กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
สำนักวิจัยและพัฒนา ม.อ. ชูโครงการวิจัยแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้วางเป้าหมาย 10 ปี ตั้งเป้ามีงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ 883 ชิ้น โดยมากกว่า 50% เป็นงานวิจัยด้านการศึกษา สังคม การบริหารการจัดการ เชื่อมีทางออกในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่ทำท่าจะทวีความรุนแรงขึ้น ขณะที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยแนะเพิ่มการวางแผนระยะสั้น เร่งดึงความสงบกลับคืนสู่ชุมชน
รศ.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า สำนักวิจัยและพัฒนา ได้แจ้งต่อสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เกี่ยวกับโครงการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้วางเป้าหมายช่วงระยะเวลาในการดำเนินงาน 10 ปี ว่าจะมีงานวิจัยและวิทยานิพนธ์กว่า 883 ชิ้น ในจำนวนนั้นมากกว่า 50% เป็นงานวิจัยด้านการศึกษา สังคม และการบริหารการจัดการ ซึ่งในช่วง 3 ปีแรกนับตั้งแต่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ม.อ.ได้เริ่มทำงานวิจัยเพื่อลดสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายโครงการ เช่น โครงการวิจัยสถาบันครอบครัวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชุดโครงการมิติเศรษฐกิจในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการฐานทรัพยากรและความมั่นคงทางอาหาร โครงการฟื้นฟูและสัมฤทธิผลของการฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และโครงการรูปแบบการจัดการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น
ทั้งนี้ การทำวิจัยในระยะเริ่มต้นได้ศึกษาแนวทางการพัฒนาพื้นที่ เช่น แนวทางการลดสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แนวทางการลดปัญหาในกลุ่มเด็กและเยาวชน ตัวแบบการพัฒนาสถาบันครอบครัว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัวแบบเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่มีรูปแบบที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมในการฟื้นฟูเยียวยา และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดการฐานทรัพยากร และ ความมั่นคงทางอาหารที่เหมาะสม
“หลังจากมีการจัดทำแผนต่อเนื่อง โดยนำองค์ความรู้ที่ได้ใน 3 ปีแรก ไปสู่การวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อหาแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และนำไปสู่การวิจัยแนวเฝ้าระวัง และเตือนภัยทางนโยบาย เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและระบาดวิทยา โดยคาดว่าใน 10 ปีข้างหน้า หลังจากเริ่มต้นโครงการ จะสามารถหาแนวทางพัฒนา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างยั่งยืน เข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกัน และสร้างสังคมที่พัฒนามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” รศ.พีระพงศ์กล่าว
ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา ม.อ. กล่าวด้วยว่า หลังจากการนำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย ปรากฏว่า กรรมการสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ให้ความสนใจ โดยเห็นว่ามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ควรถือเป็นเรื่องใหญ่ และควรช่วยกันผลักดันเพราะมีแนวโน้มว่าเหตุการณ์จะเพิ่มความรุนแรงยิ่งขึ้น แต่ควรเป็นแผนการวิจัยที่เป็นระยะสั้นโดยมีการตั้งสมมติฐานเอาไว้ว่า อะไรคือสิ่งที่จะนำความสงบให้กลับคืนมา ซึ่งแนวทางที่น่าสนใจที่ได้มีการเสนอไว้ เช่น การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นได้มีการจัดการตนเอง การลดปัญหาความยากจน ปัญหาปากท้อง โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล การทำประมง และส่งเสริมด้านกิจกรรมที่น่าสนใจและเป็นความถนัดของคนในท้องถิ่น เช่น ศิลปะ ดนตรี การเล่นกีฬา เป็นต้น
ส่วนประเด็นเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งในส่วนที่นำมาผลิตเป็นอาหารและพลังงาน ที่บางครั้งไม่สามารถแยกจากกันได้ ดังนั้น การพัฒนาควรคำนึงถึงลำดับความสำคัญเป็นหลัก บางประเทศในยุโรปจะมีการห้ามนำพืชอาหารมาแปรเป็นพลังงาน เนื่องจากให้ความสำคัญกับปากท้องมากกว่า การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่บริเวณชายแดนเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน เนื่องจากเป็นจุดกึ่งกลางระหว่างส่วนที่มีความแตกต่างกัน เช่นเดียวกับความซับซ้อนของระบบนิเวศป่าชายเลน ซึ่งตั้งอยู่กลางระหว่างบกกับทะเล ซึ่งเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาในพื้นที่ สามารถนำมาเป็นโจทย์วิจัยเพื่อแก้ปัญหาได้
เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดย บริษัทมาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
ในนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ :พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป)
โทร: 0-2248-7967-8 ต่อ 118
e-mail : c_mastermind@hotmail.com หรือ kongwong91@hotmail.com