กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--กรมส่งเสริมการส่งออก
ทูตพาณิชย์ 3 ภูมิภาค ญี่ปุ่น- ตะวันออกกลาง- แอฟริกา เปิดเกมชิงดำตลาดสินค้าบริการครึ่งปีหลัง ย้อนศรตั้งเป้าเติบโตสวนสถานการณ์โลก ชี้ช่องกลุ่มสินค้าเกษตร อาหารวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจบริการไทยฉลุย
การประชุมทูตพาณิชย์ 65 แห่งทั่วโลก ในช่วงบ่ายของวันพุธที่ 25 พฤษภาคม 2554 ณ เมืองทองธานี ภายหลังพิธีเปิดงานแสดงสินค้าจัดงานแสดงสินค้าอาหาร(THAIFEX-World of food ASIA) ถูกจับตามมองว่า จะเป็นเวทีประกาศตัวเลขการส่งออกใหม่ที่ได้รับการการการันตีว่าจะเติบโตได้ 15-16% ตามที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายไว้ โดยจะแบ่งกลุ่มรายงาน 10 ภูมิภาค ซึ่ง 3 ภูมิภาคหลักที่มีความเคลื่อนไหวในช่วงครึ่งปีแรก คือ เอเซียตะวันออกและโอเชียเนีย , ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ถูกจับตามองเป็นพิเศษ ทั้งนี้คาดว่าผลการประชุมทูตพาณิชย์ จะมีทิศทางและนโยบายที่จะขยายการส่งออกได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคร.) ประเทศแถบเอเซียตะวันออกและโอเชียเนีย (ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และออสเตรเลีย) เตรียมรายงานในที่ประชุมถึงสถานการณ์การค้าในภูมิภาคนี้ว่า ในปี 2554 กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกไปภูมิภาคนี้ 8% แต่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 10% คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 36,734 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญสำหรับไทยมาก และเลือกไทยเป็น China +1 โครงการก่อสร้างและฟื้นฟูภูมิภาคที่เกิดภัยพิบัติ มูลค่า 10 ล้านล้านเยน เป็นโอกาสในการขยายตลาดสินค้าไทย โดยเฉพาะ แก่สินค้าอาหารกระป๋องและแปรรูป ตลอดจนวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ไม้อัด ใยแก้ว ฉนวนทองแดง และแผ่นกรอง เพื่อก่อสร้างบ้านพักให้กับผู้ประสบภัย รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก อีกทั้งโอกาสการย้ายฐานการผลิตสินค้าญี่ปุ่นมาไทย เนื่องจากปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า ทั้งนี้ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้นำเข้าอันดับที่ 2 ของไทย ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออกไปญี่ปุ่น 20,416 ล้านเหรีญสหรัฐฯ ขยายตัว 29% และ 4 เดือนแรก(มกราคม-เมษายน 2554)มีมูลค่าการส่งออก 7,770 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 32 %
เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐฏิจโดดเด่น แต่เป็นตลาดที่มีข้อกีดกันทางการค้ามาก เป็นที่น่ายินดีที่ปีนี้เกาหลีเปิดให้มีการนำเข้า มังคุด และไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทย ซึ่งเคยถูกห้ามนำเข้าไปตั้งแต่เกิดการระบาดของไข้หวัดนก อีกทั้งกรมฯจะเน้นความร่วมมือในเรื่อง อุตสาหกรรมดิจิตัลคอนเทนต์ กับเกาหลีให้มากขึ้น โดยในปี 2554 เกาหลีใต้เป็นประเทศผู้นำเข้าอันดับที่ 15 ของไทย ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออกไปเกาหลีใต้ 3,610 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 28% และ 4 เดือนแรก ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 1,546 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 33%
ทวีปออสเตรเลีย เป็นตลาดที่มีอำนาจซื้อสูง ใส่ใจในคุณภาพ แผนกิจกรรมหลักในตลาดนี้ได้แก่ การพัฒนาธุรกิจบริการ โครงการส่งเสริมทักษะ Chef ไทยในออสเตรเลียและเผยแพร่โครงการไทยซีเล็ค (เมืองซิดนีย์ เมลเบอร์น บริสเบน และเพิร์ธ) โดยในปีนี้ ตลาดทวีปออสเตรเลีย เป็นประเทศผู้นำเข้าอันดับที่ 8 ของไทย ปีนี้มีมูลค่าการส่งออกไปออสเตรเลีย 10,516 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 12% สำหรับใน 4 เดือนแรกมีการส่งออก 3,186 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง10%
นอกจากภูมิภาคที่มีความวิตกกับสถานการณ์ตะวันออกกลาง และแอฟริกานั้น สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคร.) ภูมิภาคตะวันออกกลาง แจ้งว่า ในปีนี้ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกขยายตัว 7% แต่คาดว่าจะทำได้ถึง 12% คิดเป็นมูลค่า 10,829 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภูมิภาคตะวันออกกลาง มี 15 ประเทศ ประชากรร่วม 275 ล้านคน อัตราการขยายตัวของจีพีดีอยู่ที่ระดับ
3.8% เป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งร่ำรวย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดกลุ่มประเทศ GCC จำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ คูเวต โอมานและบาห์เรน สำหรับกิจกรรมสำคัญครึ่งปีหลังเน้น การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศ และ เมืองที่มีศักยภาพ เช่น คูเวต ชาร์จาห์ อาบูดาบี รวมทั้ง การจับคู่ธุรกิจ และการร่วมลงทุนในโครงการใหญ่ๆ
ประเทศเหล่านี้มีความต้องการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่สามารถผลิตได้เองเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าอาหาร สินค้าเกษตร รัฐบาลตะวันออกกลางหลายประเทศเพิ่มและปรับแผนเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มการจ้างงาน ตลอดจนการก่อสร้างโครงการใหญ่ๆอย่างต่อเนื่อง ยกเว้น ดูไบ ที่ค่อนข้างซบเซา ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจต่อเนื่องอื่นขยายตัวตามไปด้วย อาทิ ธุรกิจการออกแบบตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ และร้านอาหาร
รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคร.) ภูมิภาคแอฟริกา แจ้งว่า ในปีนี้ได้ตั้งตั้งเป้าหมายการส่งออกขยายตัว 3% คาดว่าจะทำได้ถึง 10% คิดเป็นมูลค่า 7,488 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งภูมิภาคแอฟริกา มีประชากรประมาณ 930 ล้านคน จีดีพีอยู่ที่ระดับ 4.9% เป็นตลาดศักยภาพใหม่ที่มีความโดดเด่นในหลายด้าน รวมถึงการเป็นแหล่งวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติของโลก ได้แก่ แหล่งน้ำมันดิบ ป่าไม้แร่ธาตุธรรมชาติ อาทิ ทองคำ เพชร พลอย และอัญมณี รวมทั้งมีทรัพยากรทางทะเลอันอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้การส่งออกจากไทยในปี 2553 มีมูลค่า 6,807.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวที่6.6% ในครึ่งปีหลังจะใช้กลยุทธ์การจัดไทยแลนด์ เทรด โชว์ , การเสาะหาแหล่งวัตถุดิบ และการจับคู่ธุรกิจ รวมทั้งให้ความสำคัญกับศูนย์กระจายสินค้าไทยในเมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ ที่จะเปิดทำการในเดือนพฤศจิกายนนี้
“น่าสังเกตว่ามีการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีสิ่งบ่งชี้ที่น่าสนใจ คือ อัตราการขยายตัวของการใช้อุปกรณ์สื่อสารและเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ประเทศในภูมิภาคนี้ ยังได้รับการช่วยเหลือด้านเงินกู้จากจีน เพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศ”
ถึงแม้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาจะเกิดเหตุการณ์ประท้วงในภูมิภาคแอฟริกาเหนือหลายประเทศ ได้แก่ ตูนีเซีย อียิปต์ ลิเบีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกขอไทยในช่วงสั้นๆ แต่ภายหลังที่เหตุการณ์ความไม่สงบคลี่คลายลง จะเป็นโอกาสของทองสินค้าไทยที่จะเข้าไปบุกตลาดเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภทอาหาร และวัสดุก่อสร้าง ซึ่งไทยมีศักยภาพมาก ในด้านสินค้าที่มีศักยภาพของไทย คือ ข้าว รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋อง และแปรรูป เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น