สถานการณ์ราคาน้ำมันประจำสัปดาห์ และแนวโน้มในสัปดาห์นี้ ที่ 30 พ.ค. — 3 มิ.ย. 54

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 30, 2011 14:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--ปตท. ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันว่า ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยสัปดาห์ที่ 23-27 พ.ค. 54 น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) อยู่ที่ระดับ 106.60 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.12 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) อยู่ที่ 113.53 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.76 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 99.89 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.43 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ในส่วนของน้ำมันเบนซินราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 120.13 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.75 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 124.29 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.28 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาได้แก่:- (ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงบวก) เกาหลีใต้กลั่นน้ำมันในเดือน เม.ย. 54 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 12.4% อยู่ที่ระดับ 2.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงบวก) Abu Dhabi National Oil Co. บริษัทน้ำมันแห่งชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของ OPEC ลดปริมาณส่งมอบน้ำมันดิบ Murban เดือน ก.ค. 54 ลง 10% จากสัญญาขายแบบเทอม (เดือน มิ.ย. 54 ลด 5%) (ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงบวก) European Air traffic รายงานสายการบินในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุโรปเหนือ จำนวนกว่า 1,000 เที่ยวบิน เริ่มกลับมาดำเนินการภายหลังทัศนะวิสัยจากเถ้าควันของภูเขาไฟ Grimsvotn คลี่คลาย (ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงบวก) การก่อการร้ายในปากีสถาน เพื่อแก้แค้นให้นาย Osama bin Laden เพิ่มระดับความรุนแรง ล่าสุดเหตุการณ์ไม่สงบในกลุ่ม MENA ยังยืดเยื้อ อาทิ ลิเบีย เยเมน และซีเรีย โดยเฉพาะในเยเมน การปะทะกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้านมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 คน และบาดเจ็บกว่า 120 คน (ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงลบ) สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (Energy Information Administration หรือ EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 พ.ค. 54 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.6 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 370.9 ล้านบาร์เรล และ Gasoline อยู่ที่ 209.7 ล้านบาร์เรล (+3.8 ล้านบาร์เรล) อย่างไรก็ตาม Distillate อยู่ที่ 141.1 ล้านบาร์เรล (-2 ล้านบาร์เรล) (ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงลบ) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาส 1/54 (ครั้งที่ 2) อยู่ที่ 1.8% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 2.2% (ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงลบ) เศรษฐกิจยุโรปยังเปราะบางโดย Standard and Poor's ประกาศปรับลดระดับความน่าเชื่อถือของอิตาลี จาก มีเสถียรภาพ ลงสู่ ทางลบ และ Fitch Ratings เตือนอาจลดระดับความน่าเชื่อถือของเบลเยียม (ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงลบ) The National Association of Realtors ของสหรัฐฯ รายงานยอดขายบ้านที่รอดำเนินการ (Pending Home Sales) ในเดือน เม.ย. 54 ลดลงจากเดือนก่อน 11.6% อยู่ที่ระดับ 81.9% ตกต่ำที่สุดในรอบ 7 เดือน (ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีผลในเชิงลบ) กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 พ.ค. 54 เพิ่มขึ้น 14,000 ราย (W-O-W) อยู่ที่ 424,000 ราย สูงกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 400,000 ราย สำหรับแนวโน้มสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันดิบ WTI และ Brent เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 95-105 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และ 110-119 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ตามลำดับ ราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวขึ้นลงรายวันตามข่าวที่ส่งผลต่อปัจจัยพื้นฐาน และปัจจัยทางความรู้สึก โดยโรงกลั่นน้ำมันในภูมิภาคเอเชียที่ปิดซ่อมบำรุงในไตรมาส 2/54 จะทยอยกลับมาดำเนินการผลิตในเดือน มิ.ย.54 ปริมาณประมาณ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ ความต้องการนำเข้าน้ำมันของเอเชียเหนือมีแนวโน้มสูงขึ้นจากค่าการกลั่นที่แข็งแกร่ง และสถานการณ์ความไม่สงบในกลุ่ม MENA ยังยืดเยื้อทำให้ตลาดกังวลว่าอุปทานน้ำมันอาจตึงตัว และผลการประชุมระดับผู้นำของกลุ่ม G-8 ที่ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 26-27 พ.ค. 2554 มีมติร่วมมือในการสร้างสมทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง อาทิ ให้ความช่วยเหลือทางการเงินผ่านทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แก่กลุ่มประเทศอาหรับที่กำลังอยู่ในจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมือง อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังวิตกกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศในสหภาพยุโรปอาจชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อาทิ ปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซ นอกจากนี้เหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่นส่งผลให้โรงงานผลิตรถยนต์ อาทิ ฮอนด้า และโตโยต้า มียอดการผลิตยานยนต์ทั่วโลกในเดือน เม.ย. 54 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 53% และ 16% ตามลำดับ ให้จับตามอง สถิติที่จะบ่งชี้แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจของผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลก อาทิ GDP ไตรมาส 1 ของจีนที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โทร. 0 2537-1630 โทรสาร 0 2537 2171

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ