กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--สสวท.
ความเก่ง เป็นความสามารถเฉพาะบุคคลทั้งในส่วนที่ติดตัวมาและส่วนที่สามารถพัฒนาได้ การที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสติปัญญาอย่างเดียว ต้นทุนชีวิตด้านอื่น ๆ นั้น ก็เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัด “ค่ายคณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6” ให้แก่นักเรียนในโครงการอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. จังหวัดปทุมธานี จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ สสวท. ได้จัดการประชุมอบรมชี้แจงให้แก่ผู้ปกครองในโครงการ ฯ ไปพร้อมกัน
งานนี้ นายแพทย์ สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มาบรรยายพิเศษให้ผู้ปกครองของเด็กเก่งเหล่านี้ฟังเรื่อง “บทบาทของผู้ปกครองกับการส่งเสริมความเบ่งบานของอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของลูก”
นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาดี กล่าวว่า “งานที่หมอเข้าไปทำ คือ การพัฒนาชุมชนให้เป็นพี่เลี้ยงของวัยรุ่นได้ด้วยชุมชนของเขาเอง เพื่อเป็นต้นทุนชีวิต สังคมปัจจุบันเป็นสังคมของการแข่งขัน แบ่งเหล่า แบ่งพวก ค่านิยมในการทำความดีถดถอย ใช้ชีวิตให้สุข ดี แล้วค่อยเก่ง เอาความสุขและความดีของเด็กมาก่อน ถ้าคนเรามีความสุขและเอื้อความสุขของเราสู่คนรอบข้าง เกิดสังคมที่มีความสุข แล้วความเก่งก็จะตามมาเอง อย่าทำให้ความสุขสั่นคลอน ถ้าความสุขสั่นคลอน สิ่งที่ไม่พึงประสงค์ก็จะตามมา”
เก่งอย่างเดียว ไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของชีวิต ความเก่งและความสำเร็จต่าง ๆ มาจากพลัง “ต้นทุนชีวิต”
"ต้นทุนชีวิต" คืออะไร?
ต้นทุนชีวิต มาจากคำว่า Life's Assets หมายถึง ต้นทุนขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการพัฒนาทางด้านจิตใจ สังคม สติปัญญาให้คนๆ หนึ่งสามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมได้อย่างเข้มแข็ง ต้นทุนชีวิตเป็นปัจจัยสร้าง หรือเป็นปัจจัยเชิงบวกทางด้านจิตใจ อารมณ์ สังคม ที่จะหล่อหลอมให้เด็กคนหนึ่งเจริญเติบโตและดำรงชีพอยู่ในสังคมได้
ถ้าต้นทุนชีวิตอ่อนแอ จะมีปัญหาเกิดขึ้นตามมามากมาย ยกตัวอย่าง การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ที่ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดความรัก เพราะเมื่อไหร่ที่เด็กค้นหาความรักที่ควรจะมีจากพ่อแม่ จากสถาบันการศึกษา หรือกับคนที่ไว้วางใจที่มีความผูกพันไม่เจอ สุดท้ายจะไปหาความรักจากภายนอก ยาเสพติด การใช้ความรุนแรง ฯลฯ
ต้นทุนชีวิต ประกอบด้วย พลังตัวตน (ค่านิยม) พลังครอบครัว พลังสร้างปัญญา วัฒนธรรม ศาสนา สื่อ จากการสำรวจเด็กวัยรุ่นในไทย พบว่า ต้นทุนชีวิตที่น้อยที่สุด คือ การแบ่งปันน้ำใจ
ทุกคนมีต้นทุนชีวิตในระดับหนึ่งแล้ว และจะเพิ่มขึ้นตามการเลี้ยงดู และสภาพแวดล้อม แต่สังคมปัจจุบัน ทำให้ชีวิตผู้คนมีความเป็นวัตถุนิยม ห่างไกลธรรมชาติมากขึ้น พ่อแม่จำนวนไม่น้อยเลี้ยงลูกแบบ ขาดความเข้าใจในพัฒนาการ มีความคาดหวังเกินความเป็นจริงจนเกิดความเครียด
เด็กคนใดเกิดมาท่ามกลางครอบครัวและสิ่งแวดล้อมที่อบอุ่น มีความเข้าอกเข้าใจกัน ต้นทุนชีวิตก็จะพัฒนาเพิ่มพูนเป็นทุนที่เข้มแข็ง เด็กคนใดเกิดมาท่ามกลางความขัดสน ด้อยโอกาส เติบโตในสังคม สิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้สิ่งที่ดี ต้นทุนชีวิตก็จะถูกบั่นทอน ลดลงไปเรื่อย ๆ
สมัยก่อนสังคมไทยเป็นครอบครัวขยาย มีชุมชนที่เข้มแข็ง มีความสมานฉันท์ อยู่กันด้วยความรัก มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน รู้จักการแบ่งปัน การให้ การทำกิจกรรมร่วมกัน นี่คือต้นทุนชีวิตแบบไทย ๆ ที่มีอยู่แล้ว แต่บัดนี้ต้นทุนเหล่านี้เปลี่ยนไป
บ้านเป็นที่ชาร์ตแบต หรือ ทำลายแบตของลูก ทุกวันนี้ โรงเรียนกี่แห่งที่มีสถานที่ชาร์ตแบตชีวิตให้เด็ก สถานที่ใดในชุมชนเป็นที่ชาร์ตแบตให้เด็ก ?
พ่อแม่ต้องทำให้เป็น Happy Home หรือบ้านที่มีความสุข เมื่อลูกก้าวเข้ามาในบ้าน จะทำให้ลูกเกิดความสุข อบอุ่น มีกำลังใจที่จะออกไปเผชิญปัญหาอุปสรรคนอกบ้าน
บทบาทของการเป็นพ่อแม่ ต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ฟังที่ดี ซึ่งมี 3 ระดับ ได้แก่
ระดับที่ 1 ฟังอย่างเดียว คือ ฟังอย่างตั้งใจและมีสติ
ระดับที่ 2 ฟังแล้วเสริมกำลังใจ ทำให้ผู้เล่ามีความสุขกับการเล่า อยากเล่าต่ออีก
ระดับที่ 3 ฟังแล้วเสริมพุทธิปัญญา
“เทคนิคของการพูดคุยกับลูกนั้นจะต้อง เปิดใจรับฟัง เปิดความคิด สร้างข้อตกลงร่วมกัน เปิดโอกาสลงมือทำ สร้างทางออกที่หลากหลาย ถ้าเราคุยกัน ทำความเข้าใจกัน สร้างข้อตกลงร่วมกัน ยอกรับกันได้ เราจะไม่เป็นทุกข์”
ลักษณะของพ่อแม่ที่ไม่ค่อยมีปัญหากับลูก ก็คือ ให้ความรักอบอุ่น ให้ความไว้วางใจ
มีการสื่อสารที่ดีต่อกัน ต่างคนต่างไว้ใจ ปรึกษาหารือ หรือเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่ประสบมาให้ฟัง มีการยอมรับฟัง พ่อแม่สามารถแสดงความคิดเห็นคล้อยตามหรือขัดแย้งกันได้ในบรรยากาศที่เป็นกันเอง มีวินัยเชิงบวก คือ มั่นคง มีหลักการ มีเหตุผล มีความยืดหยุ่น ควบคุมตัวเองได้ดีทั้งอารมณ์และพฤติกรรม พ่อแม่มีการยอมรับความสามารถของเด็ก เข้าใจและสนับสนุนความสามารถด้านอื่น ๆ
ความพอดีของชีวิต ...จริงๆ แล้วเราใช้ชีวิตอยู่กับอะไร ?
สังคมปัจจุบันเป็นแบบ Fast Life คือใช้ชีวิตแบบเร่งรีบ ทำให้หัวใจเต้นเร็ว เลือดสูบฉีดเร็ว
ตึงเครียด ยับยั้งอารมณ์ไม่ได้ ในขณะที่ชีวิตแบบ Flow Life ประกอบด้วย ความสามารถในการปรับตัว การใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและมีค่า มองโลกในแง่ดี มีการบริหารจัดการที่ชาญฉลาด
ถ้าเราเลี้ยงลูกเฉพาะทุนด้านวัตถุ เร่งรัดเรียน โดยขาดทุนชีวิต เด็กจะกลายเป็นหุ่นยนต์ ฉะนั้นคงต้องเน้นมิติทุนชีวิตให้มากขึ้น
อำนาจของพ่อแม่ยิ่งลดลงเมื่อลูกก้าวเข้าสู่วัยรุ่น เราเลี้ยงลูกช่วงที่เป็นวัยรุ่น ประคับประคองให้ได้ทุนสังคม และทุนชีวิตจะให้ เขาเป็นผู้ใหญ่ที่สมัครสมานสามัคคี ไปด้วยกัน ต้องทำไปพร้อมกันทั้งประเทศ ตอนนี้เป็นปัญหาเยอะมากในการทำให้สังคมเอื้ออาทร สมัครสมานสามัคคี
“เด็กทุกคนมีศักยภาพและมีคุณค่า”
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่นายแพทย์ สุริยเดว ทรีปาตี ได้กล่าวให้แง่คิดไว้แก่ผู้ปกครองนักเรียนในโครงการอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของ สสวท.
การเสริมต้นทุนชีวิตให้เด็กเก่ง หรือเด็กที่มีความสามารถพิเศษ จึงนับว่าเป็นความจำเป็น เนื่องจากการมีต้นทุนชีวิต จะนำไปสู่การเป็นพลเมืองที่ดี และเป็นกำลังหลักของสังคมไทยในอนาคต
ในส่วนของ สสวท. นางดวงสมร คล่องสารา รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้กล่าวว่า ผู้ปกครองในโครงการ ฯ มีบุตรหลานที่มีความสามารถพิเศษ และผู้ปกครองเองก็มีศักยภาพที่จะดูแลบุตรหลานเป็นอย่างดี ทำให้มีโอกาสดีกว่าเด็กอื่นๆ อีกหลายคน อยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองส่งเสริมลูกอย่างที่เขาควรจะเป็น ไม่ควรนำความต้องการของตนเองมาผลักดันลูก ถ้าลูกได้ทำสิ่งที่ตัวเขาเองสนใจ อยากทำ และอยากเป็น เขาจะมีความสุขที่สุด แต่ถ้าผู้ปกครองให้เด็กแบกรับความคาดหวังจากพ่อแม่และสังคมรอบตัว เด็กก็จะเกิดความกดดันและเกิดความรู้สึกแพ้ไม่ได้
“ผู้ปกครองไม่ควรปลูกฝังให้เด็กมุ่งแต่การแข่งขัน เอาชนะ ถ้าเด็กแพ้ไม่เป็นจะปรับตัวอยู่ในสังคมได้ยาก อยากเห็นเด็ก ๆ มีความสุข ความมั่นใจ รู้จักรับผิดชอบต่อสังคม รู้จักการให้และแบ่งปัน”