กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--เอฟวายไอ
“สานสัมพันธ์ วันทำบุญ อุ่นทั้งตำบล”
โรงเรียนศีขรภูมิพิสัย จังหวัดสุรินทร์
“...ตอนแรกที่ได้ยินกิจกรรมนี้...เซ็ง! ไปวัด ไปทำไม ไปทำบุญ น่าเบื่อ เล่นเกมมันส์กว่า!”
“คนแก่ซิต้องเข้าวัด เด็กๆ ไม่เกี่ยว วัดไม่ใช่ที่ของเรา เราเป็นเด็กต้องไปที่อื่น”
ทั้งหมดนี้ “เคย” เป็นความคิดของวัยรุ่นในโรงเรียนศีขรภูมิพิสัย จังหวัดสุรินทร์ แต่เมื่อพวกเขาได้เข้าร่วมในโครงการ “สานสัมพันธ์ วันทำบุญ อุ่นทั้งตำบล” โครงการที่ชักชวนวัยรุ่นให้เข้าวัด ความคิดของพวกเขาก็เปลี่ยนไป!
ปี 2548 โรงเรียนศีขรภูมิพิสัยตระหนักถึงปัญหานักเรียนขาดเรียน นักเรียนออกจากบ้านแต่มาไม่ถึงโรงเรียนรวมถึงปัญหาการทะเลาะวิวาทในหมู่นักเรียน และปัญหาอื่นๆ
แนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีสร้างคุณธรรม จริยธรรม และส่งเสริมการใช้ชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงให้กับเยาวชน โดยใช้วัดเป็นศูนย์กลางในการรวมจิตใจ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบ้าน โรงเรียน ชุมชนจึงได้รับการริเริ่มขึ้น และจัดทำเป็นโครงการ
“สานสัมพันธ์ วันทำบุญ อุ่นทั้งตำบล” โดยแกนนำซึ่งเป็น...นักเรียน
นักเรียนคิด นักเรียนทำ มีอาจารย์ ผู้ปกครอง และผู้ใหญ่ในชุมชนเป็นที่ปรึกษา คอยช่วยสนับสนุนดูแล คือแนว ทางหลักในการดำเนินงานของโครงการนี้ โดยมีการปฏิบัติอย่างเป็นลำดับขั้น
- แบ่งนักเรียนออกเป็น 15 กลุ่มตามตำบลที่อาศัยอยู่ แต่ละกลุ่มจะมีนักเรียนแกนนำคละกันทุกระดับชั้นเพื่อรับผิดชอบดำเนินการทุกอย่าง
- จัดหาวัดใกล้ตำบลของตนเอง เตรียมสถานที่ เรียนรู้การดำเนินพิธีกรรมทางศาสนาจากมรรคทายก ประชาสัมพันธ์ให้ทั้งนักเรียน ผู้ปกครองและคนในชุมชนเข้าร่วมกิจกรรมโดยความสมัครใจ
- ทุกกลุ่มจะมีการแต่งตั้งนักเรียนเป็น “กำนัน” ประจำตำบลเพื่อเป็นผู้ประสานงานทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน
ระยะแรกของการจัดทำโครงการมีนักเรียนสนใจเข้าร่วมกิจกรรมเพียง 60% แกนนำของโครงการจึงหยิบเอาแนวคิด “สานสัมพันธ์ในครอบครัว” มาเป็นตัวชูโรง เพื่อจูงใจให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มขึ้น โดยเลือกที่จะจัดกิจกรรมนี้ในทุกวันเสาร์ของช่วงเข้าพรรษา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่ที่ไปทำงานต่างจังหวัดจะกลับบ้านเพื่อมาทำนา
“เราใช้จุดนี้มาเชิญชวนเพื่อนๆ ว่า น่าจะดีนะ ถ้าทุกคนจะมีโอกาสสักครั้งที่ได้ไปวัด และทำบุญร่วมกับพ่อแม่”
ไม่แค่ “น่าจะดี” แต่ความคิดนี้ได้รับเสียงตอบรับ “ดีมาก” จนส่งผลให้ปัจจุบันมีนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้นเป็น 90%
จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณจากทางโรงเรียน อาศัยเพียงการลงแรงและร่วมใจของทุกคน ณ วันนี้โครงการสานสัมพันธ์ วันทำบุญ อุ่นทั้งตำบล ได้เติบโต ขยายผลจากโรงเรียนไปสู่ชุมชน และยังขยายผลอย่างต่อเนื่องไปสู่โรงเรียนอื่นๆ รวมถึงชุมชนใกล้เคียงอีกด้วย
“เรามีการขยายเครือข่ายออกไปอีก โดยชักชวนน้องๆ ชั้นประถมที่เรียนโรงเรียนใกล้วัดมาร่วมโครงการด้วย”
ไม่เพียงขยายขอบเขตโครงการเดิมออกไป แต่ยังมีการเสริมเพิ่มโครงการใหม่ตามหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง คือโครงการ "ข้าวก้นบาตร ข้าวไม่ยากหมากไม่แพง” โดยจะนำข้าวก้นบาตรที่เหลือจากการถวายพระไปแช่ที่อุณหภูมิเย็นจัดเพื่อยืดอายุของข้าว แล้วนำข้าวนั้นมาอุ่นร้อนเพื่อแบ่งปันให้กับนักเรียนที่ไม่มีข้าวกลางวันมารับประทาน
เมื่อได้เข้าร่วมกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ ความคิดของเหล่าเยาวชนที่เคยมองว่า การเข้าวัดเป็นเรื่องของคนแก่ เป็นเรื่องล้าสมัย ไม่เหมาะกับวัยรุ่นก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แม้แต่พฤติกรรมที่เคยหมกมุ่นอยู่กับเกม อยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ก็เปลี่ยนไป...จากหน้ามือเป็นหลังมือ
“พอได้มาทำบุญ ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ รู้สึกว่าใจสงบขึ้น ไม่ฟุ้งซ่าน ได้ฟังเทศน์ รู้หลักธรรม ทำให้เราคิดได้ แต่ก่อนคิดแต่เรื่องเกม พอเข้าวัดก็ห่างจากเกมมากขึ้น มีสมาธิกับการเรียนมากขึ้น ผลการเรียนก็ดีขึ้นมาก” เป็นความเห็นของศักดิ์ชัย-อดีตเด็กติดเกมที่ตอนนี้หันมาติดวัดแทน ความเห็นนี้สอดคล้องพ้องกับบุญส่ง ผู้รับหน้าที่ ’กำนัน’ ซึ่งบอกว่า
“เมื่อก่อนเคยคิดว่าการเข้าวัดเป็นเรื่องของคนแก่ พอได้มาจริงๆ ถึงรู้ว่ามันไม่ใช่ วัดเป็นได้ทุกอย่าง ให้ความรู้ก็ได้ ให้หลักการดำเนินชีวิตก็ได้ ไม่มีข้าวกิน...วัดก็ให้ข้าวเรากินอีก วัดเป็นจุดศูนย์รวมของพวกเรา”
“แต่ก่อนวันหยุดเราก็ต่างคนต่างไป บางคนไปเล่นเกม ไปทำนู่นนี่ไร้สาระ พอได้มาทำกิจกรรมนี้ ได้ทำบุญด้วย กัน กินข้าวด้วยกัน ทำกับข้าวมาแบ่งกัน มีปัญหาก็ปรึกษากัน รู้สึกว่าครอบครัวอบอุ่นขึ้น ชุมชนพึ่งพาอาศัยกันมากขึ้น” อรทัย-หนึ่งในเยาวชนแกนนำเสริม
“ผมประทับใจมากที่สุด ก็ตอนที่พ่อแม่มีโอกาสได้พบกับคุณครู ได้พูดถึงความประพฤติของผมว่าอยู่โรงเรียนเป็นอย่างไร ซึ่งพ่อแม่ไม่มีโอกาสได้รู้ ผมเห็นพ่อแม่มีความสุข ที่ท่านรู้ว่าผมเป็นคนอย่างไร แค่นี้ผมก็พอใจแล้วครับ” บุญส่งบอกกับคณะกรรมการที่ตัดสินโครงการฯ ด้วยน้ำเสียงแสดงความตื้นตัน
ผลที่เกิดขึ้นให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมนี้พิสูจน์ว่า โครงการ “สานสัมพันธ์ วันทำบุญ อุ่นทั้งตำบล” สามารถบ่มเพาะให้เยาวชนซึ่งเปรียบเหมือนเมล็ดพันธุ์เล็กๆ เหล่านี้เติบโตทางความคิด จนงอกงามขึ้นเป็นต้นกล้า ที่นอกจากจะมีรากแห่งคุณธรรมจริยธรรมฝังแน่นอยู่ในจิตใจตนเองแล้ว ยังพร้อมที่จะแผ่กิ่งก้านสาขา ส่งต่อแนวคิดดีๆ ไปยังเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่ จากรุ่นสู่รุ่น เพื่อสืบสานโครงการนี้ให้พัฒนากว้างไกลต่อไป... และพวกเขายัง “หวัง” ที่จะเห็นแนวคิดนี้ถูกส่งต่อออกไปถึงเยาวชนในสังคมไทยทุกคน
“วัยรุ่นไทยเดี๋ยวนี้ก้าวไปข้างหน้าอย่างเดียว ไม่หันมามองข้างหลัง ไม่หันมามองภูมิปัญญาของเราบ้าง ข้างหลังก็เริ่มสั่นคลอน เพราะไม่มีคนสานต่อ อยากเห็นภาพเด็กไทยไปวัดแทนที่จะไปห้าง นิยมของไทย รักวัฒนธรรมไทยบ้าง หันมาเข้าวัด มาหาความสงบให้กับจิตใจ จากที่เคยนั่งอยู่แต่หน้าจอ ก็เปลี่ยนมานั่งสมาธิ มือที่เคยกดแต่แป้นคีย์บอร์ด ก็เปลี่ยนมาถือถังสังฆทาน มาตักบาตรบ้างก็คงจะดี”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 026882300 thanakorn79