ความเป็นมาของโครงการ โครงการผ่าตัดหัวใจเด็กผู้ยากไร้ “รักษ์ใจหนู สู่ชีวิตใหม่”

ข่าวทั่วไป Monday February 19, 2007 16:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--รพ.บำรุงราษฎร์
สถานการณ์ผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจ
- ในเด็กเกิดใหม่ทุกๆ 1,000 คน มี 8 คน เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และ 2 คน เป็นโรคหัวใจอันมีสาเหตุมาจากไข้รูมาติกและจากสาเหตุอื่นๆ
- ในประเทศไทย หากมีเด็กเกิดใหม่ 1 ล้านคนต่อปี จะมีเด็กที่ป่วยเป็นโรคหัวใจถึง 8,000 คน และเด็กในวัยเรียนอีก 20,000 ป่วยเป็นโรคหัวใจรูมาติก
- ผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจจะมีชีวิตรอดหากมีโอกาสได้รับการตรวจรักษาอย่างทันท่วงทีจากศูนย์หัวใจ แต่หลายครอบครัวไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้เนื่องจากมีฐานะยากจน
- ด้วยขีดความสามารถและทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด โรงพยาบาลหลายแห่ง โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่อยู่ในชนบท ไม่สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึง ผู้ป่วยโรคหัวใจนับพันยังคงต้องรอคอยการรักษาอย่างทุกข์ทรมาน
ความช่วยเหลือ
ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชในปี พ.ศ. 2550 โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล และมูลนิธิโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ร่วมกับมูลนิธิเด็กโรคหัวใจ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จัดโครงการผ่าตัดหัวใจแก่เด็กผู้ยากไร้ทั่วประเทศ 80 ราย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจที่มาจากครอบครัวที่ยากจนจากทั่วประเทศให้ได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียม โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
โครงการผ่าตัดหัวใจเด็กผู้ยากไร้ 80 ราย เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการผ่าตัดหัวใจเด็กผู้ยากไร้ 50 ราย เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี พ.ศ. 2548 และโครงการผ่าตัดหัวใจเด็กผู้ยากไร้ 72 ราย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบซึ่งเป็นโครงการริเริ่มในปี พ.ศ. 2546 ภายใต้ชื่อ “รักษ์ใจหนู สู่ชีวิตใหม่” ด้วยความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะช่วยเหลือเด็กผู้ด้อยโอกาสให้พ้นความทุกข์ทรมานจากโรคหัวใจ ตั้งแต่แรกเกิดเพียงไม่กี่วันจนถึงอายุย่างเข้าวัยรุ่น ให้ได้เข้ารับการผ่าตัดรักษาอย่างเหมาะสมตามอาการของแต่ละคน ซึ่งก่อนหน้านี้เด็กโรคหัวใจที่รับเข้าโครงการส่วนใหญ่อยู่ในชนบท แทบจะหมดหวังที่จะได้เข้ารับการรักษาพยาบาล เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน อีกทั้งบางรายต้องรอนัดเพื่อเข้ารับการผ่าตัดเป็นเวลานานแม้ว่าอาการจะอยู่ในขั้นวิกฤตแล้วก็ตาม
ตลอดระยะเวลาของการดำเนินโครงการที่ผ่านมา โครงการฯ ได้รับเงินสนับสนุนจากผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคสมทบทุนจากองค์กรภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป รวมทั้งเงินบริจาคจากต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงความช่วยเหลือด้านการแพทย์และช่วยอำนวยความสะดวกในกิจกรรมต่างๆ จากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ฯ มูลนิธิโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และมูลนิธิเด็กโรคหัวใจฯ โดยทางโครงการฯ จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายระหว่างการรักษาให้ทั้งหมด นับตั้งแต่การตรวจวินิจฉัยอาการ การผ่าตัด การฟักพื้นในโรงพยาบาล การเดินทาง รวมทั้งการจัดหาที่พักให้กับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง เพื่อให้แน่ใจว่าแม้แต่ครอบครัวที่ยากจนที่สุดก็สามารถนำผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาได้จนครบทุกขั้นตอน
โครงการนี้ นอกจากเป็นโอกาสที่จะได้ถวายความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ แล้ว ยังเป็นการคืนความรักความอบอุ่นสู่ครอบครัวของผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจทั้ง 80 ราย พร้อมสุขภาพที่แข็งแรงและความหวังใหม่ในชีวิต ทั้งหมดนี้เป็นผลจากความร่วมแรงร่วมใจของคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวของทุกคนที่ได้สละเวลาอย่างทุ่มเทเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย รวมทั้งผู้ร่วมบริจาคสมทบทุนโครงการที่ช่วยทำฝันของเด็กเหล่านี้ให้เป็นจริง
คณะแพทย์ในโครงการฯ:
1. นายแพทย์การุณ เมฆานนท์ชัย ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ฯ
2. ศาสตราจารย์นายแพทย์บุญชอบ พงษ์พาณิชย์ ประธานมูลนิธิเด็กโรคหัวใจ
3. นายแพทย์สัมพันธ์ พรวิลาวัลย์ ศัลยแพทย์ด้านหัวใจเด็ก
4. นายแพทย์ปรีชา เลาหคุณากร กุมารแพทย์ด้านโรคหัวใจเด็ก
5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงธรรมบวร เนติ วิสัญญีแพทย์
6. ศาสตราจารย์แพทย์หญิงอรดี จันทวสุ กุมารแพทย์ด้านทารกแรกกิด
ข้อมูลเกี่ยวกับองค์กร
มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ
มูลนิธิเด็กโรคหัวใจฯ ก่อตั้งขึ้นในปี 2524 ต่อมาในปี 2527 สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงรับไว้ในพระอุปถัมภ์ มูลนิธิฯ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยมีวัตถุประสงค์การดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจในหลายด้าน ได้แก่ รณรงค์ให้ความรู้เรื่องโรคหัวใจ ให้การสนับสนุนด้านการศึกษาและฝึก อบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและสาขาที่เกี่ยวข้อง และช่วยเหลือผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจให้สามารถเข้าถึงการรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงที
ปัจจุบัน มูลนิธิฯ ให้ความช่วยเหลือผ่านศูนย์หัวใจของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของรัฐ ได้แก่ โรงพยาบาลเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลวชิระ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลภูมิพล โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศูนย์สระบุรี โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น และโรงพยาบาลอื่นๆ เพิ่มเติมในอนาคต
ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับมูลนิธิเด็กโรคหัวใจได้ที่ www.doctordek.com
มูลนิธิโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
มูลนิธิโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เป็นมูลนิธิเพื่อการกุศลก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2533 โดยกลุ่มผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ด้อยโอกาสในท้องที่ห่างไกลความเจริญทั่วประเทศให้ มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับสุขภาพและกิจกรรมการกุศลต่างๆ
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ฯ เปิดให้บริการเมื่อ 17 กันยายน 2523 ปัจจุบันได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในฐานะโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยความพร้อมให้บริการด้านการรักษาพยาบาลในหลายๆ ด้าน ได้แก่ คลินิกเฉพาะทาง 30 คลินิก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญกว่า900 คน พยาบาล 700 คน เตียงผู้ป่วยใน 554 เตียง รวมทั้งศูนย์บริการงานรับย้ายผู้ป่วยที่เพียบพร้อมระดับภูมิภาค ในแต่ละปีมีผู้ใช้บริการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติรวมกว่าหนึ่งล้านคนต่อปี โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ฯ เป็นโรงพยาบาลของประเทศไทยในขณะนี้ที่ได้รับการรับรองคุณภาพโรงพยาบาลระดับสากล JCIA จากสหรัฐอเมริกา
ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ฯ ได้ที่ www.bumrungrad.com .

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ