กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนน ตลอดปี 2549 มีอุบัติเหตุ เกิดขึ้น 111,035 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 12,609 คน ผู้บาดเจ็บสาหัส 17,822 คน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการใช้ความเร็วเกินอัตราที่กำหนด ขับรถตัดหน้ากระชั้นชิด
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศ ในช่วง 12 เดือน (มกราคม-ธันวาคม 2549) มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น รวม 111,035 ครั้ง ลดลง 11,087 ครั้ง จากปี 2548 ซึ่งเกิดขึ้น 122,122 ครั้ง หรือร้อยละ 9.08 มีผู้เสียชีวิตรวม 12,609 คน ปี 2548 รวม 12,871 คน ลดลง 262 คน หรือร้อยละ 2.04 ผู้บาดเจ็บสาหัส จำนวน 17,822 คน ปี 2548 จำนวน 19,128 คน ลดลง 1,306 หรือร้อยละ 6.83 เมื่อเปรียบเทียบกับที่ได้ประมาณการเอาไว้ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตจำนวน 14,432 คน ลดลง 1,826 คน คิดเป็นร้อยละ 12.63 ผู้บาดเจ็บสาหัสลดลง 3,613 คน คิดเป็นร้อยละ 16.86 สาเหตุของอุบัติเหตุทางถนน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2548 พบว่ามีสาเหตุคล้ายๆ กัน กล่าวคือ ส่วนใหญ่เกิดจากผู้ขับรถใช้ความเร็วเกินอัตราที่กำหนด 19,036 ราย ตัดหน้าในระยะกระชั้นชิด 14,057 ราย ยานพาหนะที่ประสบอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 76,046 ราย รถยนต์นั่งส่วนบุคคล 42,271 คัน โดยจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงกว่าค่าประมาณการและเป้าหมายคาดคะเน รวม 17 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร บุรีรัมย์ สระบุรี ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก กระบี่ ปทุมธานี นครปฐม ชุมพร ชัยนาท ตราด ลพบุรี พังงา สมุทรปราการ และสุรินทร์ ดังนั้น กรมป้องกันฯ ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จึงได้ประสาน ให้ทั้ง 17 จังหวัด ทำการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การดำเนินการป้องกันอุบัติภัยทางถนน ศึกษาวิเคราะห์สาเหตุ ของอุบัติเหตุ ทั้งเรื่องพื้นที่ เวลา บุคคล เพื่อแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุในพื้นที่รับผิดชอบได้ตรงจุด การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด การรณรงค์ให้ความรู้ เพื่อให้ประชาชนขับขี่ยานพาหนะอย่างปลอดภัย ที่สำคัญผู้ใช้รถใช้ถนนต้องร่วมกันปฏิบัติตามกฎจราจร สวมหมวกนิรภัย คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่ขับรถเร็ว เพื่อความปลอดภัยและลดอันตรายจากอุบัติเหตุ ทางถนนที่อาจเกิดขึ้นทั้งกับตนเองและผู้ร่วมใช้เส้นทาง