กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--แบรนด์เอเชีย คอมมิวนิเคชั่น
เราจะเป็นครัวของโลกที่มีคุณภาพได้อย่างไร หากผู้บริโภคขาดความไว้วางใจในผลิตผลการเกษตรของไทย จากที่มีข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งห้ามส่งออก พืชผัก 16 ชนิดไปตลาด อียู (EU) เพราะประเทศผู้นำเข้าปลายทางตรวจพบศัตรูพืชบนพืชผักที่ส่งออกไปจากประเทศไทย และตรวจพบสารตกค้างในผักไทยอยู่อย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้ทำให้มีการพูดถึง ระบบการเกษตรที่ดี หรือ Good Agricultural Practice หรือเรียกย่อๆว่า GAP ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ปฏิบัติกันอยู่ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป หรือ อียู
ดร.สุจินต์ จันทรสอาด ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาด ลัดดา กรุ๊ป กล่าวว่า “ในระบบ GAP นอกจากการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติต่างๆทางการเกษตรแล้ว ยังมีการกำหนดมาตรฐานการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Pesticides) ไว้อย่างเข้มงวด เช่น กำหนดการเว้นระยะเวลาใช้สารเคมีครั้งสุดท้ายก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต สำหรับสารเคมีแต่ละชนิดและสำหรับพืชแต่ละชนิด ทั้งนี้ เพื่อกำหนดปริมาณสารเคมีตกค้างสูงสุดบนผลผลิตทุกชนิด โดยไม่ให้มีเกินมาตรฐานที่กำหนด เรียกว่า Maximum Residue Limits หรือเรียกย่อๆว่า MRL
ค่า MRL มาจากใหน ?
กว่า 30 ปีมาแล้ว ที่ผู้ชี่ยวชาญจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาประเมินและได้กำหนดค่าปริมาณสารตกค้างสูงสุดของสารเคมีที่ใช้ได้ตามกฏหมายในแต่ละประเทศบนพืชแต่ละชนิด ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ ที่ถือว่า ไม่เป็นอันตรายสุขภาพของผู้บริโภค จึงเรียกว่า Codex MRLs และให้ใช้เป็นมาตรฐานในการค้าระหว่างประเทศ
แต่ละประเทศก็มีการกำหนดค่า MRL ของตนขึ้นมา เรียกว่า National MRLs เช่น สหภาพยุโรป ก็จะมีค่า EU MRLs และประเทศญี่ปุ่น ก็จะมีค่าที่เรียกว่า The Japanese List System for Agricultural Chemical Residues in Foods ที่เราจะต้องยึดเอาเป็นมาตรฐาน ถ้าเราต้องส่งสินค้าเกษตรเข้าไปในตลาด เหล่านี้
สำหรับประเทศไทย สำนักงานมาตรฐานสินค้าและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีประกาศ มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ว่าด้วย สารพิษตกค้าง : ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (Pesticide Residues : Maximum Residue Limits) ตามเอกสาร มกอช. 9002-2008
GAP เกี่ยวข้องกับ MRL อย่างไร ?
ถ้าระบบการผลิตของเกษตรกรเป็นไปตามระบบ GAP ผลผลิตที่ได้ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องสารตกค้างเกินค่า MRL ที่กำหนด เปรียบเสมือน “ต้นน้ำใส” ปลายน้ำก็ “ไม่ขุ่น”
ดังนั้นการให้ความรู้แก่เกษตรกรในการใช้เทคโนโลยีควบคุมคุณภาพผลผลิตเป็นเรื่องสำคัญและหากทำอย่างถูกต้องแล้วยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น บริษัท ลัดดา ได้ทำการทดสอบวิเคราะห์สารเคมีตกค้างบนผลมะม่วง โดยทำการพ่นสารโพรคลอราซ (Prochloraz 50% WP) อัตรา 20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร จำนวน 4 ครั้ง ทุกๆ 7 วันและเว้นระยะก่อนเก็บเกี่ยว 7 วัน เมื่อนำผลมะม่วงไปวิเคราะห์ปริมาณสารโพรคลอราซบนผลมะม่วง ที่ห้องปฏิบัติการกลาง ของกระทรวงเกษตรฯ พบว่า มีสารโพรคลอราซตกค้างบนผลมะม่วงเพียง 0.7 ppm ซึ่งค่า MRL นี้ต่ำกว่าที่ประเทศอียูและญี่ปุ่นกำหนดไว้ เท่ากับ 2.0 ppm
เมื่อนำไปถ่ายทอดแก่เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงส่งออก คุณมานพ แก้ววงษ์นุกูล นายกสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย ได้ตัดสินใจใช้สารโพรคลอราซ 50%WP เป็นสารเคมีหลักในการป้องกันกำจัดเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคแอนแทรคโนส (โรคผลมะม่วงเน่า) ในฤดูการผลิตปีที่แล้ว ช่วยให้ประหยัดค่าสารเคมีลงได้เป็นแสนบาท เพราะใช้ชนิดของสารเคมีน้อยลง จำนวนครั้งที่พ่นน้อยลง ด้วยประสิทธิภาพของสารเคมี และยังไม่ต้องกังวลใจเรื่องสารเคมีตกค้าง เพราะในทางปฏิบัติ เกษตรกรจะเว้นระยะก่อนเก็บเกี่ยวประมาณ 1 เดือน หลังจากห่อผลมะม่วงแล้ว นี่เรียกว่าเป็น GAP ต้นน้ำ
GAP ในประเทศไทย
กรมวิชาการเกษตรได้ริเริ่ม GAP มาไม่ต่ำกว่า 10 ปีแล้ว โดยชักชวนให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ GAP ด้วยความสมัครใจ เรียกว่า voluntary GAP แต่ปัจจุบันได้มีกฏหมายใหม่ออกมาเมื่อปี 2551 เรียกว่า พ.ร.บ. มาตรฐานสินค้าเกษตร ดังนั้น ระบบการผลิตเกษตรกรรม ณ วันนี้ จึงน่าจะเรียกว่า compulsory GAP (ข้อกำหนดที่ต้องปฏิบัติ) ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการบังคับใช้ระบบ GAP ตามกฎหมายนี้แล้วหรือยัง
ทางสภาหอการค้าไทย ก็เคยให้ข้อคิดเห็นว่า ระบบการผลิต GAP จะเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวในเรื่อง สารตกค้าง สำหรับพืชผักและผลไม้ส่งออกได้ และเสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำเอาระบบ GAP มาบังคับใช้กับเกษตรกรทุกราย เพื่อยกมาตรฐานการเกษตรของไทยและเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว สำหรับตลาดในประเทศและการส่งออกสินค้าเกษตร