เครือข่าย ปชต.ไม่ละเมิด โวยครบ 1 ปีเสื้อแดงชุมนุม ธุรกิจเจ๊งต่อเนื่องกว่า 2 หมื่นล้าน ผู้ค้า พนักงานเดือดร้อน ลั่นเดินหน้าฟ้องเรียกค่าเสียหายแกนนำ พ่วง จนท.รัฐ

ข่าวทั่วไป Monday May 30, 2011 13:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--เครือข่าย ปชต. กลุ่มเครือข่ายประชาธิปไตยไม่ละเมิด เผยตัวเลขความเสียหายที่ผู้ประกอบการย่านราชประสงค์สูญเสียรายได้ในรอบหนึ่งปีที่กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ ตั้งแต่เมษายนถึงพฤษภาคม 2553 มีมูลค่าสูงถึง 11,275 ล้านบาท ความเสียหายไฟไหม้รวมเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท และยังมีการชุมนุมที่สร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่องมาทุกเดือนจนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อพนักงาน 30,661 ราย เฉพาะวันชุมนุมครบรอบ 1 ปีเผาเมืองเมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมาเพียงวันเดียวทำให้ธุรกิจโรงแรมสูญรายได้ไปแล้วกว่า 11 ล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมความเสียหายกับศูนย์การค้าในย่านดังกล่าว นายชาย ศรีวิกรม์ ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายประชาธิปไตยไม่ละเมิด เปิดเผยว่า การชุมนุมปิดถนนปิดสี่แยกราชประสงค์ในแต่ละครั้งของกลุ่ม นปช.หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน พ่อค้า แม่ค้าและผู้สัญจรไปมาเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบรุนแรงระยะยาวต่อธุรกิจ ห้างร้าน บริษัท ห้างสรรพสินค้า โรงแรม สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ และภาพลักษณ์ของประเทศ เรียกว่ากระทบต่อการทำมาหากินของผู้ที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในย่านนี้ทุกคน ส่งผลให้ประเทศไทยต้องสูญเสียโอกาสในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งในตลาดโลก เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติไม่เชื่อมั่นในสถานการณ์ “ผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมในย่านราชประสงค์เฉพาะในวันที่ 19 พ.ค.54 มีโรงแรม 6 แห่งแจ้งตัวเลขความสูญเสียเข้ามา คือ รร.อินเตอร์คอนติเนนตัล รร.โฟร์ซีซั่น รร.อโนมา รร.เรเนซองส์ รร. แกรนด์ไฮแอท เอราวัณและ รร.เซ็นทารา สรุปตัวเลขเบื้องต้น มีการแจ้งยกเลิกงานเลี้ยง สัมมนา จำนวนแขกทั้งสิ้น 2,720 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 4.71 ล้านบาท มีลูกค้าโทรแจ้งยกเลิกห้องพัก 1,500 ราย คิดเป็นมูลค่า 7.05 ล้านบาท รวมมูลค่าความเสียหายเฉพาะวันเดียวกว่า 11 ล้านบาท” นายชาย ชี้แจงรายละเอียด ในส่วนของธุรกิจศูนย์การค้า ตัวเลขความสูญเสียเฉพาะวันที่ 19 พ.ค.54 ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวิร์ลต้องปิดในเวลา 15.00 น. ส่งผลให้สูญรายได้จากการจัดงานอีเวนท์ 2 ล้านบาท ลูกค้าและรายได้ประจำวันลดลงร้อยละ 50 — 60 ศูนย์การค้าอัมรินทร์ เปิดปกติ แต่จำนวนลูกค้าลดลงครึ่งหนึ่ง ส่งผลให้รายได้ลดลงร้อยละ 50 ส่วนศูนย์การค้าเอราวัณ กรุงเทพ ร้านค้าทยอยปิดตั้งแต่เที่ยงวันยัน 6 โมงเย็น จึงปิดทั้งศูนย์ ทำรายได้หดร้อยละ 80 ขณะที่เกษรพลาซ่า ปิด 16.00 น.รายได้หายร้อยละ 50 และบิ๊กซีมียอดขายหายไป 3 ล้านบาทเพราะปิดตั้งแต่บ่าย 3 โมง นายชาย กล่าวอีกว่า ตนไม่อยากให้คนทั่วไปมองแค่ว่าเสื้อแดงมาชุมนุม ปิดถนน คนเดือดร้อนก็แค่ผู้ใช้รถใช้ถนน หรือร้านค้าที่ตั้งอยู่ในบริเวณนี้ ความจริงมันกระทบรุนแรงมาก นักท่องเที่ยวรู้ข่าวว่าจะมีการชุมนุมในบริเวณนี้ เขาก็ยกเลิกการจองห้อง ทำให้ธุรกิจเสียหาย ไหนจะลูกน้อง พนักงานรายวันที่จะต้องขาดรายได้จากการหยุดงานในวันที่มีการชุมนุม และยังมีอีกหลายชีวิตที่ได้รับผลกระทบ ทั้งเรื่องจราจรติดขัด ลูกค้าห่วงความปลอดภัย ใครจะกล้ามาเดิน ออฟฟิศสำนักงานจำนวนมากรอบย่านนี้ต้องปิดทำการเพื่อให้พนักงานกลับบ้าน ไหนจะต้องมาเจอแกนนำผู้ชุมนุมปราศรัยด้วยถ้อยคำหยาบคาย ยั่วยุให้เกิดความแตกแยก มีการดื่มสุราในบริเวณที่ชุมนุม ซึ่งไม่ใช่ภาพของการชุมนุมโดยสงบและสันติอย่างที่อ้างเลย นอกจากนี้ยังมีการถืออภิสิทธิ์กีดขวางการจราจร ขายของกันเต็มบริเวณ ไร้ระเบียบวินัยอย่างที่สุด “ที่ผ่านมาเราให้เกียรติทุกฝ่าย เราพูดคุยด้วยเหตุด้วยผล หลายครั้งมาก แต่ครั้งนี้คงถึงที่สุดแล้วและเราจะใช้สิทธิในการปกป้องตนเองในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับทั้งแกนนำกลุ่ม นปช.ที่ปลุกระดมประชาชนกลุ่มหนึ่งมาสร้างความเดือดร้อนให้คนไทยทั้งชาติ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ โทษฐานที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยปล่อยให้มีการชุมนุมสร้างความวุ่นวายซ้ำแล้วซ้ำเล่า รวมทั้งอยากฝากไปถึงพรรคการเมืองที่จะมีโอกาสเข้ามาบริหารประเทศถัดไป ถึงจุดยืนเรื่องนโยบายการปรองดองหลังการเลือกตั้ง ว่าสำหรับเรื่องการชุมนุมที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมนั้น ท่านมีจุดยืนในเรื่องนี้อย่างไร” นายชาย กล่าวย้ำ ข้อมูลสำหรับบรรณาธิการ กลุ่มเครือข่ายประชาธิปไตยไม่ละเมิด เป็นการรวมกลุ่มของผู้ที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการชุมนุมที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยและละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น อาทิ กลุ่มผู้ประกอบการและผู้อาศัยในย่านราชประสงค์ ประตูน้ำ สีลม สยามสแควร์ เซ็นเตอร์วัน ฯลฯ โดยไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองใดๆ เครือข่ายฯ มีพันธกิจหลัก คือ 1.สนับสนุนการชุมนุมและการประท้วงในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล 2.ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนจากการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ 3.ร่วมผลักดันให้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย และ 4.รณรงค์ให้การประท้วงและชุมนุมของกลุ่มต่างๆ มีการบริหารจัดการการชุมนุมที่ดี เช่น ใช้พื้นที่ปิดในการชุมนุมแทนพื้นที่สาธารณะ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของขนาดพื้นที่กับจำนวนผู้ที่คาดว่าจะมาชุมนุม ไม่ปิดการจราจร ไม่กีดขวางการจราจร ไม่ใช้เครื่องขยายเสียง และมีมาตรการรักษาความปลอดภัยของผู้ที่จะเข้ามาร่วมชุมนุมและประชาชนโดยรอบพื้นที่ ตลอดจนอาคารและทรัพย์สินส่วนบุคคลและสาธารณะโดยรอบ ในปัจจุบันมีประชาชนร่วมลงนามสนับสนุนเครือข่ายฯกว่า 4,000 คน รวมทั้งผู้สนับสนุนเครือข่ายประชาธิปไตยไม่ละเมิดใน Facebook Fan Page ( http://www.facebook.com/MaiLaMert ) อีกกว่า 1,200 คน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม คุณปาณิสรา โทร. 0-2610-2370 / คุณมณสิณีย์ โทร. 0-2610-2392

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ