กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--ก.ไอซีที
นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยถึง การประชุมคณะทำงานร่วมด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ณ เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ว่า กระทรวงไอซีที ได้เข้าร่วมการประชุมคณะทำงานร่วมด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศฯ กับผู้แทนจากประเทศต่างๆ คือบรูไน ดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม รวมถึงเจ้าหน้าที่จากศูนย์ไอซีทีอาเซียน (ASEAN ICT Centre) และสำนักเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วมการประชุม รวมทั้ง เข้าร่วมการประชุมหารือระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี สหภาพยุโรป อินเดีย และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศด้วย
“การประชุมครั้งนี้เน้นสาระสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาเซียน (ASEAN ICT Masterplan 2015 : AIM 2015) ซึ่งแผนแม่บทดังกล่าวได้มีการรับรองในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 10 เมื่อเดือนมกราคม 2554 โดยได้มีการแบ่ง-การประชุม-คณะทำงานตามยุทธศาสตร์แผนแม่บทฯ เป็น 2 คณะ คือ คณะทำงานกลุ่มที่ 1 รับผิดชอบยุทธศาสตร์ที่ 1 Economic Transformation ยุทธศาสตร์ที่ 2 People Empowerment & Engagement ยุทธศาสตร์ที่ 3 Innovation และ ยุทธศาสตร์ที่ 5 Human Capital Development ส่วนคณะทำงาน กลุ่มที่ 2 รับผิดชอบยุทธศาสตร์ที่ 4 Infrastructure Development ยุทธศาสตร์ที่ 6 Bridging the Digital Divide” นางจีราวรรณ กล่าว
ด้าน นางสาวอารีวรรณ ฮาวรังษี ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ในฐานะประธานคณะทำงาน กลุ่มที่ 1 กล่าวว่าสาระสำคัญของการประชุมฯ นี้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาแผนงาน/โครงการภายใต้แผนแม่บทฯ และมีการกำหนดประเทศที่จะทำหน้าที่ Lead Country ในแต่ละโครงการ เพื่อเร่งรัดการดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ส่วนประเทศไทยได้รับหน้าที่เป็น Lead Country ใน 2 แผนงาน คือ 1.Develop ICT Skills Certification & Skill Upgrading และ 2.Promote Secure Transactions within ASEAN โดยประเทศไทยได้มีการจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อรองรับแผนงานดังกล่าวของอาเซียน คือ โครงการ ASEAN ICT Skill Standard Definitions and Certifications / ASEAN-ISSDac และโครงการ Intra - ASEAN Secure Transactions Framework โดยโครงการของประเทศไทยจะได้รับการพิจารณาสนับสนุนเงินจากกองทุน ASEAN ICT Fund
ส่วนการประชุมคณะทำงานกลุ่มที่ 2 ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศบรูไนเป็นประธาน มีสาระสำคัญในการประชุมเกี่ยวกับการพิจารณาแผนงานที่เน้นเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการลดช่องว่างทางดิจิทัล โดยประเทศไทยได้นำเสนอโครงการ Establish an ASEAN Broadband Corridor and ASEAN Internet Gateway / AIG และที่ประชุมเห็นว่าเป็นโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สอดคล้องกับแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (Masterplan on ASEAN Connectivity) ซึ่งประเทศไทยจะนำเสนอต่อที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสต่อไป
สำหรับการประชุมคณะทำงานร่วมกับคู่เจรจานั้น อาเซียนได้นำเสนอโครงการ/แผนงาน ที่จะดำเนินการในช่วงปี 2011 ให้ประเทศคู่เจรจาพิจารณาให้การสนับสนุน รวมทั้งได้ชี้แจงการปรับโครงสร้างของคณะทำงาน- ให้สอดคล้องกับแผนแม่บทของอาเซียน โดยการประชุมระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจาต่างๆ นั้นมีสาระสำคัญ คือ ITU ได้นำเสนอโครงการความร่วมมือที่สอดคล้องกับการส่งเสริมประสิทธิภาพของอาเซียน ได้แก่ Linkage BDT Programme and foundations of ASEAN ICT Vision ITU, Asia-Pacific Programme รวมถึงร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนและ ITU ส่วน อินเดีย ได้นำเสนอโปรแกรมการฝึกอบรมโดยเฉพาะ Software Development สำหรับประเทศกัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม การพัฒนาศักยภาพบุคลากร การวิจัยและพัฒนา การจัดตั้งศูนย์การฝึกอบรมในประเทศกัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม การให้ทุนสนับสนุนภายใต้โครงการฝึกอบรม โครงการ ASEAN e-Network ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาสนับสนุนทุนจากกองทุนอาเซียน-อินเดีย
ด้าน ญี่ปุ่น ได้นำเสนอความก้าวหน้าของแผนงาน ASEAN-Japan ICT Workplan for 2011 ประกอบด้วย การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางสารสนเทศของอาเซียน การใช้และการพัฒนาด้านไอซีที อาทิ การใช้ไอซีทีกรณีเกิดภัยพิบัติ เช่น ระบบ Warning System through the mobile network, Disaster message Board through the Internet การนำเสนอกรอบนโยบายและกฎระเบียบการกำกับดูแล การพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยญี่ปุ่นจะได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการให้กับสมาชิกอาเซียน ทั้งนี้ ในส่วนของการดำเนินการตามแผนแม่บท AIM 2015 ขณะที่ จีน ได้นำเสนอแผนงานความร่วมมือด้านไอซีที ปี 2011 ประกอบด้วย -การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนโยบายและการพัฒนา การแลกเปลี่ยนเพื่อมุ่งส่งเสริมการใช้ ICT สำหรับ SME การแลกเปลี่ยนและความร่วมมือในการก่อสร้างและการใช้โครงข่ายบรอดแบนด์ การแลกเปลี่ยนด้าน e-learning การแลกเปลี่ยนโครงข่ายด้านความมั่นคง ความร่วมมือด้านการพัฒนาและการอบรมบุคลากร นอกจากนี้ จีนกำหนดจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ความรู้และยกระดับประสิทธิภาพบุคลากรให้กับอาเซียน ได้แก่ China - ASEAN Workshop on ICT Application in SMEs, Chin a - ASEAN Seminar on Long - range Education Cooperation, China - ASEAN Workshop on Broadband Communication Technology and Application เป็นต้น