สภาที่ปรึกษาฯ เปิดเวทีภาคใต้ สะท้อนความเห็นด้านนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติด

ข่าวทั่วไป Monday May 30, 2011 15:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--เนคเทค เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2554 คณะทำงานร่วม 4 คณะ ได้แก่ คณะทำงานด้านการยุติธรรม สิทธิมนุษยชนและธรรมาภิบาล คณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุขและคุ้มครองผู้บริโภค คณะทำงานเศรษฐกิจภาคบริการและการท่องเที่ยว และคณะทำงานการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมจัดงานสัมมนาระดมความคิดเห็นเรื่อง “นวัตกรรมทางนโยบายในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศไทย” เพื่อรับฟังความเห็นของประชาชนในเขตพื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัด เกี่ยวกับแนวทางในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่ถือว่าเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงอย่างรุนแรงต่อสังคมไทยในทุกด้าน ณ ห้องประชุมธนาภูมิ โรงแรมธรรมรินทร์ ธนา โดยนางภรณี ลีนุตพงษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาฯ กล่าวรายงาน จากนั้นนายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาฯ กล่าวเปิดการสัมมนา ทั้งนี้ นายชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ เลขาธิการสภาที่ปรึกษาฯ เป็นผู้ดำเนินรายงาน โดยมีผู้เข้าร่วมซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เครือข่ายภาคประชาชนที่สนใจ รวมทั้งสื่อมวลชน เข้าร่วมประมาณ 200 คน นายสมพร เทพสิทธา ประธานคณะทำงานการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม กล่าวในการสัมมนาว่า ปัญหายาเสพติดในประเทศไทยเป็นปัญหาเรื้อรังและร้ายแรงมานาน สาเหตุหนึ่งมาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วนละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ ควรนำเอามิติด้านวัฒนธรรมและศีลธรรมมาใช้ในการแก้ไขปัญหา ไม่ปล่อยให้ผู้ค้ายาเสพติดลอยนวล และนำรั้วด้านศาสนา รั้วด้านวัฒนธรรม และรั้วเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ด้านนายสุทธินันท์ จันทระ ประธานคณะทำงานด้านการยุติธรรม สิทธิมนุษยชนและธรรมาภิบาล กล่าวว่า ปัญหายาเสพติดนับวันจะมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ตัวเลขสถิติจากกรมพินิจฯ บ่งบอกว่ามีเด็กและเยาวชนเข้ามาเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ทั้งนี้ เพราะผู้ค้ายาใช้ช่องว่างทางสังคมและช่องว่างทางครอบครัว นำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่เครือข่ายยาเสพติด กระบวนการที่จะแก้ไขปัญหา คือ กระบวนการมีส่วนร่วมของคนไทยทุกคน ที่ต้องร่วมมือกระทำกันอย่างจริงจังและมีระบบ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเอาใจใส่และไม่ละเลยต่อปัญหาดังกล่าว ใช้จิตสำนึกร่วมกันทั้งภาครัฐและประชาชน “การบังคับใช้กฎหมายยังมีความหย่อนยานอยู่ บางครั้งการเผาทำลายยาเสพติดนั้นก็ไม่ใช่ยาเสพติดของจริง แต่เป็นการนำแป้งเข้ามาปะปน ซึ่งก็หมายความว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ จึงต้องจับตาดูการเคลื่อนไหวของภาครัฐอย่างจริงจัง” นายสุทธินันท์ฯ กล่าว ศาสตรเมธี ดร. สุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม ประธานคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุขและคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวถึงสาเหตุของการเกิดปัญหายาเสพติดว่า ทุกวันนี้ยาเสพติดในประเทศไทยหาได้ง่ายมาก อีกทั้งมีกระบวนการผลิตยาที่แตกต่างออกไปเพื่อเพิ่มฤทธิ์ของยาให้รุนแรงขึ้น ซึ่งสถิติผู้ติดยาเสพติดในประเทศไทย ปี 2553 โดยประมาณการมีสูงถึง 900,000 ราย ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จากปีก่อน สาเหตุของการติดยาเสพติดมักมีปัจจัยทางด้านครอบครัวที่ไม่อบอุ่น พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูก รวมถึงอิทธิพลจากเพื่อนฝูงและสื่อมวลชน เป็นต้น ดร. สุปรีดิ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้เป็นสิ่งสำคัญ คือการเริ่มสร้างปัจจัย 4 ให้มีความเข้มแข็ง และการสร้างพื้นฐานครอบครัวให้มีความอบอุ่นและมั่นคง ภายหลังการสัมมนาประธานสภาที่ปรึกษาฯ ได้สรุปประเด็นข้อเสนอแนะจากที่ประชุมสัมมนา ซึ่งรวมแล้วมากกว่า 20 ข้อ ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ ข้อเสนอเกี่ยวกับการวิจัยวัคซีนเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันหรือป้องกันไม่ให้ผู้เสพยากลับไปเสพยาซ้ำอีก การแก้ไขกฎหมายเพื่อสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้มีประสิทธิภาพ และแก้ไขประเด็นที่เป็นข้อจำกัดในการป้องกันและปราบปรามปัญหาที่เกิดขึ้น หรือการจัดให้มีแผนระยะยาวและผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน รวมทั้งต้องนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และที่สำคัญที่สุด คือ การสร้างครอบครัวและชุมชนให้เข้มแข็งเพื่อสร้างสมาชิกของครอบครัวและของชุมชนให้มีคุณภาพ มีความรักความอบอุ่น รวมพลัง ร่วมกันต้านยาเสพติด.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ