สปส.แจงยอดจัดเก็บเงินสมทบสถานประกอบการและยอดจ่ายว่างงานยังเป็นปกติ

ข่าวทั่วไป Monday June 18, 2007 15:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--สปส.
สำนักงานประกันสังคม(สปส.) แจ้งยอดการจัดเก็บเงินสมทบและการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานภายหลังการสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างตั้งแต่เดือนม.ค.—เม.ย. 2550 ย้ำยังเป็นอัตราตามปกติ ไม่มีปัญหาว่างงาน
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ณ วันที่ 30 เมษายน 2550 มีจำนวนสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับ สปส.จำนวน 378,954 แห่ง มีจำนวนผู้ประกันตนจำนวน 9 ล้านคน จัดเก็บเงินสมทบได้จำนวน 31,593.31 ล้านบาท โดยในส่วนของสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานนั้น สปส.จ่ายประโยชน์ทดแทนให้แก่ผู้ประกันตนจำนวน 43,105 คน โดยแบ่งเป็น ถูกเลิกจ้าง 15,911 คน สมัครใจลาออก 25,844 คน และสิ้นสุดสัญญาจ้าง 1,350 คน สปส. จ่ายประโยชน์ทดแทนแก่ผู้ประกันตนเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 525.24 ล้านบาท
และเมื่อเปรียบเทียบ จำนวนผู้ประกันตนที่มารายงานตัวและรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ตั้งแต่ปี 48-50 ในช่วงเวลาเดียวกัน (ณ วันที่ 30 เมษายน) พบว่าอัตราการเพิ่มเป็นไปตามปกติตามจำนวนสถานประกอบการและจำนวนผู้ประกันตนที่เพิ่มมากขึ้น กล่าวคือ เม.ย.48 สปส.จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานให้แก่ผู้ประกันตน จำนวน 19,550 คน เป็นเงิน 62.8 ล้านบาท เม.ย.49 จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานให้แก่ผู้ประกันตน จำนวน 27,124 คน เป็นเงิน 87.32 ล้านบาท ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวนี้ ถือว่าการจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ไม่ได้ผันแปรไปตามสภาพเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะชะลอตัวแต่อย่างใด
ส่วนจำนวนสถานประกอบการ จำนวนผู้ประกันตน และอัตราเงินสมทบ ในปี 49 ที่ผ่านมา ยังคงมีอัตราเพิ่มขึ้น โดยจำนวนสถานประกอบการเพิ่มขึ้น ในอัตราร้อยละ 3.63 จำนวนผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 4.64 คน และ จำนวนเงินสมทบเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 9.58
ทั้งนี้ผู้ประกันตนที่ได้รับความคุ้มครองในกรณีว่างงานนั้น จะต้องเป็นผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน เมื่อผู้ประกันตนว่างงานไม่ว่าจะเป็นการลาออก สิ้นสุดสัญญาจ้างหรือถูกเลิกจ้าง ควรรีบไปขึ้นทะเบียนหางานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐ เพื่อขอรับเงินทดแทนตามสิทธิที่ผู้ประกันตนพึงจะได้รับจากสำนักงานประกันสังคมภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พ้นจากการเป็นลูกจ้างเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ครบถ้วน ทั้งนี้ หากผู้ประกันตนไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานล่าช้าเกินกว่า 30 วัน เงินทดแทนที่จะได้รับจะลดส่วนลงตามวันเวลาที่มายื่นขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน โดยในกรณีที่ว่างงานเพราะถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ส่วนกรณีที่ลาออกโดยสมัครใจหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้าง
ศูนย์สารนิเทศ สายด่วน 1506 / www.sso.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ