น้ำนมแม่... ถ้าเข้าใจยังไงก็พอ

ข่าวทั่วไป Tuesday April 24, 2007 16:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
คุณแม่จำนวนไม่น้อยที่เป็นกังวล และได้รับความรู้ผิดๆ จากบุคลากรในโรงพยาบาลว่า น้ำนมน้อย ต้องเสริมนมผสมให้ลูกก่อน เพื่อรอให้นมมาก่อนแล้วค่อยให้นมแม่ ซึ่งการทำเช่นนั้นยิ่งทำให้น้ำนมแม่มาช้ากว่าเดิม และให้แม่ผลิตน้ำนมได้ไม่เต็มที่ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อให้เด็กได้มีต้นทุนทางกาย ใจ และพัฒนาการที่ดี จึงร่วมกับ สสส. และกลุ่มแม่อาสากรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรมเสวนาขึ้นเพื่อรณรงค์ให้สังคมไทยได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่อง “ปัญหาน้ำนมแม่ไม่พอ” ขึ้น ในวันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน 2550 ณ โรงพยาบาลราชวิถี
งานนี้ พญ. ศิราภรณ์ สวัสดิวร เลขาธิการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย นำทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญออกมายืนยันว่า น้ำนมแม่...ถ้าเข้าใจยังไงก็พอ และการให้นมผสมลูกก่อนที่น้ำนมจะมานั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และเป็นวิธีที่ผิด ซึ่งวิธีที่ถูกต้องที่จะเร่งให้น้ำนมมาเร็วๆนั้น ต้องพยายามนำน้ำนมออกจากร่างกายให้ได้มากที่สุด ด้วยการให้ลูกดูดนมอย่างถูกวิธี บ่อยๆ ซึ่งใน 2-3 วันแรกนั้น ลูกจะหลับเป็นส่วนใหญ่ และยังดูดไม่ค่อยเก่ง แม่ก็อ่อนเพลียจากการคลอด การใช้มือบีบ หรือเครื่องปั๊มคุณภาพดีจะช่วยให้สามารถผลิตน้ำนมออกมาจากร่างกายได้มากขึ้นกว่าการรอให้ลูกดูดอย่างเดียว และจะช่วยให้การผลิตน้ำนมมากขึ้นและเร็วขึ้นด้วย
แต่การบีบหรือปั๊มน้ำนมในช่วงหลังคลอดใหม่ๆ ก็มีข้อระวังเหมือนกัน คือ ร่างกายที่ผ่านการคลอดมาใหม่ๆ มักจะอ่อนเพลียและ Sensitive การบีบหรือปั๊ม หรือแม้แต่ลูกดูด ก็จะทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บมาก จนทำให้คุณแม่หลายท่านคิดว่าการเลียงลูกด้วยนมแม่นั้นเจ็บปวด และทรมานเสียจริง แต่ขอให้เข้าใจว่าความรู้สึกเจ็บปวดทรมานนั้นจะอยู่ไม่นาน จะดีขึ้นเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไป หลังจากนั้นไม่ว่าลูกจะดูด ใช้มือบีบ หรือเครื่องปั๊ม ก็จะไม่เจ็บอีกต่อไป
ทำไม... ? คุณหมอถึงบอกว่าน้ำนมแม่ยังไงก็พอ ก็เพราะว่าในน้ำนมแม่ ประกอบด้วยโปรตีน เวย์ขนาดเล็ก ที่เรียกว่า Feedback Inhibitor of Lactation (FIL) เมื่อน้ำนมถูกผลิตสะสมจนเต็มเต้านม FIL จะมีมากและทำให้การผลิตน้ำนมเริ่มน้อยลงและช้าลง ในทางกลับกันเมื่อน้ำนมถูกนำออกไปจนเต้านมว่าง FIL จะน้อยลง กลไกในการผลิตน้ำนมจะทำงานเร็วขึ้น และมากขึ้น อีกทั้งฮอร์โมน โปรแล็คตินมีบทบาทสำคัญมากในกระบวนการผลิตน้ำนม กล่าวคือ ที่ผนังของเซลล์ผลิตน้ำนม (Lactocyte) นั้นจะมีตัวรับฮอร์โมนโปรแล็คติน ซึ่งจะส่งผ่านโปรแล็คตินเข้าสู่กระแสเลือดไปยังเซลล์ผลิตน้ำนม และทำหน้าที่กระตุ้นการสร้างน้ำนม
ทำให้น้ำนมถูกผลิตอยู่ตลอดเวลา ด้วยความเร็วที่ขึ้นอยู่กับว่าเต้านมนั้นจะว่างหรือเต็ม น้ำนมที่ถูกผลิตจะสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเวลาระหว่างมื้อนมที่ให้ลูกดูดแต่ละครั้ง เมื่อน้ำนมสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่ลุกดูดครั้งสุดท้าย เมื่อน้ำนมเต็มการผลิตน้ำนมจะช้าลง ถ้าต้องการกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมเพิ่มขึ้นในแต่ละวัน จะต้องพยายามให้น้ำนมออกจากร่างกายให้เร็วขึ้นและบ่อยขึ้น เพื่อให้น้ำนมสะสมในร่างกายให้น้อยลงนั่นเอง
เพียงเท่านี้คุณแม่มือใหม่ และมือเก่าทุกท่านก็ไม่ต้องกังวลอีกต่อไปแล้วว่า...น้ำนมจะไม่พอให้กับลูกน้อย เพราะถ้าเข้าใจทำยังไง...น้ำนมแม่ก็พอ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
ผู้ประสานงานอนุกรรมการการสื่อสาร ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
หมายเลขโทรศัพท์ 0-2354-8404 ต่อ 18 / หมายเลขโทรสาร 0-2354-8409

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ