กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--วช.
ปัจจุบันงานวิจัยด้านระบบพฤติกรรมไทย ได้รับการส่งเสริมให้นำไปเผยแพร่ในระดับนานาชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยไทยได้มีโอกาสแสดงผลงานในการประชุมระดับนานาชาติเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และพัฒนาผลงานวิจัยให้มีมาตราฐานสูงและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของงานวิจัยด้านระบบพฤติกรรมไทย จึงได้สนับสนุนให้ ศ.ดร. ดวงเดือน พันธุมนาวิน ผู้อำนวยการโครงการวิจัยแม่บท : การวิจัยและพัฒนาระบบพฤติกรรมไทย เป็นหัวหน้าคณะนำนักวิจัยในโครงการฯ และผลงานวิจัยเกี่ยวกับระบบพฤติกรรมไทย ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ 5 ด้าน คือ พฤติกรรมจริยธรรม พฤติกรรมครอบครัว พฤติกรรมครอบครัวและสุขภาพภาพเด็ก พฤติกรรมการเรียนและพฤติกรรมการทำงานของบุคลากรภาครัฐและเอกชน จำนวน 5 เรื่อง นำเสนอในการประชุมนานาชาติในงาน Asian Association of Social Phychology (AASP) 6th Biennial Conference ที่มหาวิทยาลัยวิคตอเรีย เมืองเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ ระหว่างวันที่ 2 - 5 เมษายน 2548 โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช) เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย
จากการนำเสนอผลงานวิจัยดังกล่าวในที่ประชุม ผลงานวิจัยของไทยได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากนักจิตวิทยานานาชาติด้วยเห็นว่าเป็นงานวิจัยที่มีมาตราฐานสูงและได้รับการเสนอให้นำไปลงตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ ทำให้ประเทศไทยได้รับการทาบทามให้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม AASP ในโอกาสต่อไป
นอกจากนี้ ศ.ดร. ดวงเดือนฯ ยังได้รับเชิญให้เป็นกรรมการบริหารคนใหม่ของสมาคม ASSP ของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
การเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายการวิจัยด้านจิตวิทยาสังคมในระดับนานาชาติและข้ามวัฒนธรรม ซึ่งจะทำให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างนักวิจัยไทย และนักวิจัยในระดับนานาชาติในอนาคต--จบ--