กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
๔ มีนาคม ๒๕๕๐ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐ น. - ๑๘.๐๐ น. โดยจัดให้มีการสวนสนามทางบกและทางเรือของเหล่าสมาชิกไทยอาสาป้องกันชาติในทะเล การสาธิตการปฏิบัติการทางทหาร การโดดร่ม การสาธิตการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล และการจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๓๖๙ บรรพชนของเราได้สร้างวีรกรรม อันยิ่งใหญ่ โดยได้สละชีวิต เลือดเนื้อ และหยาดเหงื่อ เข้าปกป้องเอกราชอธิปไตยของแผ่นดิน กล่าวคือ ท้าวสุรนารี วีรสตรีของไทย ได้รวมพลังประชาชนหญิงชายชาวนครราชสีมา จับอาวุธเข้าต่อสู้ขับไล่อริราชศัตรูอย่างเข้มแข็ง แม้ฝ่ายเราจะมีไพร่พลซึ่งล้วนแต่เป็นประชาชนพลเมืองและมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่น้อยกว่า แต่ด้วยจิตใจที่แกร่งกล้าและอุดมการณ์อันแน่วแน่ ที่จะรักษาเอกราชไว้ ทำให้สามารถขับไล่ข้าศึกจนแตกพ่ายไป เหตุการณ์นั้นนับเป็นวีรกรรมที่เสียสละอย่างแท้จริงของประชาชน ที่รวมพลังกันลุกขึ้นต่อสู้กับศัตรู จนได้รับชัยชนะ ทางราชการจึงได้ประกาศให้วันที่ ๔ มีนาคมของทุกปีเป็น "วันไทยอาสาป้องกันชาติ" หรือ วัน ทสปช.
การจัดงานวัน ทสปช. เริ่มขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๕๒๓ โดย ศูนย์ ทสปช. ภาคต่าง ๆ ดำเนินการ จัดงานในพื้นที่ส่วนภูมิภาคระดับศูนย์จังหวัดที่มีการเคลื่อนไหวของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรงหรือจังหวัดตามแนวชายแดน โดยให้ ศูนย์ ทสปช. ภาคทั้ง ๔ ภาค ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันรับผิดชอบจัดงานวัน ทสปช. ขึ้นเป็นส่วนรวม โดยในส่วนของศูนย์ ทสปช.ในทะเลได้ไปร่วมงานรวมพลัง ทสปช. (สวนสนามทางบก) เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๒๙ ที่ สนามกีฬาค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา จนกระทั่งในปี ๒๕๓๑ ได้มีการจัดงานเป็นเอกเทศในแต่ละพื้นที่ของ ศูนย์ ทสปช.ภาค ๑ - ๔ และศูนย์ ทสปช. ในทะเล โดยกำหนดให้มีกิจกรรมหลักในการจัดงานประกอบด้วย กิจกรรมรอบกองไฟ พิธีทางศาสนา และพิธีสวนสนาม ส่วนกิจกรรมอื่น ๆ ให้ดำเนินการตามขีดความสามารถของหน่วย สำหรับชื่อในการจัดงานเดิมเรียกว่า วันรวมพลัง ทสปช. ๔ มีนาคม ต่อมาในปี ๒๕๓๖ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วันสถาปนา ทสปช. ๔ มีนาคม" จนถึงปัจจุบัน
- ศูนย์ ทสปช.ในทะเลเขต ๑ (ฐานทัพเรือกรุงเทพ) มีผู้บัญชาการฐานทัพเรือกรุงเทพ (ผบ.ฐท.กท.) เป็น ผู้อำนวยการศูนย์ ทสปช.ในทะเลเขต ๑ รับผิดชอบในการดำเนินงานเกี่ยวกับไทยอาสาป้องกันชาติในทะเล ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
- ศูนย์ ทสปช.ในทะเลเขต ๒ (ฐานทัพเรือสัตหีบ) มีผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ (ผบ.ฐท.สส.) เป็น ผู้อำนวยการศูนย์ ทสปช.ในทะเลเขต ๒ รับผิดชอบในการดำเนินงานเกี่ยวกับไทยอาสาป้องกันชาติในทะเล ในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และ ตราด
- ศูนย์ ทสปช.ในทะเลเขต ๓ (ฐานทัพเรือสงขลา) มีผู้บัญชาการฐานทัพเรือสงขลา (ผบ. ฐท.สข.) เป็น ผู้อำนวยการศูนย์ ทสปช.ในทะเล เขต ๓ รับผิดชอบในการดำเนินงานเกี่ยวกับไทยอาสาป้องกันชาติในทะเล ในเขตจังหวัดชุมพร สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และ นราธิวาส
- ศูนย์ ทสปช.ในทะเลเขต ๔ (ฐานทัพเรือพังงา) มีผู้บัญชาการฐานทัพเรือพังงา (ผบ.ฐท.พง.) เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ทสปช.ในทะเล เขต ๔ รับผิดชอบในการดำเนินงานเกี่ยวกับไทยอาสาป้องกันชาติในทะเล ในเขตจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
(ที่มา: http://www.navy.mi.th/thaiasa/ )