ไอบีเอ็มจับมือองค์กร The Nature Conservancy ร่วมอนุรักษ์แม่น้ำสายสำคัญทั่วโลก

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday May 2, 2007 09:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--ไอบีเอ็ม
ไอบีเอ็มและองค์กร The Nature Conservancy กำลังทำงานร่วมกันเพื่ออนุรักษ์แม่น้ำสายสำคัญๆ ของโลก โดยใช้ประโยชน์จากพลังการประมวลผลขั้นสูงและแนวทางการอนุรักษ์ตามหลักวิทยาศาสตร์ภายใต้โครงการ Great Rivers Partnership ของ The Nature Conservancy องค์กรทั้งสองจะพัฒนาเฟรมเวิร์กสำหรับการสร้างแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถจำลองพฤติกรรมของแม่น้ำสายต่างๆ ทั่วโลก และสามารถทำการตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมเกี่ยวกับนโยบายและการจัดการโดยอ้างอิงข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่ออนุรักษ์สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้คนที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรดังกล่าว
ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้สามารถตอบคำถามสำคัญๆ เช่น อะไรคือผลกระทบที่ชาวบ้านจะได้รับจากการสร้างเขื่อนใหม่? การตัดไม้ทำลายป่าที่บริเวณต้นน้ำจะทำให้จำนวนปลาในแม่น้ำลดลงและส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารของชาวบ้านในบริเวณนั้นหรือไม่?
ระบบที่เสนอนี้จะช่วยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลายเกี่ยวกับภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝน สิ่งปกคลุมดิน พืชพันธุ์ และความหลากหลายทางชีวภาพ และช่วยให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าใจถึงผลกระทบของการตัดสินใจที่มีต่อคุณภาพน้ำและระบบนิเวศน์ ภายใต้โครงการความร่วมมือดังกล่าว จะมีการสร้างแบบจำลอง 3 มิติ และเครื่องมือคาดการณ์สถานการณ์สมมติ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการบริหารจัดการทรัพยากรตามแม่น้ำสายสำคัญๆ ทั่วโลกได้อย่างยั่งยืน
ในระยะเริ่มแรก โครงการนี้จะเริ่มดำเนินการในระบบแม่น้ำปารากวัย-ปารานา (Paraguay-Paran?) ในประเทศบราซิล เป้าหมายในช่วงสองปีถัดจากนั้นคือ การคัดลอกระบบสนับสนุนการตัดสินใจ เพื่อนำไปปรับใช้กับแม่น้ำแยงซีในประเทศจีน และแม่น้ำมิสซิสซิปปีในประเทศสหรัฐอเมริกา และหลังจากนั้นก็จะมีการปรับใช้ระบบดังกล่าวกับระบบแม่น้ำอื่นๆ ทั่วโลก
"การบริหารจัดการแหล่งน้ำจืดในลักษณะที่เหมาะสมต่อสิ่งแวดล้อมโดยอาศัยข้อมูลที่เพียงพอ กลายเป็นประเด็นปัญหาที่ท้าทายมากขึ้นสำหรับสังคม และหากไม่ได้รับการจัดการดูแลอย่างเหมาะสม ก็อาจส่งผลกระทบในระยะยาวต่อลูกหลานของเรา" นิโคลัส เอ็ม. โดโนฟริโอ รองประธานบริหารฝ่ายนวัตกรรมและเทคโนโลยีของไอบีเอ็ม กล่าว "การทำงานร่วมกันภายใต้โครงการ Great Rivers Partnership ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของไอบีเอ็ม ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ การสร้างแบบจำลอง และความเข้าใจเกี่ยวกับระบบที่ซับซ้อน ซึ่งจะช่วยปรับปรุงขีดความสามารถในการอนุรักษ์แหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากร"
Nature Conservancy ได้จัดตั้งโครงการ Great Rivers Partnership เมื่อปี 2005 เพื่อช่วยกำหนดแนวทางในการปกป้องแหล่งน้ำจืดทั่วโลกซึ่งนับวันมีแต่จะร่อยหรอลง รวมทั้งปรับเปลี่ยนวิธีการอนุรักษ์และคุ้มครองแม่น้ำสายสำคัญๆ นอกเหนือจากแม่น้ำปารากวัย-ปารานาในบราซิล และแม่น้ำแยงซีในจีนแล้ว ในปัจจุบันโครงการ Great Rivers Partnership กำลังดำเนินการเกี่ยวกับการอนุรักษ์แม่น้ำซัมเบซีในแอฟริกา และแม่น้ำมิสซิสซิปปีในสหรัฐอเมริกา สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Great Rivers Partnership โปรดเยี่ยมชม www.nature.org/greatrivers
“แหล่งน้ำจืดเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่กลับร่อยหรอลงเรื่อยๆ” ไมเคิล รอยเตอร์ ผู้อำนวยการโครงการ Great Rivers Partnership กล่าวเสริม "เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่องค์กรระดับโลกอย่างไอบีเอ็มเข้าร่วมโครงการนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์และแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับการบริหารจัดการแม่น้ำสายสำคัญๆ ทั่วโลก”
ระบบดังกล่าวจะช่วยให้ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจสามารถระบุค่าใช้จ่ายและประโยชน์ที่จะได้รับจากนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่ส่งผลต่อการใช้ที่ดินและการจัดการน้ำ โดยข้อมูลที่ได้อาจอยู่ในรูปของค่าที่ปรากฏบน “แดชบอร์ด” (Dashboard) ซึ่งแสดงสภาพโดยรวมของแม่น้ำ รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับดัชนีชี้วัดที่สำคัญๆ เช่น ระดับการไหลของน้ำ และปริมาณของตะกอน ระบบดังกล่าวจะสร้างแบบจำลองสำหรับสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้ รวมถึงเกษตรกรและหัวหน้าหน่วยงานจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่นั้นๆ สามารถตรวจสอบผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศน์ของแหล่งน้ำจืด และรับทราบล่วงหน้าถึงผลกระทบจากการปรับใช้มาตรการที่อาจเกิดขึ้นกับแม่น้ำสายหลักและสาขาต่างๆ ของแม่น้ำทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
ความเชี่ยวชาญของไอบีเอ็มในการบริหารจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาลจากแหล่งต่างๆ และการช่วยให้ผู้ใช้หลากหลายกลุ่มสามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกง่ายดาย นับเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งในการรองรับงานค้นคว้าวิจัยและการวิเคราะห์ที่จำเป็นสำหรับการปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดการน้ำจืดและการพัฒนาโซลูชั่นที่มีประสิทธิภาพในทางปฏิบัติ นอกจากนี้ ไอบีเอ็มจะจัดหาพลังการประมวลผลเพื่อรองรับการจัดเก็บ จัดการ และวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากที่ต้องใช้ในการสร้างแบบจำลองระบบแม่น้ำสายสำคัญๆ ทั่วโลก
บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
คุณอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ โทร 02-273-4117 อีเมล์ onumav@th.ibm.com

แท็ก ไอบีเอ็ม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ