สสวท. เร่งปรับหลักสูตรและสื่อวิทย์-คณิตให้ทันสมัยพร้อมกับจับมือพันธมิตรเร่งผลักดันมาตรฐานการศึกษา ชี้ 3 ปี ต้องดีขึ้น

ข่าวเทคโนโลยี Friday March 30, 2007 13:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--สสวท.
ศ. ดร. สุรินทร์ พงศ์ศุภสมิทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) แจ้งว่า ขณะนี้ สสวท. กำลังเร่งปรับปรุงหลักสูตรวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีให้ทันสมัย โดยกำลังอยู่ในขั้นพิจารณาเนื้อหาของแต่ละวิชาให้เหมาะสมกับลำดับชั้นของนักเรียน ว่าแต่ละเนื้อหาในวิชาใด ควรจะเหมาะกับนักเรียนระดับใด ควรมีลำดับการเรียนรู้อย่างไร และควรจะเชื่อมโยงแนวความคิดหลักจากวิชาหนึ่งไปสู่อีกวิชาหนึ่งได้อย่างไร เพราะการเรียนรู้แต่ละเนื้อหานั้นสามารถบูรณาการได้หลายวิชา นักเรียนควรจะเรียนรู้ได้อย่างมีกระบวนการและเป็นลำดับขั้นตอน
หลังจากปรับหลักสูตรแล้วลำดับต่อไปก็จะปรับปรุงพัฒนาสื่อ โดยเฉพาะคู่มือครู ตำราเรียน ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น จากนั้นก็จะจัดทำสื่อเสริมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น หนังสือและซีดีเสริมความรู้เรื่องดาวเคราะห์ พัฒนาและส่งเสริมให้มีแหล่งเรียนรู้ ตามสถานที่ต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น รวมทั้งสื่อดิจิทัลที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้จำนวนมาก เช่น ฐานข้อมูลในเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อเสริมการเรียนรู้เหล่านี้ ที่ สสวท. ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายไปแล้ว เช่น แหล่งเรียนรู้โป่งก้อนเส้า จังหวัดสระบุรี ฐานข้อมูลเว็บไซต์สารสนเทศดาราศาสตร์ ฐานข้อมูลความรู้และสื่อในเว็บไซต์ของ สสวท. ศูนย์ศึกษาการเรียนรู้ดาราศาสตร์และธรรมชาติวิทยา พื้นที่ภาคตะวันตก ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้และเผยแพร่เทคนิคและสื่อการสอนที่ทันสมัย นอกจากนั้นยังมีโครงการเครือข่ายสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้เขตพื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะขยายผลไปสู่โรงเรียนทั่วประเทศด้วย
ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวต่อไปว่า การที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษาวิทยาศาสตร์นั้นไม่ใช่แค่การพัฒนาหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพสูงเพียงเท่านั้น เพราะปัจจัยที่จะยกระดับคุณภาพหรือมาตรฐานการศึกษาให้ดีขึ้นนั้นต้องมีปัจจัย 2 ส่วน คือ หลักสูตร-สื่อและการพัฒนาศักยภาพของครู ซึ่งขณะนี้ขาดแคลนทั้งเรื่องปริมาณและคุณภาพ ทั้งหมดนี้ควรจะได้รับการพัฒนาคู่กันไป
ในส่วนของการพัฒนาครู สสวท. ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และหน่วยงานอื่นที่มีโรงเรียนในสังกัดจัดการอบรมครู โดยการสร้างครูผู้นำการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี จากโรงเรียน 14 แห่งต่อ 1 เขตพื้นที่การศึกษา แล้วจัดอบรมให้ครูผู้นำเหล่านี้ 3 ปีต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ภาคฤดูร้อนปี 2550 นี้เป็นต้นไป โดยเน้นการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนที่เน้นวิธีคิด และการแก้ปัญหา ซึ่งครูเหล่านี้จะสามารถเป็นผู้นำการอบรมและขยายผลความรู้ให้แก่ครูในท้องถิ่นได้ สพฐ. ก็ได้สนับสนุนสื่อและงบประมาณให้กับเขตพื้นที่และโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมกันนั้น สพฐ. ยังได้
พัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยควบคู่กัน เพราะถ้านักเรียนอ่านออกเขียนได้มากขึ้น ก็จะช่วย เสริมการเรียนการสอนวิชาอื่น ๆ ได้มากขึ้น
ส่วนครูที่เหลืออีกจำนวนมาก จะได้รับการอบรมทางไกลทางสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา (ETV) อย่างเป็นระบบ โดยมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการเป็นศูนย์อบรมปลายทางทุกเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งมีการประเมินผลครูที่เข้ารับการอบรมด้วย จึงมั่นใจได้ว่าครูที่ผ่านการอบรมแต่ละศูนย์จะได้รับความรู้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด
“ผมเชื่อว่าภายใน 3 ปีหลังจากนี้ ครูทั้งประเทศน่าจะมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ด้วย ความร่วมมือจาก สพฐ. เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และหน่วยงานอื่น ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระดับชาติ จึงน่าจะส่งผลให้เกิดการยกระดับมาตรฐานการการศึกษาของไทยได้มากขึ้นอย่างแน่นอน ”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ