กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--กรมส่งเสริมการส่งออก
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุม ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ (HTA) ทั่วโลก วันที่ 26 พฤษภาคม 2554 เน้นการทำงานเชิงรุก ได้แก่ 1 ตลาดหลัก มุ่งเน้นนวัตกรรมใหม่ การสร้างแบรนด์ การออกแบบสินค้าให้สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน พร้อมใส่ใจสิ่งแวดล้อม รวมถึงการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ตลาดที่มีศักยภาพ ได้แก่ ประเทศในกลุ่มอาเซียน ที่จะมุ่งเน้นในด้านการแสวงหาวัตถุดิบใหม่ๆ เพื่อลดต้นทุนในภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยมุ่งเน้นสินค้าแฟชั่น อาหาร เป็นสินค้าส่งออกสำคัญ ตลาดใหม่ เนื่องจากสภาวะผันผวนของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันทำให้เราต้องแสวงหาตลาดใหม่เพื่อขยายตลาดส่งออกของไทยให้เพิ่มมากขึ้น
“กระทรวงพาณิชย์จะสนับสนุนดำเนินงานของ HTA โดยการจัดส่งข้อมูลการค้า และรายชื่อผู้ส่งออกของไทยที่มีศักยภาพ โดยแบ่งเป็นรายกลุ่มสินค้าและอุตสาหกรรม ตลอดจนจัดทำ Website ส่วนกลางสำหรับ HTA ในการ Update ข้อมูลการค้า การลงทุนแต่ละประเทศ รวมทั้งข่าวสารกิจกรรมการดำเนินงานของ HTA ขณะนี้ทางกระทรวงพาณิชย์ได้รับการสนับสนุนจากคณะ HTA ในการส่งเสริมการค้าของไทย เพื่อขยายมูลค่าการค้าของไทย โดยเพิ่มกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกในภูมิภาคและประเทศที่มีศักยภาพ เช่น การจัด Thailand Trade Fair และ Trade Mission เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของสินค้าและธุรกิจบริการของไทย พร้อมทั้งส่งเสริมและให้ความรู้แก่ผู้ส่งออกไทย ในการทำการค้ากับประเทศต่างๆ โดยเน้นสินค้าไทยที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะสินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รักษาธรรมชาติ สินค้าที่ไม่ขัดต่อหลักจริยธรรม (การใช้แรงงานเด็ก) และซื้อขายได้ง่าย”
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวเสริมถึงการลงลึกเป็นรายภูมิภาค กลยุทธ์การเจาะตลาดเวียดนาม ซึ่งเวียดนามมีการออกมาตรการที่มิใช่ภาษีและกฎระเบียบนำเข้า/ข้อบังคับใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าของไทย เช่น การกำหนด Port นำเข้าสินค้าเครื่องสำอาง ฯลฯ จึงจำเป็นต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงมาตรการ/กฎระเบียบดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อที่ผู้ส่งออกไทยจะสามารถปฏิบัติตามได้ โดยสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น จึงควรพิจารณาศักยภาพของเวียดนามในการเป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับการผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดต่างประเทศ เช่น อาหารทะเล เมล็ดกาแฟ และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ และควรจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการตลาดในภาคกลางเพิ่มขึ้น เช่น การจัดงานแสดงสินค้าไทย ณ เมืองดานัง และจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) เป็นต้น
ภูมิภาคตะวันออกกลาง การดำเนินการค้าระหว่างไทยกับประเทศในตะวันออกกลางต้องคำนึงถึงกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าที่ชัดเจน เช่น ต้องมีภาษาอาราบิก วันหมดอายุ ฯลฯ ทั้งนี้สินค้า/บริการที่ไทยมีศักยภาพในตลาด คือ กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง อาหาร(ฮาลาล) ธุรกิจสปา ไลฟ์สไตล์ และแฟชั่น โดยผ่านช่องทางอำนวยการค้าต่างๆ เช่น Trade fair เป็นต้น
ภูมิภาคแอฟริกา ประเทศแอฟริกามีมากกว่า 50 ประเทศ จึงเน้นไปที่ Small Niche Market คือมาดากัสกา โดย รณรงค์ภาพลักษณ์สินค้าไทยผ่านทางโฆษณาให้มากยิ่งขึ้น จัด Exhibitionโดยการจัดตั้งPermanent Thailand Showcase ในเมือง โดย HTA จะร่วมมือกับ สคร. ส่งสินค้าตัวอย่างไปจัดแสดงที่นั่น การ Monitor ติดตามความเคลื่อนไหว/กิจกรรมทางการตลาดซึ่งเกี่ยวเนื่องกับสินค้าและบริการไทย เช่น ธุรกิจ การนวดแผนไทย ให้เป็นไปตามแนวทางที่ถูกต้อง และการเพิ่มศักยภาพทางการค้าโดยการร่วมมือกันระหว่างนักธุรกิจทั้ง 2 ประเทศ ตลอดจนต้องการให้นักธุรกิจไทยไปลงทุนด้านการเกษตรให้มากยิ่งขึ้น เช่น การทำฟาร์มไก่ ซึ่งเป็นธุรกิจที่อยู่บนพื้นฐานความต้องการของตลาด ตลอดจนการคิดนอกกรอบหาช่องทางทางการตลาดที่แปลกใหม่
สำหรับภูมิภาคยุโรป ปัจจัยสำคัญ คือ เรื่องคุณภาพสินค้า (Quality) ราคา และความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness)นอกจากนั้น ผู้ผลิตและส่งออกไทยควรคำนึงถึงแนวโน้มของสินค้า (Trend of products) พฤติกรรมของผู้บริโภค (Consumer behavior) ความร่วมมือทางการค้าระหว่างภูมิภาคต่างๆ หุ้นส่วนทางการค้าระหว่างภูมิภาค (Regional partnership) โดยเฉพาะกับประเทศใหญ่ๆ เช่น สหรัฐฯ และจีน เป็นต้น ตลอดจน Social network และ Social media การพัฒนาเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการส่งเสริมการขาย การพัฒนา Brand เครื่องหมาการค้า (Trade mark) B2B การสร้างเครือข่ายทางการค้า (Networking) การใช้พลังงานทดแทน Climate change และการส่งเสริมการลงทุนระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป นอกจากนี้ ปัจจัยอื่นๆ ที่ช่วยสนับสนุนการขยายการค้าระหว่างกันที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การพัฒนาเว็บไซด์ให้ทันสมัย และ Update ตลอดเวลา เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลการค้า ที่สามารถสืบค้นได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้ารายใหญ่ของโลก การนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯเป็นผลดีแก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาเอง เนื่องจากทำให้ผู้บริโภคในสหรัฐฯ สามารถหาซื้อสินค้าได้หลากหลายในราคาที่ถูกกว่าการผลิตเองภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม การบริโภคภายในของสหรัฐค่อนข้างแข็งแกร่ง การดำเนินการของกระทรวงพาณิชย์จะเน้นการทำตลาดให้กว้างขึ้น เช่น ตลาดในกลุ่มฮิสเปนิค และตลาดกลุ่มสถาบัน (โรงแรม เรือนจำ และเรือสำราญ เป็นต้น)