กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--โรงพยาบาลนนทเวช
หลายคนคงได้รับรู้ข่าวสารเรื่องราวเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่กันมากมายแต่ทำไมบุหรี่ก็ไม่เคยหมดสิ้นไปจากโลกของเราเสียที ยังคงมีผู้สูบทุกวี่วัน กระจายตัวอยู่ทั่วไป เป็นอย่างนี้มานานหลายทศวรรษ รูปแบบที่หลากหลายของบุหรี่ ตั้งแต่บุหรี่ซองที่เห็นตามร้านค้าทั่วไป บุหรี่ที่มวนเองจากยาเส้นตามชนบทหรือบุหรี่มวนโตจากต่างประเทศที่เรียกว่า ซิก้าร์ ไม่ว่าจะมาแบบไหน อันตรายที่ผู้สูบจะได้รับไม่ได้แตกต่างกันที่ราคาซื้อหามา แต่หากต่างกันที่ปริมาณยาสูบ คือ ขนาดของแท่งบุหรี่ที่ใช้สูบนั่นต่างหาก.......
มีการศึกษายืนยัน พบว่า ในบุหรี่มีสารทั้งก่อให้เกิดมะเร็งและไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง แต่ก่อให้เกิด การระคายเคือง รวมทั้งเกิดผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกายมนุษย์ มากกว่า 4,000 ชนิด ทั้งที่เป็นของแข็ง ของเหลว ก๊าซ เศษฝุ่นผงเถ้าต่าง ๆ เช่น Ammonia, Benzene, Carbon, Hydrogen cyanide, Nicotine เป็นต้น อันตรายจากส่วนประกอบต่างๆเหล่านี้ที่ทราบกันโดยทั่วไป เช่น ก่อให้เกิดมะเร็ง โดยพบว่ามะเร็งที่สัมพันธ์กับบุหรี่ ได้แก่ มะเร็งในช่องปาก มะเร็งกล่องเสียง, ปอด, หลอดอาหาร และยังพบว่าสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งตับอ่อน นอกจากนี้ยังเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและโรคระบบการหายใจอีกด้วย เช่น หลอดเลือด หัวใจอุดตัน ถุงลมโป่งพอง หลอดลมอักเสบเรื้อรัง
เพื่อเห็นภาพโทษของบุหรี่ที่ชัดเจนมากขึ้น ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบ ดังนี้
- ผู้สูบซิก้าร์ 1-2 มวน/วัน (เท่ากับบุหรี่ซองประมาณ 4-8 มวน) เพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งช่องปาก หรือ หลอดอาหาร 2 เท่า ของผู้ไม่สูบ
- ผู้สูบซิก้าร์ 3-4 มวน/วัน (เท่ากับบุหรี่ซองประมาณ 12-16 มวน) เพิ่มอัตราเสี่ยงมะเร็งหลอดอาหาร 4 เท่า, มะเร็งในช่องปาก 8 เท่า ของผู้ไม่สูบบุหรี่
โอ้โห ทั้งที่รู้กันอย่างนี้แล้วยังจะสูบบุหรี่กันอยู่อีกหรือ ? เปลี่ยนใจเลิกสูบบุหรี่กันดีไหม?
สำหรับใครที่ยังไม่เปลี่ยนใจ ลองมาดูข้อมูลอื่นๆเพิ่มเติมอีกสักนิดเพื่อประกอบการตัดสินใจ
รู้หรือไม่ว่าบุหรี่มีผลต่อร่างกายมนุษย์ทุกส่วนตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าทีเดียว เริ่มตั้งแต่
เส้นผม - ผมแห้ง สีผมเปลี่ยนเร็ว ดูแก่กว่าวัย
สมองและระบบประสาท - เส้นโลหิตสมองแตก ตีบ เกิดอัมพฤกษ์, อัมพาต, วิตกกังวล, นอนหลับยาก, มีผลต่อสารเคมีต่างๆ ในสมอง ผิดปกติทางพฤติกรรม, ความจำเสื่อม หลงลืมง่าย
ตา — เกิดกระตุกกล้ามเนื้อตา, จอตาเสื่อม, ต้อกระจก เป็นต้น
จมูก — การรับรู้รสเสียไป ลมหายใจมีกลิ่น
ต่อมไทรอยด์ — ต่อมไทรอยด์เป็นพิษชนิด Graves’ disease
หัวใจและหลอดเลือด — เกิดเส้นเลือดแข็งตัว เส้นเลือดอุดตันตามตำแหน่งต่าง ๆ เช่น เส้นเลือดหัวใจ, ขา, สมอง
ระบบการหายใจ — เกิดหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง
หญิงตั้งครรภ์ — เกิดภาวะท้องนอกมดลูก, ภาวะรกเกาะต่ำ, รกลอกหลุดก่อนกำหนด, ลูกน้ำหนักตัวน้อย, คลอดก่อนกำหนด, ตายคลอด, มีความผิดปกติแต่กำเนิด
ทุกวันนี้ เราต้องเผชิญกับภัยต่าง ๆ รอบตัว ทั้งภัยธรรมชาติ ภัยจากการก่อการร้ายทั้งปัจจัยด้านสังคม การเมือง อย่างนี้แล้ว เราจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคภัยให้แก่ตัวเราเองและคนที่เรารักกันอีกทำไม ละเลิก บุหรี่ เพื่อสุขภาพกาย สุขภาพใจที่แข็งแรงกันดีกว่า
สามารถรับคำปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่ คลินิกอายุรกรรมและศัลยกรรม โรงพยาบาลนนทเวช โทร. Call Center 02 596 7888