กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--สายการบินแอร์เอเชีย
- รายได้ (Revenue): 1.05 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว)
- กำไรจากการดำเนินงาน (Operating Profit): 2,417.2 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 46% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว)
- อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (Operating Profit Margin): 23% (เพิ่มขึ้น 3 ส่วนในพันส่วน)
- รายได้ / ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (Revenue / ASK): 1.644 บาท (เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว)
- บัญชีเงินฝาก (Cash Balance): 1.8 หมื่นล้านบาท
- รายรับจากบริการเสริมต่อหัว (Ancillary Income per pax): 500 บาท (เพิ่มขึ้น 31% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว)
- อัตราหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Net Gearing Ratio): 1.57 เท่า (ลดลงจาก 2.25 เท่า)
- ไทยแอร์เอเชียมีรายได้ 4,086 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 33% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว)
ซีอีโอ แอร์เอเชีย เบอร์ฮัด หรือแอร์เอเชีย มาเลเซีย ประกาศผลกำไรจากการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี 2554 ยังคงเติบโตอย่างยอดเยี่ยม แม้ราคาน้ำมันตลาดโลกจะเพิ่มสูงขึ้น
โทนี่ เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแอร์เอเชีย เบอร์ฮัด กล่าวว่า “สิ่งที่ยืนยันได้ดีที่สุดคือผลกำไรจากการดำเนินงานของเราที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และทำให้เห็นว่าการควบคุมต้นทุนอย่างรัดกุมของเรามีส่วนทำให้รายได้ของเราเพิ่มขึ้น แม้ว่าราคาน้ำมันสูงขึ้น ก็ไม่มีอะไรที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา ไม่ว่าเหตุการณ์ใดจะเกิดขึ้น เราจะไม่มัวมานั่งบีบมือและคร่ำครวญ แต่เราจะใช้พลังสร้างสรรค์และหาหนทางเอาชนะความท้าทายนั้น ผลประกอบการในไตรมาสแรกของปีนี้จึงชี้วัดได้อย่างดีว่าเรามาถูกทางแล้ว”
โทนี่กล่าวเพิ่มเติมว่า แอร์เอเชีย เบอร์ฮัด ยังรักษาอัตราส่วนการบรรทุก (Load Factor) ไว้ได้ที่ 80% ขณะที่รายได้ต่อปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (Revenue / ASK) ของเราเพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าเช่า (EBITDAR margin) เติบโตขึ้น 38% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และเรามีบัญชีเงินฝาก (Cash Balance) เพิ่มขึ้นเป็น 1.8 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามกําไรสุทธิหลังหักภาษี (Profit After Tax) ลดลง 23% เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาสนี้ต่ำลง
ด้านตัวเลขผลประกอบการของกลุ่มแอร์เอเชีย ในไตรมาสแรกของปี 2554 มีรายได้รวม 1.05 หมื่นล้านบาท มีกําไรสุทธิหลังหักภาษี 1,719.3 ล้านบาท ขณะที่ Load Factor อยู่ที่ 80% (เพิ่มขึ้นจาก 74% เมื่อไตรมาสแรกของปี 2553) ในส่วนของแอร์เอเชีย มาเลเซียมีรายได้ต่อปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับช่วยเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ไทย แอร์เอเชียเพิ่มขึ้น 13% และแอร์เอเชีย อินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 10% ส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าเช่าของแอร์เอเชีย มาเลเซีย ไทย แอร์เอเชีย และแอร์เอเชีย อินโดนีเซีย เพิ่มขึ้น 38% 22% และ 37% ตามลำดับ
โทนี่ กล่าวว่า “ด้วยกลยุทธ์เพิ่มอัตราผู้โดยสารที่เราได้ไตร่ตรองมาอย่างดี แม้ว่าค่าโดยสารโดยเฉลี่ยจะลดลง แต่จำนวนผู้โดยสารของแอร์เอเชียเพิ่มมากขึ้น ทำให้ Load Factor เพิ่มเป็น 80% เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว แอร์เอเชียพยายามจะรักษาต้นทุนการจัดการของเราให้ต่ำที่สุดในกลุ่มธุรกิจสายการบิน และเพิ่มรายรับจากบริการเสริม (Ancillary Income) เราไม่ได้พึ่งพาแต่ราคาค่าโดยสารอย่างเช่นที่สายการบินอื่นๆ ทำ กลยุทธ์ของเราคือเพิ่มจำนวนผู้โดยสารในแต่ละเที่ยวบินและรักษาอัตราการเพิ่มนี้ไว้ ซึ่งกลยุทธ์นี้ผลักดันให้รายได้ต่อปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารของแอร์เอเชีย มาเลเซียเพิ่มขึ้น 12% แสดงให้เห็นว่ากลยุทธ์ของเราได้ผล และเครื่องพิสูจน์ว่าแอร์เอเชียมีโครงสร้างการจัดการที่เข้มแข็ง”
ซีอีโอแอร์เอเชีย ยังกล่าวถึงรายได้จากบริการเสริมว่า ยอดใช้จ่ายของผู้โดยสาร 1 คนจะช่วยชดเชยราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นได้ประมาณ 1 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยเราได้เพิ่มราคาของบริการเสริมบางส่วนเพื่อให้สามารถชดเชยส่วนต่างของราคาน้ำมันนี้ ทั้งนี้รายรับจากบริการเสริมต่อหัวของแอร์เอเชีย มาเลเซีย เพิ่มเป็น 50 ริงกิต (เพิ่มขึ้น 31% จากเดิม 38 ริงกิต) ไทยแอร์เอเชียเพิ่มเป็น 368 บาท (เพิ่มขึ้น 34% จากเดิม 274 บาท) และแอร์เอเชีย อินโดนีเซีย เพิ่มเป็น 152,052 รูเปียห์ (เพิ่มขึ้น 57% จากเดิม 96,666 รูเปียห์)
โทนี่กล่าวว่า รายได้จากบริการเสริมยังคงเป็นตัวเร่งการเติบโตของแอร์เอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีส่วนทำให้เกิดการริเริ่มที่น่าตื่นเต้น ที่แอร์เอเชียประกาศไปเมื่อไตรมาสแรก ของปี 2554 อาทิ การร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างแอร์เอเชียและเอ็กซ์พีเดีย แอร์เอเชียจึงยังมุ่งเน้นเพิ่มรายได้ในส่วนบริการเสริม และมองหาโอกาสอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้ในธุรกิจเหล่านี้เพิ่มเติม
เฟอร์นานเดส ยังได้เน้น กล่าวว่า ผลการปฏิบัติงานของไทยแอร์เอเชียในไตรมาสแรกยังคงเข้มแข็ง มีรายได้ 4,086 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว กําไรสุทธิหลังหักภาษีเพิ่มขึ้น 30% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 นี้ ได้รับอานิสงค์จากการที่อยู่ในฤดูท่องเที่ยวและการเปิดเส้นทางใหม่ในอินเดีย ทำให้การบรรทุกผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 23% ไทยแอร์เอเชียยังได้รับมอบเครื่องบินแอร์บัส เอ320 1 ลำมาประจำการฝูงบิน ทำให้ปัจจุบันมีฝูงบิน 20 ลำ
ด้านแอร์เอเชีย อินโดนีเซียมีรายได้ 774,846 ล้านรูเปียห์ เพิ่มขึ้น 38% รายได้จากบริการเสริมเติบโตขึ้น 57% Load Factor อยู่ที่ 79% (เพิ่มขึ้น 72% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว) มีกําไรสุทธิหลังหักภาษี 31,943 ล้านรูเปียห์ เพิ่มขึ้น 588% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว แอร์เอเชีย อินโดนีเซียยังได้เพิ่มค่าโดยสารเฉลี่ยอีก 12% นอกจากนี้ยังได้รับมอบเครื่องบิน แอร์บัส เอ320 ในไตรมาสแรกอีก 2 ลำ ทำให้มีปัจจุบันมีฝูงบิน 20 ลำ
การคาดการณ์ช่วงต่อจากนี้ของปี 2554 โทนี่เน้นย้ำว่า “ทั้งกลุ่มแอร์เอเชียจะเน้นที่การลดต้นทุน ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถจำหน่ายเที่ยวบินราคาประหยัดได้เหมือนที่เราเคยทำมา การคิดค่าธรรมเนียมน้ำมันจะช่วยชดเชยต้นทุนเชื้อเพลงที่เพิ่มขึ้นได้บางส่วน นอกจากนี้กลุ่มแอร์เอเชียมีความพยายามอย่างแน่วแน่ที่จะเพิ่ม Load Factor ในเส้นทางหลักที่ทำกำไร และดึงส่วนแบ่งการตลาดมาจากคู่แข่ง”
“เรายังคงเตรียมเปิดตัวแอร์เอเชีย ฟิลิปปินส์ ในครึ่งปีหลัง ผมรู้สึกตื่นเต้นในความก้าวหน้าครั้งนี้ และเรายังได้กลับไปมองดูตลาดในเวียดนามอีกครั้ง และหวังว่าจะได้ประกาศความคืบหน้าเร็วๆ นี้ สิ่งเหล่านี้จะช่วยสยายปีกแอร์เอเชียให้ครอบคลุมน่านฟ้าอาเซียน” เฟอร์นานเดสกล่าว
การป้องกันความเสี่ยงของน้ำมันเชื้อเพลิง เฟอร์นานเดสกล่าวว่า กลุ่มแอร์เอเชียได้ประกันความเสี่ยงน้ำมันเชื้อเพลิงไว้ที่ 17% ของความต้องการใช้น้ำมันชื้อเพลิงช่วงครึ่งปีหลัง เรายังติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด หากได้รับสัญญาณ เราก็เตรียมปรับเปลี่ยนได้อย่างทันท่วงที
สอบถามเพิ่มเติมที่: ฝ่ายสื่อสารองค์กร สายการบินแอร์เอเชีย
ณัฐวุฒิ จิตต์อาจหาญ nuttawutj@airasia.com
กฤติยาวดี พงษ์พาณิชย์ krittiyawadeep@airasia.com
ปิยสุดา อาชาสันติสุข piyasudaa@airasia.com