กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--สกว.
สกัดน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรหลายชนิด ช่วยต้านโรคเต้านมอักเสบในวัว ทดแทนยาปฏิชีวนะที่ก่อปัญหาการปนเปื้อนในน้ำนม ส่งผลเสียต่อผู้บริโภคและทำให้สัตว์ดื้อยา พร้อมเร่งพัฒนาเป็นเวชภัณฑ์ไทย ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
โรคเต้านมอักเสบในโคเป็นโรคที่ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจแก่อุตสาหกรรมการผลิตน้ำนมเป็นจำนวนมากประมาณความเสียหายโดยรวมอาจถึง 1,500-2,000 ล้านบาท/ปี แนวทางการรักษาที่ผ่านมาก็ยังมีการนำยาปฏิชีวนะและยาต้านการอักเสบมาใช้ ซึ่งยาเหล่านี้อาจก่อให้เกิดปัญหาของการปนเปื้อนในน้ำนม ทำให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภคทั้งยังทำให้เกิดการดื้อยาในสัตว์
แนวทางการนำพืชสมุนไพรอย่าง “น้ำมันหอมระเหย” มาใช้ทดแทนยาปฏิชีวนะเหล่านี้จึงเกิดขึ้น โดย รศ.ดร.วัชรี คุณกิตติ ภาควิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในคณะวิจัยโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์จุ่มหัวนมแม่วัวจากน้ำมันหอมระเหยที่ฆ่าเชื้อก่อโรคเต้านมอักเสบ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)
รศ.ดร.วัชรี กล่าวว่า โรคเต้านมอักเสบก่อให้เกิดความเสียหายต่อเกษตรกรโดยตรง เพราะหากแม่วัวมีอาการเต้านมอักเสบจะส่งผลให้ผลผลิตน้ำนมลดลงต่ำกว่าปกติ เกษตรกรต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการรักษา และสูญเสียรายได้ ดังนั้นผู้เลี้ยงจึงควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการดูแลรักษาความสะอาดของเต้านมวัวก่อนและหลังการรีดนมเพื่อป้องกันไม่ให้วัวที่เลี้ยงเกิดโรค สาเหตุของโรคนี้จะเกิดจากการอักเสบ และ ติดเชื้อของเต้านมวัว อันเนื่องมาจากการทำความสะอาดเต้านมก่อนและหลังรีดไม่ดีพอ หรือเกิดจากการรีดนมด้วยเครื่องรีดนมที่แรงเกินไป
จากปัญหาของโรคนี้คณะวิจัยจึงได้ร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไข โดยเล็งเห็นว่าศักยภาพของพืชสมุนไพรบ้านเรายังมีสรรพคุณที่สามารถนำมาใช้ทดแทนยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดหัวนมแม่วัวได้ เช่น ในน้ำมันหอมระเหย (Essential Oil) ซึ่งได้จากการสกัดจากพืชที่มีกลิ่นชนิดต่างๆ เช่น พลู ตะไคร้หอม ตะไคร้บ้าน ขมิ้นชัน ไพล มะกรูด เป็นต้น
ข้อดีของการนำน้ำมันหอมระเหยในการนำมาทำเป็นน้ำยาฆ่าเชื้อหัวนมแม่วัวก่อนและหลังรีดนม จะช่วยป้องการติดเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยๆ ในน้ำนม เนื่องจากน้ำมันหอมระเหยมีกลิ่นหอมและยังระเหยได้ง่าย ดังนั้นจึงไม่ก่อให้เกิดปัญหาการตกค้างในน้ำนมเหมือนน้ำยาฆ่าเชื้อที่เตรียมจากสารเคมี
งานวิจัยนี้จึงได้ศึกษาเปรียบเทียบถึงประสิทธิภาพของน้ำมันหอมระเหยของสมุนไพรที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยจากการแยกเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมาในน้ำนมที่รีดใหม่ๆ เราตรวจพบเชื้อที่ปนเปื้อน 5 ชนิด ได้แก่ สเตร็ปโตคอกคัส อกาแลกเตีย(Streptococcus agalactiae), แสตปฟิโลคอกคัส
ออเรียส(Staphylococcus aureus) ,บาซิลัส ซีรีอัส(Bacillus cereus), เอสเชอริเชีย โคไล(Esherichia coli) และซูโดโมแนส แอรูจิโนซา(Pseudomonas aeruginosa) และนำมาศึกษาฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อพบว่า น้ำมันหอมระเหยสามารถฆ่าเชื้อโรคเหล่านี้ได้ ในประสิทธิภาพที่ต่างกัน นอกจากนี้ยังพบว่าน้ำมันหอมระเหยที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากมากที่สุดไปน้อยที่สุดได้แก่ พลู, กระเพรา, ตะไคร้หอม, โหระพา, ไพล, ตะไคร้แกง, ขมิ้นชัน, และมะกรูด มีฤทธิ์ต้านการอักเสบในระดับที่ต่างกัน
ขณะนี้คณะวิจัยได้ทำกำลังเร่งสกัดน้ำมันหอมระเหยที่มีศักยภาพสูงในการฆ่าเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคเต้านมอักเสบมาพัฒนาเป็นเวชภัณฑ์ โดยหากสามารถผลิตน้ำยาจุ่มหัวนมจากน้ำมันหอมระเหยธรรมชาติเหล่านี้ได้ จะช่วยป้องกันและฆ่าเชื้อก่อโรคเต้านมอักเสบและลดการอักเสบของเต้านมวัวลงได้ อีกทั้งยังจะช่วยลดอัตราการติดเชื้อโรคครั้งใหม่ลงได้ถึงร้อยละ 50 และลดอุบัติการณ์การเกิดโรคเต้านมอักเสบได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งช่วยลดการนำเข้ายาปฏิชีวนะจากต่างประเทศลงด้วย รศ.ดร.วัชรี กล่าวในที่สุด
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net