ชะล้างธาตุอาหารลงสู่ทะเลจำนวนมาก ลูกแมงกะพรุนมีโอกาสรอดตายสูง เจริญเติบโตดี ประกอบกับกระแสน้ำอาจพัดพามารวมอยู่บริเวณเดียวกัน
จากกรณีนายสมหมาย หมาดทิ้ง กำนันตำบลเขาไม้แก้ว อ.สิเกา จ.ตรัง เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 นี้ พบแมงกะพรุนจานนับล้านตัวโผล่ขึ้นมาหายใจเต็มผิวน้ำเป็นครั้งที่สอง หลังจากเคยมีเหตุการณ์แมงกะพรุนใสโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำนับแสนเมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้ชาวบ้านกลับพบว่ามีแมงกะพรุนมากกว่าเมื่อเดือนเมษายนถึง 3 เท่าตัว สร้างความแปลกประหลาดใจให้กับผู้ที่พบเห็นจำนวนมาก
ดร.สุเมตต์ ปุจฉาการ นักวิชาการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี กล่าวว่า ปรากฏการณ์แมงกะพรุนที่ขึ้นมาบริเวณผิวหน้าน้ำทะเลจำนวนมาก เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ ซึ่งการขึ้นมาของแมงกะพรุนบริเวณผิวน้ำทะเลนั้นเกิดขึ้นได้ด้วยหลายปัจจัยประกอบกัน คือ 1.มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำ ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงเข้าหน้าฝน ยิ่งเฉพาะหลังฝนตก โดยน้ำทะเลที่เดิมมีอุณหภูมิสูงเย็นลง ส่งผลให้น้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงด้านล่างพยายามยกตัวขึ้นมาที่ผิวน้ำ เป็นการกระตุ้นและชักนำให้แมงกะพรุนขึ้นมารวมตัวผสมพันธุ์ที่บริเวณผิวน้ำด้วย ดังจะเห็นได้จากแถวๆ จังหวัดชลบุรี ที่ถ้าฝนตก หรือเข้าหน้าฝนเมื่อใด ชาวบ้านจะออกไปช้อนแมงกะพรุน ส่วนปัจจัยที่ 2. คือ ทิศทางของกระแสน้ำ เนื่องจากแมงกะพรุน จัดเป็นแพลงก์ตอนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ดำรงชีวิตด้วยการล่องลอยไปตามกระแสน้ำ ไม่สามารถว่ายน้ำหรือเคลื่อนที่ต้านทานกระแสน้ำได้ จึงเป็นไปได้ว่ากระแสน้ำอาจพัดพาแมงกะพรุนมารวมอยู่ในบริเวณเดียวกันพอดี
ทั้งนี้ อุณหภูมิ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อสัตว์ทะเลหลายๆ ชนิด เช่น ทากทะเล ปลิงทะเล หอย เป็นต้น โดยเมื่อใดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างฉับพลัน (temperature shock) ก็มักจะมีผลกระตุ้นให้สัตว์ทะเลมีการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ออกมาเพื่อผสมพันธุ์ด้วย ดังนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ จึงไม่ควรตื่นตระหนก หรือคิดว่าเป็นลางร้าย
เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษาด้านวิชาการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. กล่าวว่า แมงกะพรุนที่ปรากฏเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้เป็นระยะๆ ตามธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยเกิดขึ้นในทะเลฝั่งอันดามัน เช่น บริเวณจังหวัดภูเก็ต ระนอง เป็นต้น ส่วนปัจจัยที่ทำให้เกิดแมงกะพรุนจำนวนมากส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับอาหาร
“ปกติปริมาณแมงกะพรุนในธรรมชาติจะถูกควบคุมโดยตัวอ่อนที่มักจะไม่มีอาหารกิน จึงทำให้ตายไปเป็นบางส่วน แต่ถ้าฝนตกเยอะ น้ำฝนจะชะล้าง พัดพาเอาแร่ธาตุ สารอาหารลงสู่ทะเลจำนวนมาก ซึ่งครั้งนี้อาจเป็นช่วงจังหวะพอดีที่แมงกะพรุนมีการผสมพันธุ์ ทำให้ลูกแมงกะพรุน หรือตัวอ่อนแมงกะพรุนที่เกิดขึ้นใหม่มีอาหารที่อุดมสมบูรณ์ จึงมีโอกาสรอดตายสูงและเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมหาศาล
อย่างไรก็ตามการที่พบแมงกะพรุนที่จังหวัดตรังเยอะ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีฝนตกหนักที่จังหวัดตรังเสมอไป แต่อาจเกิดจากฝนที่ตกลงมาในบริเวณใกล้เคียง เช่น จังหวัดระนอง ฯลฯ จากนั้นกระแสน้ำอาจพัดพาแมงกะพรุนที่เจริญเติบโตได้ดีบริเวณนั้น มายังบริเวณจังหวัดตรังก็เป็นไปได้เช่นกัน ทั้งนี้เพราะแมงกะพรุนถือเป็นแพลงก์ตอนที่เคลื่อนที่ได้ด้วยการพัดพาของกระแสน้ำ” ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว