กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--สคฝ.
สถาบันคุ้มครองเงินฝากห่วงผู้ฝากเงินสับสน เร่งหาแนวทางกำกับความชัดเจน หลังแบงก์แข่งขันออกโปรดักส์หลากหลาย เน้นสื่อความเข้าใจถึงผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคุ้มครอง - ป้องกันความสับสนจากโปรดักส์ทางการเงิน
นายสิงหะ นิกรพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยว่าสถาบันคุ้มครองเงินฝากมีผลบังคับใช้อัตโนมัติมาแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ที่ผ่านมา และยิ่งใกล้วันที่จะมีการลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 11สิงหาคม 2554นี้ คือจากเดิมมีการคุ้มครองแบบเต็มจำนวน มาเป็นแบบมีการกำหนดวงเงินการคุ้มครองเป็นไม่เกิน 50 ล้านบาท ( และในปี 2555 คุ้มครองจำนวนวงเงินที่ไม่เกิน 1ล้านบาท ) ก็ยิ่งทำให้ผลิตภัณฑ์หรือกองทุนต่างๆ มีการใช้ประเด็นนี้ในการเชิญชวนผู้ลงทุนมากขึ้น
ส่งผลให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากมีความห่วงใย กลยุทธ์จากช่องทางสื่อต่างๆ ในการดึงดูดเม็ดเงินฝากของประชาชนในลักษณะนี้ ที่อาจสร้างความสับสนได้ในเรื่องการได้รับความคุ้มครอง รวมทั้งอยากให้ผู้ฝากเงินควรศึกษาข้อมูลให้รอบด้านเพื่อการบริหารความเสี่ยงจากการกระจายเงินลงทุน ว่าการลงทุนนั้นมีความเสี่ยงอย่างไรประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในกองหุ้น กองทุนตราสารหนี้ หรือการลงทุนในกองทุนรวม หรือโปรดักส์ใดๆ ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สถาบันคุ้มครองเงินฝากกำลังรวบรวมรายละเอียดผลิตภัณฑ์เงินฝากในระบบและจะพิจารณาเพื่อที่จะกำหนดตราสัญลักษณ์หรือข้อความให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งแสดงความชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์ใดได้รับความคุ้มครอง โดยแนวคิดที่ออกตราสัญลักษณ์กำกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินนั้น เป็นโครงการศึกษาของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ที่ต้องการสื่อความเข้าใจถึงผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคุ้มครอง เนื่องจากปัจจุบันสถาบันการเงินต่างๆ มีการออกผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทำให้เกิดความสับสนแก่ผู้ฝากเงิน
ทั้งนี้ สถาบันคุ้มครองเงินฝากต้องการกำหนดรูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผู้ฝากเงินแยกแยะได้ชัดเจนและง่ายขึ้น แต่ในเวลานี้ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาว่าจะกำหนดรูปแบบไหนให้เหมาะสมกับพฤติกรรมผู้ฝากเงินเมืองไทย เช่น กำหนดรูปแบบเฉพาะเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย หรือรวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่กฎหมายไม่ได้ให้ความคุ้มครอง หรืออาจจะรวมถึงข้อความการโฆษณาที่เกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ เหล่านี้ยังยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้
สำหรับผู้สนใจรายละเอียดต่างๆของสถาบันคุ้มครองเงินฝากสามารถติดตามได้ทาง www.dpa.or.th หรือ 02-272-0300