ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ฮาลาล ดันสินค้าเกษตร-อาหารไทยสู่โลกมุสลิม

ข่าวทั่วไป Tuesday June 5, 2007 10:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--กษ.
อาหารฮาลาล หมายถึงอาหารที่ชาวมุสลิมสามารถรับประทานได้ ปราศจากสิ่งต้องห้ามตามศาสบัญญัติอิสลาม อาหารฮาลาลนั้นเป็นอาหารที่ไม่เฉพาะชนชาวมุสลิมสามารถบริโภคได้เท่านั้น แต่คนที่ไม่ใช่มุสลิมก็สามารถบริโภคได้เช่นกันตัวเลขการส่งออกอาการฮาลาล (Halal Food) ในตลาดโลก ในปี พ.ศ. 2549 ที่มีมูลค่ารวม 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราการขยายสูง นับเป็นดัชนี ชี้ให้เห็นถึงโอกาส ในการเติบโตของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลโลก และกลายเป็นตลาดที่ประเทศผู้ส่งออกอาหารรายสำคัญทั้งหลายให้ความสนใจ และหากกลยุทธ์ต่าง ๆ ในการเข้าสู่ตลาดอาหารที่มีแนวโน้มสดใสนี้
ก.เกษตรฯ หนุนยกระดับมาตรฐานฮาลาลไทย
นายธีระ สูตะบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญกับการยกระดับมาตรฐานอาหารฮาลาล ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางในการขยายตลาดสินค้าเกษตรและอาหารของไทยในต่างประเทศ หลังจากที่ประเทศไทยต้องประสบวิกฤตทางด้านสารตกค้างในสินค้ากุ้ง ปัญหาการระบาดของไข้หวัดนก ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารต่อเนื่องตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ขณะที่การส่งออกอาหารฮาลาลของไทย เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง ทำให้กระทรวงเห็นเป็นโอกาสในการผลักดันให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สถาบันมาตรฐานอาหารฮาลาล ตลอดจนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
โดยเฉพาะในประเทศแถบตะวันออกกลาง ที่ล่าสุดสภาเทศบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี เห็นชอบยอมรับมาตรฐานการรับรองระบบฮาลาลของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ด้านมาตรฐานฮาลาลเข้ามาตรวจสอบประเมินระบบการรับรองฮาลาลและโรงฆ่าสัตว์ของไทย ซึ่งหากมาตรฐานดังกล่าวผ่านการประเมิน โอกาสที่ไทยจะส่งออกอาหารฮาลาล ไปยังประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง หรือ กลุ่ม GCC ซึ่งประกอบไปด้วยสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ,ซาอุดิอาราเบีย ,คูเวต ,บาร์เรน ,โอมาน และการ์ต้าร์ ย่อมเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ดีเพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานอาหารฮาลาลให้มีมาตรฐานระดับสากล กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาร่างมาตรฐานอาหารฮาลาลแห่งชาติ และพัฒนาโครงสร้างระบบการรับรองอาหารฮาลาลของไทยให้เป็นไปตามมาฐานสากล และสอดคล้องกับมาตรฐานของยูเออี ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันสินค้าฮาลาลของไทยในตลาดโลกได้
มอกช.จับมือเครือข่ายเดินหน้าสร้างแบรนด์ฮาลาลไทยสู่ตลาดโลก
นายธีระ สูคะบุตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าได้มอบหมายสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ หรือ มอกช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางประสานงานระหว่างหน่วยงานผู้เกี่ยวข้อง ในการสร้างความเชื่อมั่นในมาตรฐานสินค้าฮาลาลของไทย ไม่ว่าจะเป็น กรมปศุสัตว์ สถาบันมาตรฐานอาหารฮาลาล และสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย ให้ถูกต้องตามบัญญัติของศาสนาอิสลามและความปลอดภัยด้านอาหาร รวมไปถึงการต้อนรับเลขาธิการสภาเทศบาลสหรัฐอาหรับเอเมิเรตส์ (ยูเออี) และคณะผู้เชี่ยวชาญ ที่จะเดินทางมายังประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 4-13 มิถุนายนนี้ เพื่อร่วมหารือความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สถาบันมาตรฐานอาหารฮาลาล เยี่ยมชมศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตรวจประเมินกระบวนการฆ่าสัตว์ในโรงงานที่ผลิตอาหารฮาลาล ว่าถูกต้องตามหลักศาสนบัญญัติอิสลาม และมีความปลอดภัยด้านอาหารตามหลักสากลหรือไม่
“เพื่อให้ทุกหน่วยงานมีความเข้าใจตรงกัน มอกช. ได้จัดทำโครงการกระชับความสัมพันธ์และความเชื่อมั่นในมาตรฐานอาหารฮาลาลไทยสู่ตลาดโลก ขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจและยอมรับอาหารฮาลาลของไทย ในเรื่องของความปลอดภัยและความถูกต้องตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นในการรับรองอาหารฮาลาลให้ได้มาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ นอกจากนี้โครงการดังกล่าวจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของผลิตภัณฑ์ฮาลาล และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอาหารฮาลาลไทยและหน่วยงานจากประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางด้วย”
นายธีระ กล่าวต่อไปว่า สำหรับตลาดอาหารฮาลาล เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง จากจำนวนประชากรมุสลิมที่มีมากกว่า 2,000 ล้านคนใน 186 ประเทศ แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มประเทศ ได้แก่ 1. กลุ่มแอฟริกา มีประเทศอียิปต์เป็นประเทศผู้นำเข้าอาหารฮาลาลที่สำคัญ 2. กลุ่มตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูง 3. กลุ่มประเทศในแถบเอเชียใต้ ซึ่งมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลาม สูงถึง 326 ล้านคน 4. กลุ่มประเทศอาเซียน ก็มีจำนวนประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามกว่า 192.5 ล้านคน และ 5 กลุ่มยุโรปตะวันออก ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีชาวมุสลิมอาศัยตามหัวเมืองใหญ่ อยู่ประมาณ 8-10 ล้านคน และเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงเช่นกัน
อย่างไรก็ดี แม้ที่ผ่านมาอาหารฮาลาลของไทยจะยังไม่เป็นที่แพร่หลายในตลาดมุสลิม แต่เชื่อมั่นว่าการร่วมมือของภาครัฐ องค์การศาสนาและ เอกชนในการสร้างการยอมรับตราฮาลาล การรับรองมาตรฐานการผลิต และพัฒนาการผลิตอาหารฮาลาลไทยให้มีมาตรฐานในระดับสากล จะช่วยผลักดันให้อาหารฮาลาลไทยเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
องค์การอิสลาม-รัฐ-เอกชนปูทางส่งออกอาหารฮาลาลโต
ขณะที่นายบดินทร์ ยุวโสภีร์ ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานอาหารฮาลาล ( The Institute for Halal Food Standard of Thailand) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล ตามระเบียบของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ 177 บริษัท ผลิตอาหารฮาลาลมากกว่า 21,700 รายการส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามต่างๆ โดยมีมูลค่าส่งออกเฉลี่ยปีละ 275 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยส่วนใหญ่เป็นอาหารแปรรูป เครื่องปรุงรส และอาหารทะเล
อย่างไรก็ดีเพื่อเป็นการรองรับการขยายตัวของตลาดในประเทศแถบตะวันออกกลาง สถาบันได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐเช่น มกอช., กรมปศุสัตว์จัดระบบรับรองอาหารฮาลาลให้เป็นสากล ในปีนี้มีเป้าหมายการเปิดตลาดสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์เพื่อนำไปสู่ตลาดอื่น ๆ ซึ่งได้มีการดำเนินการต่าง ๆ หลายเรื่อง เช่น ร่วมกับกระทรวงเกษตรทบทวนและจัดทำมาตรฐานอาหารฮาลาลแห่งชาติ ซึ่งได้รับการรับรองแล้ว ทั้งจากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และประกาศใช้แล้ว การจัดฝึกอบรมผู้ควบคุมการเชืด เพื่อประจำโรงงาน การจัดฝึกอบรมให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการประกอบการผลิตอาหารฮาลาล นอกจากนี้ยังร่วมมือกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนงานด้านห้องปฎิบัติการตรวจสอบซึ่งจะช่วยในการตรวจสอบติดตาม การปนเปื้อนสิ่งต้องห้ามต่าง ๆ ในอาหารฮาลาล สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคได้
ความตั้งใจจริงในการยกระดับมาตรฐานอาหารฮาลาลของภาครัฐ นอกจากจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนของคนไทย ให้กล้าลงทุนและเดินหน้าขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ยังเป็นการชี้ให้เห็นว่าไทยเองก็มีศักยภาพในการแข่งขันบนเวทีโลกด้วยเช่นกัน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
คุณจีรนันท์ มีผา โทร. 086-392-5335 , 081-309-3789

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ