กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--วช.
เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2554 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศไทย” เพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยให้แก่ นักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ได้มีจิตสำนึกในการดำเนินงานในห้องปฏิบัติการให้มีคุณภาพและปลอดภัย พร้อมทั้งการสร้างค่านิยมให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเกิดการพัฒนาให้มีกลุ่มภาคี ต่อไป
ศาสตราจารย์นายแพทย์ สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า เนื่องจาก วช. มีบทบาทที่สำคัญในฐานะเป็นหน่วยงานกลางด้านการวิจัยของประเทศ มีภาระกิจสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างและพัฒนามาตรฐานการการวิจัยของประเทศ เพื่อให้หน่วยงานวิจัยใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติ และพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการไปในทิศทางเดียวกัน จึงได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายระบบวิจัย 5 ส. ประกอบด้วยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และ สถาบันวิจัยระบบสาธารณะสุข (สวรส.)
ทั้งนี้โดยมีความเห็นร่วมกันในการทำการวิจัยเชิงบูรณาการ ในการปฏิรูประบบวิจัย และพัฒนาศักยภาพการวิจัยทั้งทางด้านบุคลากร งบประมาณ และโครงสร้างพื้นฐาน อีกทั้งได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของ “มาตรฐานเฉพาะทางเกี่ยวกับการวิจัย” ได้แก่ มาตรฐานของข้อมูลการวิจัย มาตรฐานของการวิจัยในคน และมาตรฐานการใช้สัตว์เพื่องานวิจัยทางวิทยาศาตร์ มาตรฐานห้องปฏิบัติการ อันเป็นเรื่องเฉพาะและสากลก็ให้ความสนใจและชี้ให้เห็นว่า หากมีปัญหาเกี่ยวกับมาตรฐานแล้ว ผลงานวิจัยที่ออกมาก็จะไม่ได้รับการยอมรับในภาพรวมของประเทศ ขณะนี้ วช.ได้ผลักดันให้เกิดร่าง พ.ร.บ. การใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ อยู่ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อรอการพิจารณาแล้ว
สำหรับมาตรฐานห้องปฏิบัติการนั้น นับว่าเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ และต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ 1) ความน่าเชื่อถือของการดำเนินงาน เพื่อให้ผลการศึกษาค้นคว้าเป็นที่ยอมรับ และ 2) ความปลอดภัย ในการวิเคราะห์วิจัยต้องทำตามหลักของการปฏิบัติการที่ดีเพื่อให้ผู้วิเคราะห์วิจัย มีความปลอดภัย และก่อให้เกิดของเสียที่อันตราย และการแพร่กระจายของสารเคมีต่างๆ สู่สิ่งแวดล้อมน้อยให้ได้ที่สุด
อย่างไรก็ตามเนื่องจากขณะนี้ได้มีการกำหนดมาตรฐานห้องปฎิบัติการไว้หลายประเภท เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการค้นคว้าวิจัยทางห้องปฎิบัติการ ระบบบริหารจัดการ ระบบปฎิบัติการที่ดีของห้องปฎิบัติการ การจัดการเชิงความปลอดภัย ของห้องปฎิบัติการ แม้จะมีข้อปฎิบัติอย่างชัดเจน มีการจัดทำเอกสารคู่มือต่างๆ แต่การนำมาบังคับใช้จริงอาจมีอุปสรรคที่เกิดจากข้อจำกัดทางกายภาพ โครงสร้างและอุปกรณ์ อาจจกล่าวได้ว่าหน่วยงานหรือองคืกรในประเทศ แม้แต่สถาบันอุดมศึกษาก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญในระดับต้นๆ กับการบริหารจัดการให้มีมาตรการจัดการความปลอดภัยของห้องปฎิบัติการอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้นักวิจัย นักวิเคราะห์ ขาดความระมัดระวังในการใช้สารอันตราย และขาดความตระหนักในการทิ้งของเสียอันตรายจากห้องปฎิบัติการสู่สิ่งแวดล้อม มีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับอัตรายทั้งร่างกายและสุขภาพจากสารอันตรายต่างๆ
ดังนั้นทาง วช. ได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และทางศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย ได้มีความร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดประชุมระดมข้อคิดเห็นกับผู้ที่เห็นความสำคัญในเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ และได้รวบรวมข้อมูลรูปแบบการดำเนินงาน พร้อมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ในการร่วมมือกันวิเคราะห์และใช้ประโยชน์สาระที่มีอยู่แล้วเพื่อพัฒนาแนวปฎิบัติฯ กลาง และทดลองดำเนินงานในห้องปฎิบัติการนำร่องให้เป็นต้นแบบ เพื่อขยายผลต่อไป ซึ่งทางวช. จึงเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่แต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ให้ความสนใจ ให้ความสำคัญ และร่วมมือกันมาระดับหนึ่ง จึงต้องการเข้ามาร่วมผลักดันให้เกิดมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัยในระดับประเทศขึ้น โดยให้มีมาตรฐานที่เทียบเคียงและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติต่อไป