กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--Aziam Burson-Marsteller
ACCENTURE PRESS BRIEFING “ผลการศึกษาวิจัย องค์กรที่มีระบบ IT ประสิทธิภาพสูงเติบโตทิ้งห่างคู่แข่งอย่างเหนือชั้น”
EXECUTIVES: มร. ลอว์เรนซ์ โกะ (ขวา)
ผู้บริหารกลุ่มธุรกิจที่ปรึกษา
เอคเซนเชอร์ ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกาหลี และออสเตรเลีย
ร่วมด้วย นายนนทวัฒน์ พุ่มชูศรี (ซ้าย)
กรรมการ บริษัท เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย
DATE: May 19, 2011
VENUE: ACCENTURE OFFICE, 30TH FL. ABDULRAHIM BLDG.
คำถามจากสื่อมวลชน:
1. เทคโนโลยีปัจจุบัน เช่น Cloud Computing มีผลอย่างไรต่อการตัดสินใจของซีไอโอ
A: ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คำว่า Cloud Computing เป็นศัพท์ที่พูดถึงกันบ่อยมากในหลากหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับ IT ซึ่งจากการศึกษาวิจัยของเอคเซนเชอร์ พบว่า ซีไอโอทั้งหลาย ทั้งในองค์กรชั้นนำด้าน IT และองค์กรทั่วไป ต่างให้ความสนใจกับ Cloud Computing มากพอๆ กัน โดยมีระดับการนำมาใช้ที่ไม่ต่างกันมากนัก (ดูสไลด์หน้า 10 ประกอบ) แต่ด้วยเหตุและผลที่แตกต่างกัน กล่าวคือ องค์กรชั้นนำด้าน IT มักจะมีระบบ IT ที่มีการใช้ Virtualization สูงอยู่แล้ว การจะนำ Cloud Computing มาใช้ก็ต่อเมื่อได้คำนวณแล้วว่า Cloud Computing จะสามารถต่อยอดมูลค่าทางธุรกิจได้มากขึ้นอีก ในขณะที่องค์กรทั่วไป จะนำ Cloud Computing มาใช้เพื่อเน้นประโยชน์ในการลดต้นทุนเป็นหลัก
และเนื่องจาก Cloud Computing มีหลากหลายระดับและสามารถนำไปใช้ได้ใน IT หลายๆ ส่วน ดังนั้นองค์กรส่วนใหญ่จึงอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาอย่างหนักในการตัดสินใจลงทุนว่าควรจะลงทุนในส่วนใดและในระดับไหนก่อนจึงจะเกิดผลตอบแทนและประโยชน์สูงสุด เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า Cloud Computing เป็นแนวทางที่บริษัทส่วนใหญ่มุ่งเป้าในอนาคต แต่ Cloud Computing จะถูกนำมาใช้ก็ต่อเมื่อได้ศึกษาแนวทางแน่ชัดแล้วว่าจะสามารถปรับระบบ IT ให้เข้ากับระบบการทำงาน หรือกระบวนการและกลยุทธ์ทางธุรกิจได้ และเล็งเห็นประโยชน์ที่ชัดเจน
2. ปัจจัยใดบ้างที่เป็นตัวเร่งให้ซีไอโอต้องรีบนำ Cloud Computing มาใช้
A: แท้จริงแล้วมีปัจจัยหลายประการที่ซีไอโอต้องคำนึงถึงเมื่อจะนำ Cloud Computing มาใช้ โดยเริ่มต้นจากการตอบคำถาม 2 ข้อ คือ จะเลือกนำ Cloud Computing ระดับใดมาใช้ (Level of Cloud Computing) ยกตัวอย่างเช่น Infrastructure as a Service, Software as a Service เป็นต้น และจะเลือกใช้ Cloud Computing ประเภทใด (Type of Cloud Computing) ยกตัวอย่างเช่น Private Cloud, Managed Cloud และ Public cloud
3. เอคเซนเชอร์มองว่าองค์กรธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนที่ยังไม่ได้ปรับระบบ-โครงสร้าง IT ยังมีอีกเยอะไหม
A: การปรับระบบ—โครงสร้าง IT ขององค์กรต่างๆ มีกันหลายระดับ หลายมิติ ขึ้นอยู่กับประเภทขององค์กรและอุตสาหกรรมที่องค์กรนั้นๆอยู่ ถ้าหากเราแบ่งตามอุตสาหกรรมก็จะเห็นได้ชัดขึ้น ปัจจุบันยังมีองค์กรอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้ปรับตัวด้าน IT ซึ่งเท่ากับว่าองค์กรเหล่านั้นยังมีโอกาสที่จะปรับตัวด้าน IT เพื่อการเติบโตได้อีกมาก
โดยส่วนใหญ่แล้ว ถ้าเป็นองค์กรข้ามชาติก็มักจะมีการปรับระบบ IT ให้ทันสมัยจนเรียกได้ว่าเป็นองค์กรชั้นนำด้าน IT อยู่แล้ว
ในอุตสาหกรรมหลายประเภทก็จะมีความได้เปรียบเชิงการแข่งขันที่มีความสัมพันธ์กับระบบ IT อย่างมาก คือ ถ้ามีเทคโนโลยี IT ที่ดี คล่องตัว และมีประสิทธิภาพ ก็จะมีแต้มต่อในการแข่งขันที่ดีกว่า มีนวัตกรรมดีกว่า มีความสามารถที่จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สู่ตลาดภายในระยะเวลาที่สั้นกว่า เช่น อุตสาหกรรมการเงิน การธนาคาร และอุตสาหกรรมการสื่อสาร
4. (ถามเกี่ยวกับสไลด์หน้า 23 ซึ่งระบุว่า “องค์กรชั้นนำ นำอินเทอร์เน็ตมาใช้เชื่อมโยงธุรกรรมได้มากขึ้นถึง 30-90%”) คำว่า “อินเทอร์เน็ต” ในที่นี้หมายถึงอะไร Cloud Computing ใช่หรือไม่
A: คำว่า “อินเทอร์เน็ต” ในที่นี้หมายถึง “Web-enabled transactions” (ไม่ได้เจาะจง Cloud Computing) ยกตัวอย่างเช่น ในองค์กรที่ต้องทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์หลายๆ เจ้า การติดต่อกับซัพพลายเออร์และหน่วยงานอื่นๆ เหล่านั้น สามารถทำได้โดยใช้ช่องทางหลายรูปแบบ เช่น Manual ยื่นส่งกระดาษ หรือใช้ระบบสื่อสารผ่านเว็บ ซึ่งเมื่อเราคำนวณสัดส่วนของ transaction ที่เกิดขึ้นผ่านเว็บแล้ว พบว่า องค์กรชั้นนำด้าน IT จะมีการติดต่อสื่อสาร ทำธุรกรรมผ่านเว็บในสัดส่วนสูงถึง 30-90%และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ
5. โดยทั่วไป การใช้จ่ายด้าน IT ขององค์กรธุรกิจ คิดเป็นค่าเฉลี่ยประมาณกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ขององค์กร
A: (มร. ลอว์เรนซ์ โกะ) จริงๆ แล้วมีองค์กร Third-party ที่รับหน้าที่ในการศึกษาวิจัยการใช้จ่ายงบฯ ด้าน IT ของบริษัทต่างๆ อยู่โดยเฉพาะ ซึ่งการวิจัยของเอคเซนเชอร์ครั้งนี้ไม่ได้เข้าไปวิเคราะห์ในจุดนี้ แต่จากประสบการณ์การทำงานของผม โดยทั่วไปองค์กรส่วนใหญ่จะจัดสรรงบประมาณ 6-12% สำหรับใช้จ่ายด้าน IT
6. ในปัจจุบัน ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ซีไอโอตัดสินใจลงทุน — ไม่ลงทุน ในระบบ IT ขององค์กร มีอะไรบ้าง
A: ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนด้าน IT ของซีไอโอมากที่สุด คือ ผลกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้งบประมาณด้าน IT ถูดตัดทอนลง หรือไม่ได้งบฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ดังนั้น ซีไอโอจึงต้องเร่งหาทางพัฒนาระบบ IT ขององค์กรให้ได้เต็มที่มากที่สุดด้วยงบฯ เท่าเดิม
เอคเซนเชอร์จึงแนะนำให้ซีไอโอมุ่งเน้นการบริหารระบบ IT ปัจจุบันให้ดีที่สุด (IT Governance) ควบคู่ไปกับการวัดประสิทธิภาพของระบบอยู่เสมอ เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเวลาที่ใช้ในการดูแลรักษาระบบ (Maintenance) สิ่งสำคัญก็คือ ต้องวางแผนล่วงหน้าในการพัฒนาด้าน IT มิใช่รอเสียแล้วค่อยซ่อม หรือรอเสียแล้วซื้อใหม่ แต่ควรมีแผนรับมือเตรียมไว้ล่วงหน้า จะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างสะเปะสะปะ
ทางออกที่ดีที่เอคเซนเชอร์แนะนำ ก็คือ วางแผนระยะยาว ตัดสินใจลงทุนกับนวัตกรรมใหม่ แล้วใช้งบฯ ที่ประหยัดได้ (จากการนำนวัตกรรมใหม่มาใช้) นี้ ไปต่อยอดในการพัฒนาด้าน IT ขั้นต่อๆ ไป แทนที่จะใช้งบฯ เพื่อบำรุงรักษา-ซ่อมแซมระบบไปอย่างไม่มีเป้าหมาย