กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--สสวท.
จากการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน ครั้งที่ 2 ซึ่ง สถาบันส่งเสริมการสอน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ศ. ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึง “เส้นทางอาชีพนักวิทยาศาสตร์ไทย” ว่า การเป็นนักวิจัยเริ่มต้นเรียนจากครูและพี่เลี้ยงค่อย ๆ ไต่มาเป็นผู้ร่วมวิจัย และผู้นำทีม นักวิจัยควรสามารถช่วยเหลือประเทศได้ทั้งแนวดิ่งและแนวราบ เส้นทางของนักวิจัย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันก้าวไปสู่การแข่งขันทางด้านอุตสาหกรรม เน้นสินค้าเชิงปริมาณ แต่ตอนนี้ผู้บริโภคถึงจุดอิ่มตัว การบริโภคเน้นไปทางด้านสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะมากกว่า แต่ขณะนี้ความสามารถการแข่งขันโดยรวมของไทยยังต่ำกว่าประเทศข้างเคียงอยู่มาก อนาคตอุตสาหกรรมไทย ต้องพึ่งความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากการวิจัยมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อแก้ปัญหาให้วงการอุตสาหกรรม ถ้าพึ่งพาแต่เทคโนโลยีต่างชาติ จะเสี่ยงต่อการพัฒนาประเทศ ไทยน่าจะใช้บทเรียนจากความสำเร็จของประเทศอินเดียและญี่ปุ่นในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศ
ในส่วนของประเทศญี่ปุ่นนั้น เน้นหนักในภาคเอกชนและอุตสาหกรรม ตอนนี้รัฐบาลญี่ปุ่นออกกฎหมายสนับสนุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานมากขึ้น สำหรับประเทศอินเดีย มีการสนับสนุน องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ขั้นพื้นฐ้านมาโดยตลอด แต่ยังขาดการนำไปใช้ทางอุตสาหกรรม จนกระทั่งเมื่อ 5- 10 ปีที่แล้ว สถานการณ์โลกเปลี่ยนไป กลายเป็นว่าแรงงานด้านสมองของอินเดียที่ร่ำเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์พื้นฐาน กลายเป็นที่นิยม และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีความต้องการแรงงานด้านดังกล่าวของอินเดียมาก ขณะนี้รัฐบาลไทยมีแผนแม่บทพื้นฐานทางปัญญาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งกระทรวง วิทยาศาสตร์ร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันทำแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา โดยเน้น 3 ส่วน ได้แก่ เอกชนสร้างพื้นฐานทางปัญญาของตนเองได้ รัฐผลิตบุคลากรที่จะสร้างปัญญาให้ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ และความสามารถ การแข่งขันโดยรวม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องเข้าไปมีส่วนผลักดันสิ่งเหล่านี้ให้ดีขึ้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีบทบาทสำคัญยิ่ง เน้นสร้างคน — ระบบ — วิทยาการ สำหรับการสร้างคนมีโครงการปลูกฝังปัญญาเยาว์ เน้นตั้งแต่ออกจากท้องแม่ ซึ่งผมได้เรียนรู้แนวคิดนี้ตอนที่ได้ร่วมทำงานกับคณะกรรมการ สสวท. เชื่อว่าก่อนวัยเรียนสำคัญมากเชื่อมโยงถึงวัยทำงานจนถึงวัยเกษียณเลยทีเดียว รวมทั้งการให้ผู้ด้อยโอกาสเข้าถึงความรู้และปัญญาได้โดยสร้างเครื่องมือและโอกาสทางการศึกษา ด้าน พระราชบัญญัติ ถ้าผ่าน ครม.ไปได้ก็จะมี พรบ. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ รวมทั้งมีการจัดตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยชั้นสูง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่บ่งชี้ว่ารัฐต้องให้ความสนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และรัฐมนตรีต้องมาดูแลเรื่องนี้ชัดเจนวิทยาการใหม่ ๆ ซึ่งเป็นที่น่าจับตามอง เช่น เทคโนโลยีสีเขียวแบบผสมผสาน เซลล์แสงอาทิตย์ และเซลล์เชื้อเพลิง ชีวโมเลกุลที่ผลิตในแบคทีเรีย ซึ่งนอกจากจะเน้นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้วจะต้องเอื้อต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวต่อผู้เข้าร่วมประชุมว่า การเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีต้องมีหลักการสำคัญคือ การใฝ่เรียนรู้ด้วยตนเอง ให้ลึกและกว้าง และต้องมีความเชื่อมั่นในคุณภาพความเป็นมืออาชีพ ไม่ย่อท้อ เมื่อผิดหวัง นอกจากนี้ต้องมีคุณธรรม จริยธรรม ให้คุณธรรรมนำความรู้ หัดตั้งคำถามให้เป็น ตั้งสมมุติฐานที่ดี หาความรู้ความชำนาญจากผู้ชำนาญในวงการด้านแนวทางเฉพาะของตน ฝึกการทำวิจัยแบบกลุ่ม เพราะการทำงานด้านนี้มักจะทำงานเป็นกลุ่มเป็นทีม
สินีนาฎ ทาบึงกาฬ
โทร. 0-2712-3604, 089-122-6513
โทรสาร 0-2392-3167