กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--ปตท.
ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันว่า ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยสัปดาห์ที่ 16-20 พ.ค. 54 น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) อยู่ที่ระดับ 106.48 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.65 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) อยู่ที่ 111.77 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ลดลง 2.81 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล และน้ำมันดิบเวสเท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 98.46 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ลดลง 2.19 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ในส่วนของน้ำมันเบนซินราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 119.38 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ลดลง 8.17 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 124.01 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ลดลง 1.73 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล โดยความวิตกกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นแรงกดดันนักลงทุนให้เทขายทำกำไรในตลาดซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า หลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการของสหรัฐฯ ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคอสังหาริมทรัพย์ยังอ่อนแอ และล่าสุดฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซลงสู่ระดับ B+ นอกจากนี้ปัจจัยอื่นๆที่ส่งผลกระทบต่อราคาได้แก่:-
(ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงลบ) Commodity Futures Trading Commission รายงานการซื้อขายน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า New York Mercantile Exchange (NYMEX) ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 17 พ.ค. 54 มีปริมาณลดลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนประมาณ 30 ล้านบาร์เรล
(ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงลบ) เศรษฐกิจยุโรปยังเปราะบางโดยเฉพาะสถานการณ์ในกรีซ โปรตุเกส สเปน และอิตาลี ซึ่งรัฐมนตรีคลัง?ในกลุ่ม Euro Zone ได้อนุมัติเงินช่วยเหลือประเทศโปรตุเกสแล้วมูลค่า 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
(ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงลบ) รัฐบาลญี่ปุ่นรายงาน GDP ไตรมาส 1/54 อยู่ที่ -3.7% ต่ำกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -2%
(ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงลบ) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดวันที่ 20 พ.ค. 54 ลดลง 93.28 จุด หรือ 0.7% อยู่ที่ 12,512.04 จุด
(ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงลบ) Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 13 พ.ค. 54 ทรงตัวที่ระดับ 370.3 ล้านบาร์เรล โดยลดลงจากสัปดาห์ก่อนเพียง 0.02 ล้านบาร์เรล และ Gasoline อยู่ที่ 205.9 ล้านบาร์เรล (+0.1 ล้านบาร์เรล) อย่างไรก็ตาม Distillates อยู่ที่ 143.0 ล้านบาร์เรล (-1.2 ล้านบาร์เรล)
(ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงบวก) สำนักพยากรณ์อากาศของสหรัฐฯ: National Oceanic and Atmospheric (NOAA) คาดการณ์ฤดูมรสุมปีนี้ (มิ.ย. ถึง พ.ย. 54) จะรุนแรงกว่าปกติ โดยพายุเฮอริเคนที่จะเกิดขึ้นมีจำนวนประมาณ 6-10 ลูก
(ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงบวก) กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) สัปดาห์สิ้นสุด 14 พ.ค. 54 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 29,000 ราย มาอยู่ที่ 409,000 ราย
สำหรับแนวโน้มสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ WTI และ Brent มีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 95-103 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และ 108-115 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ตามลำดับ จากเศรษฐกิจโลกยังขาดเสถียรภาพในการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ซึ่งหากราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงอาจทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้ นอกจากนั้นปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่ม Euro Zone ในระยะสั้นอาจกดดันค่าเงินยูโรให้อ่อนตัวต่อไปอีก ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าในวันที่ 2 มิ.ย. 54 ธนาคารกลางยุโรปอาจมีแผนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในอนาคต อย่างไรก็ตามต้องจับตาปริมาณการใช้เชื้อเพลิงในช่วงฤดูร้อนและฤดูขับขี่ และสถานการณ์ตึงเครียดในประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เพราะเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคา ล่าสุดนักวิเคราะห์คาดการประชุม OPEC ในวันที่ 8 มิ.ย. นี้ จะมีมติคงเพดานการผลิตเดิม และมีข่าวบริษัท โตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ (เทปโก) เตรียมเปิดใช้งานเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าในจังหวัดฟูกุชิมาภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ หลังจากได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวและสึนามิ