กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--กระทรวงอุตสาหกรรม
สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือองค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(JETRO)กรุงเทพฯ และกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ภายใต้ความร่วมมือ JTEPA-Kitchen to the World จัดสัมมนาเรื่อง “อุตสาหกรรมอาหารของไทยปลอดภัยและเชื่อถือได้” หรือ Thai Food Industry- Safety and Trust for Competitiveness อัดฉีดผู้ประกอบการไทย เตรียมความพร้อมเรื่องระบบความปลอดภัยอาหารให้เข้มแข็ง ทั้งศึกษาความต้องการของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นให้ถ่องแท้ หวังสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยและเชื่อถือได้ของอุตสาหกรรมอาหารไทยให้โดนใจผู้นำเข้าญี่ปุ่น มั่นใจช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดในญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้
นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า การจัดสัมมนา เรื่อง “อุตสาหกรรมอาหารของไทยปลอดภัยและเชื่อถือได้” หรือ Thai Food Industry- Safety and Trust for Competitiveness ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมการค้าและการลงทุนเพื่อครัวไทยสู่โลก ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่น(JTEPA) ที่ฝ่ายไทยและญี่ปุ่นได้ร่วมมือดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาและยกระดับระบบคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ประกอบการอาหารไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบการอาหารไทยด้านระบบความปลอดภัยอาหาร กฎหมายและระเบียบการนำเข้า และการตรวจสอบสินค้าอาหารของประเทศญี่ปุ่น รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับความคาดหวังของผู้บริโภคในตลาดญี่ปุ่นเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้เข้าใจและตระหนักว่านอกจากผู้ประกอบการจะต้องพัฒนาศักยภาพให้สามารถผลิตสินค้าอาหารที่มีคุณภาพ (Quality) มีความปลอดภัย (Safety) ซึ่งภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า “ANZEN” และได้มาตรฐานสอดคล้องตามข้อกำหนดและกฎระเบียบของรัฐบาลญี่ปุ่นแล้ว ผู้ประกอบการไทยจะต้องก้าวไปให้ได้ในอีกระดับคือ สามารถผลิตสินค้าอาหารที่สอดคล้องตามความคาดหวังของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นได้ จนทำให้ผู้บริโภคญี่ปุ่นให้ความเชื่อถือและความไว้วางใจ (Trust) ซึ่งภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า “ANSHIN” ต่อสินค้าอาหารของไทย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ไทยสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดอาหารในประเทศญี่ปุ่นได้อย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยและเชื่อถือได้ของอุตสาหกรรมอาหารไทยให้แก่ผู้นำเข้าญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 1 ของไทย มีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 14-15 ของมูลค่าส่งออกอาหารโดยรวมในแต่ละปี ซึ่งตลอดระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกสินค้าอาหารไปยังประเทศญี่ปุ่นคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยปีละกว่า 113,000 ล้านบาท
“ญี่ปุ่นเป็นประเทศนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาและเยอรมนี โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีแหล่งนำเข้าสำคัญคือ สหรัฐฯ จีน ออสเตรเลีย แคนาดา และไทย สำหรับปี 2553 แหล่งนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญของญี่ปุ่น คือ 1)สหรัฐฯ ครองส่วนแบ่งตลาดอาหารในญี่ปุ่นร้อยละ 24 ด้วยมูลค่า 14.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ 2)จีน ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 14 ด้วยมูลค่า 8.2 พันล้าน
เหรียญสหรัฐ 3)ออสเตรเลีย ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 7 ด้วยมูลค่า 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ 4)แคนาดา ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 6 ด้วยมูลค่า 3.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนไทย ครองส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 6 อยู่ในอันดับที่ 5 ด้วยมูลค่า 3.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ
โดยญี่ปุ่นมีแนวโน้มนำเข้าสินค้าอาหารจากไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าไทยจะครองส่วนแบ่งตลาดญี่ปุ่นในอันดับที่ 5 แต่เมื่อพิจารณาในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีการนำเข้าอาหารจากไทยเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด โดยเมื่อ 6 ปีก่อน(2548) ไทยมีส่วนแบ่งตลาดอาหารในญี่ปุ่นราวร้อยละ 4 และเติบโตมาเป็นร้อยละ 6 ในปัจจุบัน (2553) อีกทั้งสินค้าอาหารที่ไทยส่งเข้าตลาดญี่ปุ่นยังไม่มีกรณีปัญหาด้านความปลอดภัยอาหารที่อาจกระทบต่อ
ความเชื่อถือในสินค้าอาหารที่มีแหล่งนำเข้าจากไทย เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งสำคัญ เช่น จีน พบว่าส่วนแบ่งตลาดอาหารของจีนในญี่ปุ่นนั้นมีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 17 เมื่อ 6 ปีก่อน(2548) เป็นร้อยละ 14 ในปี 2553โดยเฉพาะหลังจากที่จีนประสบปัญหาด้านความปลอดภัยของอาหาร กรณีการปนเปื้อนสารเมลามีนในอุตสาหกรรมนมของจีนและกรณียาฆ่าแมลงปนเปื้อนในเกี๊ยวซ่า ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือต่อสินค้าอาหารที่มีแหล่งนำเข้าจากจีนเป็นอย่างมาก ทำให้ญี่ปุ่นนำเข้าอาหารจากจีนลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งในปี 2550 นำเข้าจากจีนลดลงร้อยละ 3.2, ปี 2551 ลดลงร้อยละ 10.8 และปี 2552 หดตัวลงอีกร้อยละ 1.7 และเริ่มมีการขยายตัวอีกครั้งในปี 2553 ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 17.14” นายเพ็ชร กล่าว
ด้านนางมาลี โชคล้ำเลิศ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ไทยนับเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารไปยังตลาดหลักหลายแห่งของโลก ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2554 ไทยส่งออกอาหารไปต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่า 5,043 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 151,290 ล้านบาทโดยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.8 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ซึ่งนับได้ว่าการส่งออกสินค้าอาหารของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความต้องการสินค้าอาหารของตลาดโลกโดยรวมที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมีสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ ข้าว ไก่สุกแปรรูป กุ้งแช่แข็ง ทูน่ากระป๋อง ผักผลไม้ ทั้งสดและแปรรูป เป็นต้น
ปัจจุบัน ญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้นำเข้าอาหารมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก โดยร้อยละ 60 เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ออสเตรเลีย รวมทั้งไทย โดยเฉพาะเนื้อหมู ทูน่า กล้วย และเมล็ดกาแฟ ซึ่งนับเป็นสินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุด ในขณะเดียวกัน สถานการณ์การแข่งขันในตลาดญี่ปุ่นมีสภาวะที่รุนแรง เนื่องจากมีประเทศคู่แข่งอีกหลายประเทศ เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และจีน ที่ต่างก็ต้องการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในญี่ปุ่น
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอาหารนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนกระบวนการผลิตในภาคการเกษตรทั้งระบบของไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับประชากรเกือบร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรไทยกว่า 65 ล้านคน ดังนั้น การที่อุตสาหกรรมอาหารและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลกฎระเบียบ และข่าวสารต่างๆ ที่ทันต่อเหตุการณ์ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่ควรมองข้ามเพื่อเป็นปัจจัยพื้นฐานในการเสริมสร้างความเข้มแข็งต่ออุตสาหกรรมอาหารของไทย การส่งออกของประเทศ ตลอดจนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้มีศักยภาพทัดเทียมนานาชาติ และมีความยั่งยืนต่อไปในอนาคต
มร.โนบุโอะ ชิบุยะ ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท อิออน รีเทล จำกัด ในฐานะกลุ่มบริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ทางบริษัทฯ ได้นำระบบควบคุมคุณภาพ และระบบตรวจสอบย้อนกลับมาใช้กับผลิตภัณฑ์อาหารที่นำมาจำหน่ายอย่างเคร่งครัด โดยเป็นระบบการควบคุมเพื่อรับรองด้านสุขอนามัยของผลิตภัณฑ์อาหารในสถานที่จำหน่าย เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารอย่างเด็ดขาด อาทิ อาหารเป็นพิษ, มีสิ่งแปลกปลอมปนกับอาหาร, แพ้อาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ยังเข้มงวดเรื่องป้ายฉลากหรือสื่อที่แสดงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาหารจะต้องถูกต้องและเข้าใจง่าย
“ปัจจุบันเราให้ความสนับสนุนช่วยเหลือธุรกิจในประเทศจีน และอาเซียน โดยใช้โครงสร้างระบบการควบคุม TOPVALU ยกตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ผักอินทรีย์แช่แข็งที่ผลิตในจีน เราก็จะตรวจสอบ supplier ที่เป็นคู่ค้า ว่าได้ดำเนินการดังต่อไปนี้หรือไม่ 1)ผู้บริหารกิจการของ supplier?ได้พยายามที่จะผลิตสินค้าที่ปลอดภัยมีคุณภาพสูงอย่างต่อเนื่อง โดยจะต้องมีเงื่อนไขสำคัญคือ รักษาและปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคม และสามารถอธิบายถึงความรับผิดชอบและความเอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อมได้ด้วย 2)ได้สร้างระบบควบคุมคุณภาพ เพื่อนำเสนอสินค้าที่ปลอดภัยและมั่นใจแก่ลูกค้าหรือไม่ กล่าวคือ เป็นกิจการที่ได้การรับรอง GLOBAL STANDARD ในปัจจุบัน (SQF, GLOBAL GAP ฯลฯ) หรือ GLOBAL STANDARD ในอนาคต(HACCP, ระบบการบริหารคุณภาพ?อาทิ HACCP, ISO 9001 เป็นต้น) โดยที่ปัจจุบันได้ทำการควบคุมคุณภาพอยู่แล้ว 3) ไม่มีปัญหาด้านการบริหารกิจการ โดยตรวจสอบบริษัทที่มีการทำธุรกรรมร่วมกัน เป็นต้น”
นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า โครงสร้างการนำเข้าสินค้าอาหารของญี่ปุ่นในปี 2553 ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ประมง (ปลาและสัตว์น้ำ) ร้อยละ 19.32, ธัญพืช (ข้าว) ร้อยละ 11.44, ผลิตภัณฑ์ปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ปลาและสัตว์น้ำ ร้อยละ 8.69, และผักผลไม้แปรรูป ร้อยละ 4.96
สำหรับกลุ่มสินค้าที่มีการนำเข้าจากประเทศไทยในสัดส่วนที่สูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ปลาและสัตว์น้ำ (ไก่ปรุงสุก, อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป, กุ้งและ/ หรือเนื้อปลาแปรรูป) มีสัดส่วนการนำเข้าจากไทยร้อยละ 22.43, น้ำตาล ร้อยละ 23.71, ปลาและสัตว์น้ำร้อยละ 5.59, ผลิตภัณฑ์จากเมล็ดธัญพืช (แป้งจากข้าวและสตาร์ช) ร้อยละ 4.59, ผัก ผลไม้แปรรูปร้อยละ 4.81 และผักร้อยละ 4.78
ปัจจุบันมีมาตรการด้านความปลอดภัยอาหารของประเทศญี่ปุ่นที่ผู้ส่งออกของไทยต้องคำนึงถึงด้วยกัน 3 ด้านคือ 1.มาตรการด้านสุขอนามัยอาหาร 2.มาตรการด้านสุขอนามัยพืช และ 3.มาตรการด้านสุขอนามัยสัตว์ สำหรับระบบการนำเข้าสินค้าอาหารของประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ Article 27 ของกฎหมายสุขอนามัยอาหาร (Food Sanitation Law) กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าต้องแจ้งการนำเข้า (Import Notification) แก่กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการ (MHLW) ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการตรวจสอบสินค้าอาหารนำเข้าทุกชนิด(Imported food inspection) ตามกฎหมาย หากไม่ดำเนินการถือว่าผู้นำเข้ามีความผิดและจะไม่ได้รับอนุญาตให้วางจำหน่ายสินค้าอาหารในประเทศญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตามยังมีมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าอยู่ 2 ประการ คือ 1.ระบบ Pre-certification System สำหรับสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหาร เพื่อเป็นการผ่อนปรนมาตรการสุขอนามัยของกระทรวงสาธารณสุขฯ สำหรับสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหารนำเข้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และ
มาตรฐานการผลิตจากหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งสินค้าเกษตร สัตว์น้ำและปศุสัตว์แปรรูปที่จดทะเบียนภายใต้ระบบ Pre-certification System นี้ และได้รับเลขที่ทะเบียนรับรอง (Registration Number) จากรัฐบาลญี่ปุ่นจะสามารถผ่านขั้นตอนการนำเข้าและการตรวจปล่อยสินค้าได้รวดเร็วขึ้น โดยกระทรวงสาธารณสุขฯ ญี่ปุ่นจะสุ่มตรวจสินค้าเป็นครั้งคราวเท่านั้น 2.การขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์มาตรฐานสินค้าอาหาร กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น มีระบบการขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์มาตรฐานสินค้าอาหารในต่างประเทศ โดยจะให้การยอมรับผลการตรวจวิเคราะห์ของห้องปฏิบัติการที่ขึ้นทะเบียนดังกล่าว โดยเปิดโอกาสให้ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์มาตรฐานสินค้าของภาครัฐ(Official Laboratory) หรือห้องปฏิบัติการเอกชน (Registered Laboratory) ในต่างประเทศขอขึ้นทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุขฯญี่ปุ่นได้ โดยกระทรวงสาธารณสุขฯ จะให้การยอมรับผลการตรวจวิเคราะห์มาตรฐานสินค้าของห้องปฏิบัติการที่ขึ้นทะเบียน สำหรับนำมาใช้ในการอนุญาตนำเข้าสินค้าแต่ไม่รวมถึงผลการวิเคราะห์ทางจุลชีววิทยา ปัจจุบันห้องปฏิบัติการในประเทศไทยที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุขฯ ญี่ปุ่น มีจำนวน 20 แห่ง โดยเป็นห้องปฏิบัติการของภาครัฐ (Official laboratories) จำนวน 9 แห่งและห้องปฏิบัติการเอกชนที่ได้รับการรับรอง (Registered laboratories) จำนวน 11 แห่ง
นายอมร กล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบันสถาบันอาหารได้ร่วมกับเจโทรจัดทำ “Japan Desk” หรือแหล่งให้บริการข้อมูลและคำปรึกษาด้านกฎระเบียบ ขั้นตอนการนำเข้าและมาตรฐานความปลอดภัยอาหารของประเทศญี่ปุ่น มีหน้าที่ให้บริการข้อมูล (Information Service) เกี่ยวกับกฎ ระเบียบ, มาตรฐานสินค้าอาหาร, ขั้นตอนการนำเข้าและการตรวจสอบสินค้าอาหารของญี่ปุ่น, ข้อกำหนดด้านความปลอดภัยอาหาร และมาตรการใหม่ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของญี่ปุ่น, สถิติการส่งสินค้าอาหารไทยเข้าตลาดญี่ปุ่น และการนำเข้าสินค้าอาหารของญี่ปุ่น ตลอดจนแนวโน้มตลาดสินค้าอาหารในญี่ปุ่นและพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังบริการให้คำปรึกษา(Consultation Service) เกี่ยวกับขั้นตอนการนำเข้าและการตรวจสอบสินค้าอาหารของประเทศญี่ปุ่น ให้คำแนะนำด้านเทคนิคที่เกี่ยวกับการปฏิบัติที่ถูกต้องและสอดคล้องตามกฎ ระเบียบ,
มาตรฐานการผลิตสินค้า, บรรจุภัณฑ์อาหาร และข้อกำหนดด้านความปลอดภัยอาหารของประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งด้านการตลาด พฤติกรรมการบริโภค และการผลิตสินค้าอาหารให้ตรงตามความคาดหวัง และสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคญี่ปุ่น
ทั้งนี้ผู้ประกอบการสามารถสืบค้นข้อมูลดังกล่าว และข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจการส่งออกสินค้าอาหารเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นเพิ่มเติมได้ที่ http:// intranet.nfi.or.th/nfijapan-desk หรือ โทร. 02-886-8088 ต่อ 3104, 3106, 3109 และ 3117”