กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--สวทช.
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการ “พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านพลังงานและทรัพยากรสำหรับอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง” มีโรงงานเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งสิ้น 28 แห่ง โดยมี 16 โรงงานนำร่องเข้าร่วมกิจกรรมปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและทรัพยากร ซึ่งสามารถลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิตลงได้ร้อยละ 14.5, ลดการใช้พลังงานความร้อนในกระบวนอบแห้งได้ร้อยละ 6.6, และ ลดการสูญเสียแป้งระหว่างกระบวนการผลิตได้อีกอย่างร้อยละ 17 ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงรวมปีละ 112 ล้านบาท (เฉลี่ย 7 ล้านบาท / โรงงาน)
โครงการ “พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านพลังงานและทรัพยากรสำหรับอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการไทย-เยอรมัน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจ ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ)
ดร. ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดในโลก และยังเป็นผู้ส่งออกรายสำคัญ ด้วยสภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดโลก ทำให้เราต้องพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ คือได้ผลผลิตสูงสุดและสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ การปรับเปลี่ยนเครื่องมือเครื่องจักรให้ทันสมัยเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ ต้องพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้วย ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา มีบุคลากรจากอุตสาหกรรมการผลิตแป้งมันสำปะหลังดิบ ทั้งในระดับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สายการผลิตผ่านการอบรมทั้งสิ้นจำนวน 343 คน นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้ทำการฝึกอบรมให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องอีก 2 กลุ่ม ซึ่งเป็นกลไกสนับสนุนสำหรับการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม คือ ที่ปรึกษาด้านเทคนิคและวิศวการ และบัณฑิตวิศวกรรม จำนวนทั้งสิ้น 70 คน ให้มีความรู้และทักษะด้านการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตแป้งมันสำปะหลังโดยเฉพาะ”
มร. เดวิด โอเบอร์ฮูเบอร์ ผู้อำนวยการ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) กล่าวว่า “GIZ ได้ดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังไทยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2549 โดยการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านพลังงานและทรัพยากรสำหรับอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังนี้ เป็นการรวบรวมองค์ความรู้จากโครงการนำร่อง พร้อมทั้งเพิ่มเติมเทคนิคใหม่ๆ สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตโดยรวมของโรงงานแป้งมันสำปะหลัง นำมาถ่ายทอดให้แก่บุคลากรทั้งในอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังและที่เกี่ยวข้อง ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา โครงการฯ สามารถช่วยให้โรงงานแป้งมันสำปะหลังลดการใช้ทรัพยากรและพลังงานได้ร้อยละ 14.5 และ 6.6 ตามลำดับ อีกทั้งยังลดการสูญเสียแป้งผลิตภัฑณ์ระหว่างกระบวนการผลิตลงได้อีกร้อยละ 17 ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงรวมปีละประมาณ 112 ล้านบาท โครงการฯ นี้นอกจากจะช่วยลดการใช้ทรัพยากรและพลังงานในการผลิต และเพิ่มผลผลิตแป้งมันสำปะหลังที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน ดังจะเห็นได้จาก กิจกรรมการพัฒนาศักยภาพที่ปรึกษาด้านเทคนิคและวิศวการและบัณฑิตวิศวกรรม เพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรมการผลิตแป้งมันสำปะหลังไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป”
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ต้นปี 2554 โดยรัฐบาลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้รวม 3 หน่วยงานด้านการพัฒนา ได้แก่ สำนักงานบริการด้านการพัฒนาของเยอรมัน (DED) สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน (GTZ) และสำนักงานพัฒนาศักยภาพระหว่างประเทศ (InWEnt) เข้าไว้ด้วยกัน ความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างไทยและเยอรมันดำเนินมาเป็นเวลา 55 ปีแล้ว โดย GIZ ปฏิบัติงานในนามของรัฐบาลเยอรมัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการร่วมมือกับประเทศไทยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
ศิริพร ตรีพรไพรัช ผู้จัดการฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ GTZ
โทรศัพท์ 02 661 9273 ต่อ 13 อีเมล์ siriporn.treepornpairat@giz.de