“โซเชียลเน็ตเวิร์ค (Social Network) ลดอาชญากรรม จริงจัง ต่อเนื่อง”

ข่าวทั่วไป Friday May 20, 2011 13:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--ม.ลัยอัสสัมชัญ “โซเชียลเน็ตเวิร์ค (Social Network) ลดอาชญากรรม จริงจัง ต่อเนื่อง”สน. หัวหมาก กองบังคับการตำรวจนครบาล 4 กองบัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมกับ ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และเครือข่ายภาคีองค์กรรัฐ-เอกชน ในพื้นที่ สน.หัวหมาก พล.ต.ต. อนันต์ ศรีหิรัญ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต. สุธีร์ เนรกัณฐี ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4 และ พ.ต.อ.สรรค์หกิจ บำรุงสุขสวัสติ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก ร่วมกับ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ แถลงข่าวโครงการความร่วมมือกับเครือข่ายภาคีองค์กรรัฐ-เอกชน ในพื้นที่ สน.หัวหมาก โครงการ “โซเชียลเน็ตเวิร์ค (Social Network) ลดอาชญากรรม จริงจัง ต่อเนื่อง” ผ่านทางระบบข้อมูลสั่งการภายในองค์กร (C3 I) เครือข่ายวิทยุสื่อสารตำรวจ และการแจ้งโดยตรงจากพลเมืองดีหรือผู้เสียหาย คาดจะมีประชาชนเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์คกว่า 1 หมื่นคนช่วยลดอาชญากรรมในพื้นที่ สน. หัวหมาก เป็นโครงการนำร่อง ผู้กำกับ สน.หัวหมาก กล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยทำให้ลดปัญหากำลังพลของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่เราจะได้ประชาชนที่พักอาศัยหรือทำงานในพื้นที่ สน. หัวหมาก มาช่วยเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสปัญหาอาชญากรรมในพื้นที่จำนวนมาก คาดว่า ปัญหาอาชญากรรมจะลดลงเพราะคนร้ายจะถูกจับตามองจากสายตาหลายหมื่นคู่ในกลุ่มสมาชิกเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์ค ลดอาชญากรรม จริงจัง ต่อเนื่อง เพราะโครงการนี้จะทำให้พื้นที่กว้างใหญ่ของ สน.หัวหมากจะแคบลงกลายเป็นเหมือนพวกเราอยู่ในครอบครัวเดียวกันที่จะทำให้การจะกระทำความผิดอยู่ในสายตาของสมาชิกทุกคน “ทาง สน.หัวหมากมีความพร้อมทั้งในด้านบุคลากร สถานที่ ทรัพยากร และข้อมูลเครือข่าย โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง จึงไม่เป็นอุปสรรคในการรายงานและรับแจ้งเหตุทั้งผ่านเครือข่าย Social Network หรือผ่านทางโทรศัพท์ของ สน.หมายเลข 02-319-3001 พร้อมทั้งนี้ยังมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านทางอุปกรณ์สื่อสารทั้งโน้ตบุ๊คและโทรศัพท์มือถือ พร้อมทั้งรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบและสามารถสั่งการได้ทันทีเมื่อได้รับการแจ้งเหตุ โดยโครงการนี้ได้รับเป็นแนวคิดจากทางศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของกองบังคับการตำรวจนครบาล 4 และท่านผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในการลดปัญหาอาชญากรรมในพื้นที่ให้น้อยลงตามนโยบายของรัฐบาลทุกรัฐบาลที่ผ่านมา” พ.ต.อ.สรรค์หกิจ กล่าว ดร.นพดล กล่าวว่า แนวคิดนี้ได้นำเสนอต่อ ผู้กำกับ สน.หัวหมาก เนื่องจากได้ทำการศึกษาวิจัยปัญหาอาชญากรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศพบว่า ในโลกยุคปัจจุบันที่มีแนวโน้มคนใช้อินเตอร์เนตและโทรศัพท์มือถือมากขึ้น และมีการทดลองใช้ในหลายประเทศได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในการลดปัญหาอาชญากรรมและความมั่นคงของประเทศ จึงเสนอให้นำมาใช้เป็นโครงการนำร่องในพื้นที่ สน.หัวหมาก ก่อน “แนวทางดำเนินโครงการนี้เริ่มจากขอความสมัครใจจากประชาชนที่พักอาศัย หรือเดินทางมาทำงาน เรียนหนังสือในพื้นที่ สน.หัวหมากเป็นประจำ ได้ให้อีเมล เฟซบุค ทวิตเตอร์ และเบอร์มือถือ เพื่อส่งข้อความว่าเกิดเหตุอะไร รูปร่างหน้าตา และยานพาหนะของคนร้ายหรือผู้ต้องสงสัยเป็นอย่างไร โดยเข้าดูรายละเอียดที่เว็บไซต์ของ สน.หัวหมาก เพื่อป้องกันการแจ้งเท็จ และจะทำให้สมาชิกที่อาจจะอยู่ในที่เกิดเหตุหรือพบเจอคนร้ายได้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบเพื่อติดตามจับกุมได้ต่อไป โดยคาดว่าเราจะได้ความร่วมมือจากประชาชนและองค์กรภาคีภาครัฐ — เอกชนในพื้นที่ สน.หัวหมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล โรงเรียน มหาวิทยาลัย หอพัก ร้านทอง ธนาคารและห้างร้านต่างๆ ประมาณกว่า 1 หมื่นภายใน 1 เดือน จะทำให้ สน.หัวหมากมีกำลังประชาชนเป็นพันธมิตรเพิ่มขึ้น และกลุ่มโซเชียลเน็ตเวิร์คนี้จะเป็นชุมชนที่เคลื่อนไหวคือ Moving Community และมีฟังก์ชั่นแบบ Watchdog ด้านอาชญากรรม เพิ่มความปลอดภัยในกับตนเองอีกด้วย” ผอ.ศูนย์วิจัยความสุข กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ